หุ่นยนต์ทายาทสายพันธุ์เด่น - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • English
    • Thai

หุ่นยนต์ทายาทสายพันธุ์เด่น

logo robot brain

หุ่นยนต์ทายาทสายพันธุ์เด่น

article50-1ผ่านมาเป็นเวลานับพันล้านปีที่ยีนของสิ่งมีชีวิตพัฒนาตัวเองให้สามารถเอาตัวรอดจากการแข่งขันและทำลายล้างกันเอง มีทั้งผู้แพ้และชนะ บ้างสูญพันธุ์ไป แนวโน้มอีกไม่เกิน 100 ปีต่อจากนี้ เราอาจได้เห็นปรากฏการณ์ใหม่ที่วิวัฒนาการดำรงสายพันธ์ของมนุษย์เริ่มจะล้าหลังเทียบเคียงไม่ได้กับ “สิ่งประดิษฐ์” ที่มนุษย์เองพัฒนาขึ้นมาเป็นทายาทของเรา
และนี่เป็นครั้งแรกของมนุษยชาติที่ต้องประจันหน้ากับสถานการณ์สูญพันธุ์เพราะกลายเป็น “สายพันธุ์ด้อย” แม้ว่าในอดีตที่ผ่านมามนุษย์จะเป็นผู้ชนะมาโดยตลอดก็ตาม
ทายาทสมองกลที่เป็น “สายพันธุ์เด่น” เหล่านี้จะสืบทอดความสามารถทางกายและปัญญาของมนุษย์ต่อไปหลังจากร่างกายมนุษย์เกิดการเสียสมดุล “จิตชีวะ” ทางธรรมชาติของการดำรงอยู่และต้องแยกทางกันไประหว่าง “จิต” และ “รูปกาย”
ผู้ที่สนใจเรื่องการกลับชาติมาเกิด คงมีโอกาสรวบรวมหลักฐานเพิ่มเติมในกรณีที่จิตเดิมได้เวียนกลับมาเกิดใหม่และได้พบกับทายาทที่มีฐานปัญญามาจากจิตดวงเดียวกัน สาระการสื่อสารโต้ตอบระหว่าง “จิตเดิม” และ “จิตเทียม” จึงเป็นเรื่องที่ชวนติดตามและน่าศึกษาอย่างยิ่ง

ปัญญาประดิษฐ์ในสมองกลอัจฉริยะเพิ่งเตาะแตะเริ่มต้นมาเพียงแค่ 30 ปี จึงยังไม่มีผู้รู้จริงสักคนเดียวเลยว่า “จินตนาการ” ข้างต้นจะเป็นจริงหรือไม่? แล้วจะลงเอยอย่างไร? หรือยังคงมีเรื่องที่เกินจินตนาการกว่าที่สมองมนุษย์ในปัจจุบันจะคิดไปถึงได้
ประเด็นชวนขบคิดเหล่านี้ยังคงเป็นสิ่งที่นักวิชาการและนักวิจัยหุ่นยนต์ทั่วโลกกำลังใช้ความพยายามอย่างหนักในการหาคำตอบ ผมเห็นว่าจินตนาการที่ใกล้ความเป็นจริงต้องเริ่มจากรากฐานข้อมูลที่มาจากวิทยาการความรู้และการใช้งานจริงในปัจจุบัน (State of The Art and Practice)

มีการถกเถียงกันมามากพอสมควรมาตั้งแต่อดีตในหมู่นักวิชาการ บางท่านเชื่อว่า จิตของเด็กแรกเกิดมิได้แตกต่างจากจิตของผู้ใหญ่เพียงแต่ยังไม่มีข้อมูลความคิด หรือ “สัญญา-สมมุติบัญญัติ” บรรจุไว้ ในทางพุทธธรรม จิตเด็กมีความเป็นประภัสสร-บริสุทธิ์ เมื่อโตขึ้นอุปกิเลสต่างๆจึงมาครอบงำ
อย่างไรก็ตามปัจจุบันนักวิจัยมีความเชื่ออยู่หลายทฤษฏี บ้างท่านว่าจิตนั้นเริ่มต้นเรียนรู้อย่างง่ายๆแยกแยะได้แต่เพียงว่าอะไรคือตัวตน อะไรคือโลกภายนอก บ้างว่าจิตเริ่มต้นแตกกระจายกันอยู่เป็นส่วนไม่ต่อถึงกัน สับสน จนกระทั่งแต่ละส่วนนั้นมีการเรียนรู้ แล้วมาบูรณาการกันประสานงานซึ่งกันและกันจนกระทั่งมีพลังขบคิดเรื่องที่ซับซ้อนได้ บางทฤษฎีกลับบอกว่าการเจริญเติบโตของจิตเหมือนกับการก่อสร้างอาคารสูง ที่มีขั้นมีตอน จะมีชั้นบนที่สูงขึ้นไปได้ต้องสร้างสร้างชั้นล่างให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อน การเจริญของจิตจึงเปรียบเสมือนอาคารที่ถูกสร้างขึ้นที่ละชั้นต่อๆกันไปครับ

