จิตหุ่นยนต์ - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • English
    • Thai

จิตหุ่นยนต์

logo robot brain

จิตหุ่นยนต์

51
51-1
หลังจากที่ผมได้กล่าวถึง “จิตเทียม” ในบทความก่อนหน้านี้ ได้มีน้องๆ นักศึกษาหลายคนที่กำลังศึกษาทางด้าน “ปัญญาประดิษฐ์” อยู่ต่างประเทศส่งอีเมลมาแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ในวันนี้นักวิจัยใช้ความพยายามอย่างมากในการทำความเข้าใจการทำงานของจิตมาเป็นระยะเวลานานแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แม้แต่เรื่องของ “สมอง” ที่ช่วยให้มนุษย์คิดเรื่องราวต่างๆที่ซับซ้อนได้ เราเองก็มีความรู้เกี่ยวกับสมองอยู่น้อยมากเช่นกันครับ

ศาสตราจารย์ มาร์วิน มินสกี้ ปรมาจารย์ทางด้านปัญญาประดิษฐ์ กล่าวว่า จิตนั้นประกอบขึ้นด้วยกระบวนการเล็กๆ หลายกระบวนการ เรียกว่าเป็นหน่วยย่อย (Agents) ทำงานประเภทง่ายๆที่ไม่ต้องการความคิดที่ซับซ้อนอะไรมากนัก แต่เมื่อนำหน่วยย่อยเหล่านี้มาต่อเชื่อมกันในรูปแบบเฉพาะเจาะจงปรากฏว่าสามารถทำงานยากๆ อย่างชาญฉลาดได้

นักวิชาการด้านหุ่นยนต์และวิทยาการคอมพิวเตอร์เห็นความเหมือนในเรื่องนี้กับบทบาทของบิตและไบต์ แต่ละบิตมีความหมายในตัวมันเองน้อยมาก ทำงานอะไรไม่ได้มากนัก แต่เมื่อบิตรวมมากขึ้นจะสามารถสร้างสมองกลที่ทำงานซับช้อนให้ได้ใกล้เคียงหรือดีกว่าที่มนุษย์ทำได้ “จิตหุ่นยนต์” (Robotics Mind) ลักษณะนี้เกิดจากส่วนย่อยที่ไม่มีความสามารถในการคำนวณ (Computing ability) ไม่มีความชาญฉลาดเลย สถานะปัจจุบันนั้นจิตหุ่นยนต์ทำหน้าที่เพียงแค่เป็นสมองกลคำนวณ แต่ผมเชื่อว่าไม่นานจะพัฒนาไปสู่ความรู้สึกนึกคิดได้ การพัฒนาจิตหุ่นยนต์ให้สมบูรณ์ขึ้น เราต้องตอบคำถามใหญ่ๆต่อไปนี้ให้ได้เสียก่อน

หน้าที่และอำนาจ (Function and Authority) ควรได้รับการจัดสรรอย่างไร? เพื่อให้แต่ละหน่วยย่อยหรือบิตปรองดองกันได้ในท่ามกลางสถานการณ์ขัดแย้งกันหรือตกลงกันไม่ได้ ผมเชื่อว่าบิตก็ต้องเรียนรู้ให้เข้าใจเรื่องหน้าที่ก่อนที่จะได้รับอำนาจในการทำงาน เด็กๆ ตอนผมเรียนวิชาหน้าที่พลเมือง เจอหัวข้อ “อำนาจและหน้าที่” ก็ยังงงๆ อยู่ว่าทำไมกลับทางกันอย่างนั้น การเรียนรู้ (Learning) บิตเรียนรู้ได้อย่างไร หรืออย่างน้อยต้องสามารถสร้างบิตใหม่จากบิตเก่าได้เพื่อให้เกิดวิวัฒนาการ (Evolution) บิตจะเรียนรู้ได้ดีต้องมีการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ (Interaction) วิธีการที่มีประสิทธิผลนั้นต้องทำอย่างไร ใครเป็นผู้ให้ตัวตนหรือบุคลิกภาพของบิต (Selfness) จนกระทั่งนำไปสู่คำถามการรู้สึกตัว (Consciousness and Awareness ) หรือแม้แต่คำถามพื้นๆ แต่ตอบยากคือ ที่มาของบิตตัวแรกมีตรรกะและเหตุผลสนับสนุนอย่างไรบ้าง?

ความมึนงงสงสัยคงอยู่กับผมอีกนานและอาจต้องรอน้องๆ เรียนจบกลับมาสอนความรู้เพิ่มเติมให้จนถึงบางอ้อ อย่างไรก็ตาม ผมได้รับความกรุณาจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่งสอนวิธีการ “ดูจิต” ให้ จนสามารถลดทุกขเวทนาจากความ “ไม่รู้” ได้ระดับหนึ่ง ในช่วงนี้ผมจึงมีความสนใจในการดูจิตทางพุทธธรรมมาก ซึ่งมีส่วนทำให้ผมเข้าใจ “จิตเทียม” ในโลกหุ่นยนต์มากขึ้น เพื่อมิให้ผิดพลาดผมขอยกคำสอนส่วนหนึ่งของหลวงปู่ดูลย์ อตโล เรื่อง “จิตคือพุทธ” สำหรับผู้สนใจ ดังนี้

จิตหนึ่ง ซึ่งปราศจากการตั้งต้นนี้เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้น และไม่อาจจะถูกทำลายได้เลย มันไม่ใช่เป็นของมีสีเขียวหรือสีเหลือง และไม่มีทั้งรูป ไม่มีทั้งการปรากฏ ไม่ถูกนับรวมอยู่ในบรรดาสิ่งทั้งที่มีการตั้งอยู่ และไม่มีการตั้งอยู่ ไม่อาจจะลงความเห็นว่าเป็นของใหม่หรือของเก่า ไม่ใช่ของยาวหรือของสั้น ของใหญ่หรือของเล็ก ทั้งนี้เพราะมันอยู่เหนือขอบเขต เหนือการวัด เหนือการตั้งชื่อ เหนือการทิ้งร่องรอยไว้ และเหนือการเปรียบเทียบทั้งหมดทั้งสิ้น

จิตหนึ่ง นี้เป็นสิ่งซึ่งเราเห็นตำตาเราอยู่แท้ๆ แต่จงลองไปใช้เหตุผล (ว่ามันเป็นอะไร เป็นต้น) กับมันเข้าดูซิ เราจะหล่นลงไปสู่ความผิดพลาดทันที สิ่งนี้เป็นเหมือนกับความว่างอันปราศจากขอบทุกๆ ด้านซึ่งไม่อาจจะหยั่งหรือวัดได้

จิตหนึ่ง นี้เท่านั้นเป็น พุทธ ไม่มีความแตกต่างระหว่างพุทธ กับสัตว์โลกทั้งหลาย เพียงแต่ว่าสัตว์โลกทั้งหลายไปยึดมั่นต่อรูปธรรมต่างๆ เสีย และเพราะเหตุนั้นเขาจึงแสวงหา พุทธภาวะ จากภายนอก การแสวงหาของสัตว์เหล่านั้นเองทำให้เขาพลาดจากพุทธภาวะ การทำเช่นนั้นเท่ากับการใช้สิ่งซึ่งเป็นพุทธ ให้เที่ยวแสวงหาพุทธและการใช้จิตให้เที่ยวจับฉวยจิต

—————————————————–
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน

djitt2

ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี  การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

Categories: Post from Dr.Jiit