อนาคตสมองกลซิลิกอน
ทุกวันนี้ผลงานวิจัยได้ชี้ค่อนข้างชัดว่าคอมพิวเตอร์มิใช่ เครื่องจักรกลช่างคิด หรือ สมองกลขนาดใหญ่มหึมา ต่างกับความทำนายทั้งหลายในยุคต้นๆ ที่คอมพิวเตอร์ถือกำเนิดขึ้นมา ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยครับที่เราจะไปโปรแกรมให้คอมพิวเตอร์แสดงพฤติกรรมที่ชาญฉลาดออกมา เพราะข้อคิดโต้แย้งว่าใครกันแน่?ระหว่างโปรแกรมเมอร์กับคอมพิวเตอร์ที่ฉลาดก็ยังมีให้เห็นเกือบทุกเวทีสัมมนา
ชีวิตมนุษย์นั้นมีพื้นฐานจากอนุมูลไฮโดรคาร์บอนที่มีความหลากหลายแตกต่างกัน แต่ทั้งหมดนั้นสร้างออกมาในรูปของเซล อันประกอบไปด้วยเมมเบรน ล้อมรอบด้วยของเหลวออกานิคและมีนิวเคลียสอยู่ตรงกลาง นิวเคลียสนี่เองที่บรรจุ ข้อมูลและความชาญฉลาด ทำหน้าที่ควบคุมกิจกรรมต่างๆของเซล รวมทั้งการผลิตเซลตัวใหม่ (Cell Reproduction) ในขณะที่ ชีวิตซิลิกอน ของคอมพิวเตอร์ ถูกผลิตขึ้นมาในรูปแบบที่ต่างจาก ชีวิตคาร์บอน ของมนุษย์ ไม่มีส่วนใดที่บ่งชี้ความฉลาดเช่นเดียวกับในนิวเคลียสของเซลมนุษย์ คอมพิวเตอร์มีพื้นฐานจากทรานซิสเตอร์(Transister) ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาใน ปี พ.ศ. 2491 ทรานซิสเตอร์ทำเป็นอยู่อย่างเดียวคือ ปิด-เปิด กระแสไฟฟ้า ไม่เกี่ยวข้องกับเมตาโบลิซึ่ม (Metabolism)ใดๆไม่ผลิตสารเคมีและไม่สามารถสร้างลูกทรานซิสเตอร์ขึ้นมาด้วยตัวของมันเอง ในแง่ของความฉลาด แน่นอนครับว่าเซลมนุษย์จากอนุมูลคาร์บอนเด่นกว่ามาก แต่ความเร็วไม่สามารถเทียบเคียงซิลิกอนได้เลย นักวิจัยทั่วโลกจึงเกิดความคิดนำข้อเด่นทั้งสอง ฉลาดคิดได้เร็ว มาผสมผสานกันโดยพยายามเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เลียนแบบความคิดของมนุษย์ ตรงจุดนี้นี่เองที่ผมมักเตือนสติน้องๆที่กำลังมุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ว่า ฉลาดและเร็วเท่านั้นไม่พอ ควรมีคุณธรรมด้วย ถึงแม้ระบบคอมพิวเตอร์ต้องใช้เวลาส่วนหนึ่งคำนวนเงื่อนไขต่างๆเพื่อให้ สอบผ่านด้าน คุณธรรม ผมก็ยังเชื่อว่าคุ้มครับ เพราะ ถึงธรรมมะจะงุ่มง่าม ก็ดีกว่าอธรรมที่ปราดเปรียว ในทางทฤษฎี เราสามารถพัฒนาสมรรถนะการคิดของคอมพิวเตอร์ให้ใกล้เคียงกับมนุษย์ได้ สมองมนุษย์นั้นมีเซลนิวรอนประมาณ 10 ยกกำลัง 10 นิวรอนเหล่านี้สามารถสถานะ ปิด-เปิด: หนึ่งบิท ได้ด้วยความถี่ 1,000 ครั้งต่อวินาทีหรือเฮริตส์ ดังนั้นถ้าทุกนิรอนทำงานพร้อมด้วยความถี่สูงสุดนี้ กำลังการคำนวณรวมคือ 10 ยกกำลัง 13 สถานะต่อวินาที เมื่อเปรียบเทียบกับซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ขนาดย่อมๆมี ทรานซิสเตอร์อยู่ประมาณ 10 ยกกำลัง 9 ตัว เปลี่ยนสถานะปิด-เปิดได้เร็วกว่านิวรอน 10 ยกกำลัง 6 เท่า ซึ่งก็คือ 10 ยกกำลัง 9 เฮริตส์นั่นเอง นั่นคือความเร็วรวมทั้งระบบสูงถึง 10 ยกกำลัง 18 เฮริตส์ ซึ่งสูงกว่าสมองมนุษย์ ถึง 10 ยกกำลัง 5 หรือ แสนเท่า ภาษาทางเทคนิคเราเรียกว่า Five Orders of Magnitude ถือว่าแตกต่างกันมาก อย่างไรก็ตาม คอมพิวเตอร์ที่ผมกล่าวถึงนี้ไม่สามารถแสดงพลังสมรรถนะทังมวลนี้ออกมาได้ เพราะการทำงานของคอมพิวเตอร์ถูกออกแบบมาทำงานในลักษณะอนุกรม:มิได้ทำงานหลายๆชิ้นพร้อมกัน มีเพียง 1% ของ ทรานซิสเตอร์เท่านั้นทำงานในขณะใดขณะหนึ่ง ระยะหลังๆจึงมีการศึกษาด้านการคำนวณเชิงขนาน (Parallel Computing) เพื่อแก้ไขจุดอ่อนนี้ แต่สมรรถนะยังไม่ใกล้สมองมนุษย์เลยที่สามารถทำงานหลายๆอย่างพร้อมกัน ควบคุมการทำงานส่วนต่างๆของร่างกายให้เป็นไปอย่างถูกต้อง แต่เรื่องคิดนั้นผมยังเชื่อว่าสมองคนเราคิดที่ละเรื่องครับ |