จิตมนุษย์ไม่เพียงคิดหาหนทางไหม่ที่ดีกว่าเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายเดิมเท่านั้น แต่ยังดิ้นรนชมชอบหาเป้าหมายชนิดใหม่อยู่เสมอ ลักษณะนี้นี่เองทำให้มนุษย์สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมต่างๆที่กว้างขวางขึ้นได้ เพิ่มความซับซ้อนในงานที่คิดและในสิ่งที่ทำ หากเราเรียนรู้สิ่งใหม่โดยไม่มีข้อจำกัด อุบัติเหตุและความผิดพลาดอาจจะเกิดขึ้น ที่อันตรายคือการ “ติดกับดัก” ของความคิดตนเอง เช่น การเรียนรู้ไปกดระงับเป้าหมายอื่นที่มีความสำคัญ เช่นการเรียนรู้ให้หยุดการหายใจ ถือเป็นกำดักที่ทำลายตัวเป้าหมายมันเอง
article50-2        แม้มนุษย์จะมีวิวัฒนาการมานาน แต่ยีนส์ของเราไม่สามารถหาคำตอบ “เฉพาะ” ที่ดีที่สุด เพื่อให้เราอยู่รอดได้เสมอไป เพราะวิกฤตการณ์รุนแรงที่มนุษย์ในแต่ละรุ่นเผชิญกลับเป็นสิ่งที่มนุษย์รุ่นนั้นๆก่อขึ้นมาเอง เราจึงต้องเรียนรู้เป้าหมาย/เป้าประสงค์ ใหม่จากองค์ความรู้และประสบการณ์ของคนรุ่นก่อนอยู่ตลอดเวลา นั่นคือยีนเป็นเพียงกลไกมีจุดประสงค์อย่างกว้างๆในอันที่จะถ่ายทอดเป้าหมายและค่านิยมจากรุ่นหนึ่งไปยังรุ่นต่อไป ผมขอเสนอว่าการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์สมองกลอัจฉริยะต้องมีแนวทางที่กำหนดข้อจำกัดกั้นมิให้สมองกลแต่ละรุ่นสร้างวิกฤตการณ์ได้เช่นเดียวกันกับสมองของมนุษย์

ด้วยลักษณะนี้ตามข้อเสนอนี้ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ซึ่งแต่เดิมมีบทบาทเสริมสร้างความสามารถในอุตสาหกรรมการผลิต จะเริ่มปรากฏมีบทบาทอยู่ร่วมกันกับมนุษย์โดย “ช่วยดูแล” ผู้เจ็บป่วย และคนชราที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ การเป็นเพื่อนแก้เหงาที่มีข้อมูลพูดคุยได้หลายเรื่อง

ที่สหรัฐอเมริกา ประสบกับภาวะขาดแคลนพยาบาลอย่างหนัก ถึง 300,000 คนต่อปี จำเป็นต้องนำเข้าจากกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ และจากทวีปเอเชีย ค่าแรงถูกกว่านั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือพยาบาลจากประเทศเหล่านี้ค่อนข้างมืออาชีพ ดูแลคนไข้อย่างดียิ่งด้วยจิตวิญญาณและวิชาชีพ ในขณะที่พยาบาลชาวอเมริกันจะปฏิเสธการทำความสะอาดร่างกายผู้ป่วย เมื่อนำเข้ามาได้น้อยเพียงปีละประมาณ 5-60,000 คน จึงเริ่มมีโครงการผลิต “หุ่นยนต์พยาบาล” (RoboNurse) ขึ้น นอกจากแก้ปัญหาขาดแคลนกำลังคนแล้ว ยังหวังลดปัญหาการติดต่อของเชื้อโรคร้ายต่างๆด้วยครับ
article50-3        ถ้าตัดปัญหาเรื่องกลไกที่ยุ่งยากแล้ว ระบบเซนเซอร์ที่ใช้นั้นค่อนข้างเป็นเรื่องทั่วๆไป ใช้ในการตรวจจับวัดระดับ ออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์ ความดัน สัณญาณภาพดูลักษณะการนอนของผู้ป่วยอัมพาตมิให้นอนผิดท่าทับระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น ระบบเดียวกันนี้ ที่ญี่ปุ่นใช้ดูแลคนชราที่บ้านพัก และหากเพิ่มเซนเซอร์วัดควันไฟและความร้อน ก็ให้เฝ้าบ้านระวังเหตุไฟไหม้ได้ มีระบบโทรหา สถานีตำรวจ ดับเพลิง และโรงพยาบาลอย่างอัตโนมัติ

รัฐบาลเกาหลีใต้ไม่ยอมน้อยหน้าลงสนามกับเขาด้วย ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ในปี ค.ศ. 2020 ทุกครัวเรือนต้องมีหุ่นยนต์ไว้ใช้งานอย่างน้อยหนึ่งตัว

ประเทศไทย ประเทศที่มีเยาวชนเก่งกล้าสามารถเป็นแชมป์หุ่นยนต์ระดับโลก ยังรอสัญญาณจากภาครัฐและเอกชน ว่าจะเอายังไงดี ผมเห็นว่าอย่ารอ “ซื้อ” อย่างที่เคยเป็นหรือชอบทำตามๆกันมาเลยครับ

สนันสนุนน้องๆ ที่เป็นแชมป์โลก ผลิต “หุ่นยนต์” ขายสู่ตลาดโลกเลยดีมั๊ยครับ
 

———————————————————————————–
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน

djitt2

ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

 
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี  การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

Categories: Post from Dr.Jiit