
แข่งขันหุ่นยนต์
วันแรกที่ผมเรียนจบกลับมาเมืองไทยเมื่อสิบกว่าปีก่อน ก็ได้พบว่าเด็กไทยมีความสนใจเรื่องการแข่งขันหุ่นยนต์ค่อนข้างมาก ซึ่งผมเห็นว่าการแข่งขันหุ่นยนต์นั้นเป็นเรื่องดีเพราะแท้ที่จริง น้องๆที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ต้อง แข่งขัน กับตัวเองทั้งทางด้านวิชาการ จิตใจ และการทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมทีม แพ้-ชนะมีได้ในเกมการแข่งขัน แต่ในชีวิตจริงนั้นไม่มี หากต้องแพ้และรู้ว่าแพ้เพราะสาเหตุใดถือว่าเป็นชัยชนะอย่างใหญ่หลวง สถานะสองสถานะนี้ซ้อนกันอยู่เช่นเดียวกันกับเราพบเห็นว่าในน้ำขุ่นที่ไหลมามักจะมีเกลียวน้ำใสปะปนอยู่เสมอ
สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) เป็นหน่วยงานแรกที่ริเริ่มให้เด็กไทยได้รับการฝึกฝนเช่นนี้ ผมขอขอบพระคุณแทนน้องๆนักศึกษามหาวิทยาลัยทั้งหลาย ต่อมาได้ขยายวงการแข่งขันไปยังระดับอาชีวศีกษา และมีแรงสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์จากสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ อสมท จึงทำให้ การแข่งขันหุ่นยนต์ ABU ชิงชนะเลิศประเทศไทย รู้จักกันอย่างแพร่หลายในระดับประเทศ
ผลการแข่งขันนี้ทำให้เราได้ทีมตัวแทนประเทศไทย ไปเข้าร่วมแข่งขันหุ่นยนต์ ABU Asia-Pacific Robot Contest ซึ่งจัดขึ้นโดยสหภาพวิทยุและโทรทัศน์แห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Asia-Pacific Broadcasting Union – ABU) โดยสถานีโทรทัศน์ซึ่งเป็นสมาชิก ABU มีอยู่กว่า 100 ประเทศครอบคลุมพื้นที่ 2 ใน 3 ของโลก และคลอบคลุมประชากร 3,600 ล้านคน จะหมุนเวียนกันเป็น เจ้าภาพจัดการแข่งขันเป็นประจำทุกๆ ปี ด้วยเหตุนี้ทางสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) จึงได้โอนภาระให้สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ อสมทเป็นผู้จัดการการแข่งขันคัดเลือกระดับประเทศโดยที่ทางสมาคมยังคงให้การสนับสนุนทางวิชาการอย่างเต็มที่และดูแลการแข่งขันระดับมหาวิทยาลัย
การแข่งขันในระดับนานาชาติหลายปีที่ผ่านมาก่อนที่จะมาเป็น ABU Robocon นี้ ทีมเด็กไทยได้สร้างเกียรติประวัติให้แก่ ชาติไทย โดยการครองรางวัลชนะเลิศหลายปีติดต่อกัน จนผู้หลักผู้ใหญ่คนญี่ปุ่นที่ NHK โตเกียว เคยแสดงความฉงนสนเท่ห์ว่าเหตุใดเด็กญี่ปุ่นจึงเป็นรองเยาวชนไทย ทั้งๆที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้าและรู้เรื่อง เทคโนโลยีหุ่นยนต์ ดีกว่าคนไทยมาก ผมไม่รู้จะตอบเขาไปอย่างไร ก็เพียงได้แต่อมยิ้มและโค้งอย่างสุภาพตามสไตล์ญี่ปุ่น โยโรชิกุ มีความหมายว่าขอฝากเนื้อฝากตัว มีอะไรที่เป็นประโยชน์ขอได้โปรดแนะนำเราด้วย
การแข่งขัน ABU Robocon ครั้งแรกได้จัดขึ้นในปี
พ.ศ. 2545 ณ Komazawa Olympic Park Gymnasium กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้ชื่อเกม Reach for The Top of Mt.Fuji หรือ พิชิตยอดเขาฟูจิ ในปี 2546 ประเทศไทยได้รับเกียรติและความเชื่อถืออย่างสูงให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันครั้งที่สอง เนื่องจาก ABU เห็นว่าเด็กไทยเก่งและมีความสนใจเรื่องการแข่งขันหุ่นยนต์ ครั้งที่สองนี้จัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร เราคิดกติกาให้เกี่ยวกับกีฬาไทยและได้
ตั้งชื่อเกมว่า ตะกร้อพิชิตจักรวาล หรือ Takraw Space Conqueror