|||
สมัยผมเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต มีรุ่นพี่คนไทยเก่งมากจบปริญญาเอกแล้วถูกเชิญไปทำงาน ที่ Bell Lab สหรัฐอเมริกา ที่ๆหลายคนแห่ไปสมัครทำงานแต่เขาไม่รับ แต่สำหรับพี่คนนี้ทาง Bell Lab ส่งเครื่องบินส่วนตัวจากอเมริกามารับถึงที่เกียวโต พี่เขาเรียนทาง ผมขอฝากน้องๆ ที่เก่งกาจในสาขานี้ช่วยหาคำตอบให้ด้วยว่าจริงหรือไม่? ว่ามนุษย์คิดหลายๆอย่างพร้อมกันได้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ยังวิ่งไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง เร็วขึ้นและราคาถูกลงมาก สี่งที่ผมกล่าวไว้อาจจะล้าสมัยในไม่ช้านี้ จากประสบการณ์ในอดีตที่เราทำนายวิทยาการและการใช้งานคอมพิวเตอร์ไม่ค่อยแม่นเท่าใด นักเขียนและนักวิพากษ์วิจารณ์หลายคนเลยแหยงไม่อยากพูดถึงอนาคตเท่าใดนัก แต่นักวิชาการเช่นผมต้องกล้าพูดถึงอนาคตบนพื้นฐานความสำเร็จของงานวิจัยปัจจุบัน ในอนาคตอันใกล้นี้เราจะเห็นการปรากฎตัวของ ชีวิตซิลิกอน-ปัญญาประดิษฐ์ ในแวดวงเรื่องความเป็นส่วนตัวมากขึ้น การจัดเก็บข้อมูลเฉพาะบุคคล เทคโนโลยีสร้างและถอดรหัส การมีสิทธิ์เข้าถึงข้องมูลนั้นๆ การโยงใยข้อมูลไปถึงระบบจัดการบริหารสุขภาพตนเอง การศึกษารูปแบบใหม่ที่ช่วยให้นักศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น มีปฏิสัมพันธ์ (Interaction) นอกเหนือจากเพียง login เข้าไปที่ Website เรายังมีโอกาสได้เห็นการบริหารจัดการที่อยู่อาศัยให้สะดวกสบายและใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า การมีส่วนช่วยเหลือดูแลเด็กเล็กและคนชรา นอกจากนี้เราจะเห็นงานศิลปะแปลกตาที่สร้างโดยสมองกลปัญญาประดิษฐ์ การทำนายสภาพภูมิอากาศ และในประเทศเกษตรกรรมอย่างเรา คอมพิวเตอร์จะช่วยย่อยข้อมูลแล้วนำเสนอให้ผู้บริหารตัดสินใจว่าจะให้เกษตรกรควรเพาะปลูกอะไรดี มิใช่ทำกันอย่างปัจจุบันที่เห็นว่าอะไรราคาดีก็แบ่งกันปลูกจนราคาตกต่ำไป ไม่คุ้มกับการลงทุน |
|||
ผมคิดว่าไม่ค่อยมีประโยชน์อะไรมากนักที่จะฟันธงว่าคอมพิวเตอร์สามารถเลียนการคิดของมนุษย์ได้หรือไม่ได้ พีน้องตระกูลไรท์สร้างเครื่องบินลำแรกโดยพื้นฐานความเข้าใจด้านพลศาสตร์อากาศน้อยมาก ทฤษฎีไฟไนท์อิลลิเมนต์ยังไม่มี แต่สิ่งประดิษฐ์ของเขาทั้งสองได้เปลี่ยนโลกไปมากมายเกินกว่าที่เขาได้คาดเดาไว้ในครั้งแรก ปัญญาประดิษฐ์ก็เช่นเดียวกัน จะวิ่งไปในทิศทางที่ช่วยให้มนุษย์มีความเป็นอยู่ดีขึ้น จะคิดได้แบบมนุษย์ได้หรือไม่? ไม่สำคัญ บางที่ปัญญาประดิษฐ์อาจทำในสิ่งที่ปัญญามนุษย์ไม่เคยนึกถึงและทำได้เลย ในท้ายที่สุด สมองคนนี่แหละครับที่นำไปสู่ สมองกลอัจฉริยะ ที่กลับมาช่วยให้สมองคนทำงานได้ดียิ่งขึ้นอีก —————————————————————————————— ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา
|