เด็กไทยแชมป์หุ่นยนต์ระดับโลก - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • English
    • Thai

เด็กไทยแชมป์หุ่นยนต์ระดับโลก

logo robot brain

เด็กไทยแชมป์หุ่นยนต์ระดับโลก

ขอปรบมือดังๆ ให้แก่ ทีม Independent มีสมาชิกดังรายนามต่อไปนี้

นายพินิจ เขื่อนสุวงศ์
นายธงชัย พจน์เสถียร
นายสุชาติ จันลี
นายอดิศักดิ์ ดวงแก้ว
นายเนติ นามวงศ์

เป็มทีมนักศึกษาจาก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี ที่ไปคว้าแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัย จากการแข่งขัน “World RoboCuparticle47-1 Rescue” ที่ เมืองเบรเมน ประเทศเยอรมัน ขอขอบคุณ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ให้การสนับสนุนเด็กไทยมาอย่างต่อเนื่อง สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยที่ผนึกกำลังนักวิชาการหุ่นยนต์ไทยของมหาวิทยาลัยในเมืองไทยจัดการแข่งขันหุ่นยนต์หลายประเภทรวมทั้งหุ่นยนต์กู้ภัย ที่น้องๆเหล่านี้ไปประกาศศักดาให้ชาวโลกประจักษ์ถึงความสามารถของคนไทย

นอกจากการแข่งขัน Robocup Rescue แล้ว งาน Robocup 2006 ยังมีการแข่งขันหุ่นยนต์ทำงานบ้าน(Robocup@home) หุ่นยนต์ในระดับเยาวชน (Robocup Junior) หุ่นยนต์เตะฟุตบอล (Robocup Soccer) และหุ่นยนต์เตะฟุตบอลฮิวแมนนอยด์ (Humanoid League) ซึ่งสองประเภทหลังนี้ใช้เทคโนโลยีค่อนข้างซับซ้อน เป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด (Autonomous) โดยคนไปเกี่ยวข้องไม่ได้เลยในขณะแข่งขันจึงต้องมีส่วนของปัญญาประดิษฐ์ในสมองกลด้วย ปรากฏว่าปีนี้น้องๆนักศึกษาไทยสามารถเข้าไปถึงรอบสุดท้ายกระทบไหล่ทีมดังๆจาก อเมริกา เยอรมัน และญี่ปุ่นอย่างสมศักดิ์ศรี โดยทำให้ประเทศพัฒนาเหล่านั้น “ทึ่ง” ในสมรรถนะหุ่นยนต์ของทีมไทย แล้ววันหลังเมื่อโอกาสอำนวยจะเล่าให้ฟังว่า Robot Soccer และ Humanoid ไทยไปโชว์ลีลาอะไรมาบ้าง จนกรรมการผู้จัดการแข่งขัน: The Robocup Federation ต้องบรรจุประเทศไทยไว้ในแผนที่โลกของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ เป็นสะพานต่อสำหรับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยจะติดต่อขอจัด World Robocup ที่ประเทศไทยในอีกสองปีข้างหน้าครับ

       วันนี้ผมขอชื่นชมแชมป์ไทยหุ่นยนต์กู้ภัยโลกก่อนนะครับ

article47-2ทางตัวแทนบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ได้มาหาผมเมื่อสามปีก่อน เพื่อหารือการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์โดยที่ทางบริษัทจะให้การสนับสนุนทั้งหมด ผมในฐานะนายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย จึงได้อนุโมทนาในความปรารถนาดีต่อเยาวชนไทยและได้แนะนำว่าควรเลือกเกมการแข่งขันเพื่อให้สาธารณะชนเห็นประโยชน์ของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ในการช่วยเหลือมนุษย์ และเกมการแข่งขันควรต่อกับการแข่งขันนานาชาติเพื่อส่งเสริมเด็กไทยให้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับเยาวชนชาติอื่น Robocup Rescue จึงถูกเลือกขึ้นมา เราแข่งขันในประเทศก่อนเพื่อหาแชมป์ประเทศไทยและส่งแชมป์ไปงาน World Robocup

การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย เป็นการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์เพื่อใช้สำหรับกู้ภัย ในสถานอุบัติภัยจำลองที่เกิดขึ้น อาทิ อัคคีภัย อุทกภัย ภัยจากแผ่นดินไหว หรือภัยพิบัติอื่นๆ โดยที่หุ่นยนต์จะต้องสามารถค้นหาผู้รอดชีวิตหรือผู้เสียชีวิต ที่ตกค้างในซากปรักหักพังต่างๆโดยผ่านการควบคุมระยะไกล ด้วยกล้องขนาดเล็ก หรือเซนเซอร์จับสัญญานชีพ อาทิความร้อน เสียง และการเคลื่อนไหว ซึ่งเซนเซอร์เหล่านี้ต้องติดไว้ที่ตัวหุ่นยนต์