ในปี 2547 ประเทศเกาหลีได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันครั้งที่ 3 ขึ้น โดยใช้ชื่อเกมการแข่งขันอย่างเป็นทางการ Reunion of Separated Lovers, Gyeonwoo & Jiknyeo หรือ สะพาน ตำนานแห่งความรัก และเมื่อปีที่แล้ว สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันครั้งที่ 4 ขึ้น โดยสถานีโทรทัศน์ CCTV สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นผู้ดำเนินการจัดการ ภายใต้ชื่อการแข่งขันว่า Climb on the Great Wall Light the holy fire หรือ จุดไฟศักดิ์สิทธิ์ พิชิตกำแพงเมืองจีน
ในปีนี้ ทางมาเลเซียเป็นเจ้าภาพ มีชื่อเกมว่า ตึกแฝดเสียดฟ้า ท้าพิชิต แปลมาจากชื่อ Building the Worlds Tallest Twin Tower ที่มาของกติกาและชื่อเกมมาจากความอลังการ ของ ตึกแฝดปิโตรนัส ซึ่งสูงถึง 452 เมตร จำนวน 88 ชั้น เป็นตึกแฝดที่สูงที่สุดในโลก ตั้งอยู่ใจกลางเมืองของกรุงกัวลาลัมเปอร์เป็นจุดที่ตั้งทางยุทธศาสตร์และจุดศูนย์รวมการบริหารของกรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยมีเหล็กกล้าและกระจกเป็นองค์ประกอบสำคัญ มีสะพานเชื่อมต่อกันบนท้องฟ้า ถือเป็นจุดชมวิวที่สูงที่สุดของกรุงกัวลาลัมเปอร์ ตึกแฝดปิโตรนัส (PETRONUS) สร้างเสร็จในปี ค.ศ.1995 ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเจริญของมาเลเซียในอนาคต ตึกแฝดนี้เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของบริษัทปิโตรนัสซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ของรัฐบาลมาเลเซียและที่ทำการสำนักงานต่างๆมากมาย อีกทั้งยังมีศูนย์การค้าสุไลเมก้าที่ประกอบด้วยร้านค้าและแหล่งบันเทิงร่วมสมัย เช่น ห้องแสดงดนตรี ศูนย์วัฒนธรรม ตลอดจนจุดชมทัศนียภาพของเมือง สวนหย่อมที่เขียวชอุ่มและอาคารเล็กๆ มีการผสมผสานระหว่าง ธรรมชาติและการออกแบบโครงสร้าง ที่มีโลหะเป็นองค์ประกอบหลักได้อย่างกลมกลืน การแข่งขันหุ่นยนต์ในปีนี้จำลองสถานการณ์ก่อสร้างตึกแฝดปิโตรนัส โดยทีมหุ่นยนต์จะต้องนำวัสดุก่อสร้างซึ่งทำจากโพลีสไตรีนมาต่อกันให้เป็นรูปตึกและสะพานลอยฟ้า ทีมที่สามารถสร้างตึกในฝั่งสีของตนเองและสะพานลอยฟ้าอีก 2 แท่งได้เป็นผลสำเร็จจะเป็นผู้ชนะทันที ซึ่งถือว่าเป็นการชนะที่เรียกว่า SIAP การแข่งขันในแต่ละเกมใช้เวลา 3 นาที
ผมขอชักชวนท่านผู้อ่านไปให้กำลังใจและชื่นชมความสามารถของเยาวชนไทย รอบคัดเลือกระดับมหาวิทยาลัย ในวันที่ 20-21 พฤษภาคม ศกนี้ ที่เดอะมอลล์บางกะปิ นอกจากจะได้แชมป์ระดับมหาวิทยาลัยแล้ว เรายังจะคัดเลือกอีก 16 ทีม เพื่อไปเจอกับ 16 ทีม จากระดับอาชีวศึกษา ในการแข่งขันหุ่นยนต์ ABU ชิงชนะเลิศประเทศไทย ประจำปี 2549 ABU Robot Contest Thailand Championship 2006 ในวันที่ 17-18 มิถุนายน 2549 ที่ อิมแพค อารีนา เมืองทองธานี วันนั้นเราจะได้ตัวแทนไปแข่งขันที่มาเลเซีย
ในระยะหลังนี้ น้องๆ จากอาชีวะออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ได้ดีมาก ชนะเพื่อนๆ จากมหาวิทยาลัยเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าสู่สนามนานาชาติ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าผู้จัดไม่ควรให้สองระดับมาแข่งขันปะปนกันเลย ผมได้แสดงความเห็นเรื่อง น้ำขุ่น-น้ำใส ไปในคณะกรรมการวิชาการ ผมเห็นว่าการแพ้ในเกมเหล่านี้เป็นต้นทุนชีวิตที่สำคัญของวิศวกรทั้งหลาย
ดีกว่าไปแพ้ตอนทำงานจริงในกระบวนการผลิตอุตสาหกรรม เพราะจะสูญเสียมากกว่ากันเยอะเลยครับ
———————————————————————————–
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน
ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม ฟีโบ้ (FIBO) เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