เมื่อผมกราบเรียนรายงานความสำเร็จของแชมป์หุ่นยนต์ไทยให้ผู้ใหญ่ระดับสูงท่านหนึ่ง ได้รับคำถามว่า เหตุใดทีมเราจึงชนะทีมจากประเทศเทคโนโลยีชั้นนำได้ ผมตอบทันทีว่า ก็เพราะเด็กไทยเก่ง หากมีการสนับสนุนให้เพียงพอไม่แน่นะครับหุ่นยนต์ต้นแบบเช่นอาซิโมก็อาจเกิดจากฝีมือของเด็กไทยที่ “สมองดีปฎิบัติเก่ง” เช่นสมาชิกของทีม Independent ที่ผมบอกว่าปฏิบัติเก่งก็เพราะสามารถออกแบบได้อย่างรัดกุม ใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม คู่แข่งซึ่งใช้ของแพงเช่นเทคโนโลยีสแกนเนอร์ ก็มิอาจสู้กล้องและเซนเซอร์พื้นๆธรรมดาที่น้องใช้อยู่ได้เลย ออกแบบดักทางแก้ปัญหาปลายทางในระยะต้นได้นั้นเกิดจากมีประสบการณ์การสร้างชิ้นงานด้วยมือตนเอง (Hands on) นอกจากนั้นขณะแข่งขันน้องที่ต้อง “บังคับหุ่นยนต์” ในห้องปิดห่างจากสนามออกไปเห็นสนามผ่านกล้องวีดิโอที่ติดตั้งอยู่บนหุ่นยนต์เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อจำลองสถานการณ์จริงของการกู้ภัย ที่ส่งหุ่นยนต์เท่านั้นเข้าสำรวจในซากตึก ผู้บังคับจึงต้องมีสัมมาสติ และสัมมาสมาธิ ไม่เห่อเหิมกับคะแนนที่ทำได้ หรือหวั่นไหวที่พลาดท่าเสียคะแนนไปโดยไม่คาดคิด

       การให้คะแนน ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่หุ่นยนต์หามาได้ เช่น ข้อมูลผู้ประสบภัย(10 คะแนน) เช่น สัญญาณชีพว่ายังมีชีวิตอยู่ รูปร่าง การเคลื่อนไหว ความร้อน article47-3เสียง
คาร์บอนไดออกไซด์ หุ่นยนต์ต้องสามารถตรวจสอบได้อย่างน้อยสามข้อมูลและประมวลผลว่าผู้ประสบภัยยังมีสติอยู่หรือไม่? ถ้าถูกได้ไปอีก 5 คะแนน ข้อมูลของสถานที่พบผู้ประสบเหตุ (5 คะแนน) เช่น อยู่บนพื้น บางส่วนของร่างกายถูกซากปรักหักพังทับอยู่ ร่างกายทั้งหมดถูกฝังอยู่ หากพบแถบข้อมูลพิเศษจะได้รับคะแนนอีก 10 คะแนน การสร้างแผนที่ของสถานที่พบผู้ประสบภัยเพื่อหน่วยเสริมจะบุกเข้าไปช่วยเหลือคนเจ็บ คุณภาพของแผนที่ 10 คะแนน ความครอบคลุมพื้นที่อีก 10 คะแนน
       ทีม Independent ของไทย ได้รับคะแนนสูงถึง 109 คะแนน ทิ้งขาดประเทศเจ้าของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ อันดับสองจากญี่ปุ่นและอิหร่านที่ได้ 80 คะแนน อเมริกาและเยอรมันได้ 66 คะแนน และ 39.5 คะแนนตามลำดับarticle47-4
ผมมั่นใจว่า สมองคนแบบน้องๆนี่แหละครับ ที่จะไปสร้างสมองกลอัจฉริยะ ขอกราบวิงวอนให้รัฐบาลและเอกชนไทย สนับสนุนกลุ่มเยาวชนเหล่านี้ให้ก้าวต่อไปเป็น “ผู้นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์โลก”

ผมได้อีเมลล์บอกเพื่อนๆผมที่เป็นนักวิจัยและอาจารย์อยู่ที่ มหาวิทยาลัยเกียวโต คาร์เนกี้เมลลอน และ เอ็มไอทีว่า เทคโนโลยีนั้นเรียนทันกันได้ และอีกไม่นานการคิดค้นเทคโนโลยีชั้นแนวหน้าเพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษยชาติจะบังเกิดขึ้น ณ ที่นี้…ประเทศไทย

วันนี้เป็นวันที่ผมดีใจที่สุดวันหนึ่งครับ
——————————————————————————————
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน

djitt2

ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

 
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี  การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

 

Categories: Post from Dr.Jiit