หุ่นยนต์ช่วยทหาร - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • English
    • Thai

หุ่นยนต์ช่วยทหาร

logo robot brain

หุ่นยนต์ช่วยทหาร

เพนตากอนคาดการณ์ว่าภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี หุ่นยนต์จะกลายเป็นยุทโธปกรณ์หลักที่ทหารนำมาใช้ในการต่อสู้ไล่ล่าประหัตประหารคู่ศัตรูในสงคราม ช่วงarticle52-1ศตวรรษที่ 21 นี้ การพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อจุดประสงค์นี้ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณสูงสุดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การทหารของสหรัฐอเมริกา งานวิจัยและพัฒนา “ระบบต่อสู้แห่งอนาคต” (Future Combat System) มีมูลค่าถึง 127 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ระบบอัตโนมัตินี้ทำให้งบประมาณของกระทรวงกลาโหมสูงขึ้นเกือบ 20% ประมาณการตัวเลขงบประมาณอีกสี่ปีข้างหน้าในปี ค.ศ. 2010 เป็น 502.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทุกวันนี้เพนตากอนค้างชำระค่าบำเหน็จบำนาญและผลประโยชน์ของทหารหาญที่เกษียณอายุถึง 653 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากการศึกษาของเพนตากอนพบว่า ค่าใช้จ่ายโดยรวมของทหารมนุษย์หนึ่งท่านวันนี้เท่ากับ 4 ล้านเหรียญสหรัฐและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ราคาหุ่นยนต์ทหารมีราคาเพียงหนึ่งในสิบของตัวเลขนี้หรืออาจจะน้อยกว่า

ตัวอย่างเทคโนโลยีหุ่นยนต์ในเรื่องนี้เป็นผลงานวิจัยของศาสตราจารย์ Homayoon Kazerooni แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบอร์คลีย์ผู้พัฒนาโครงสร้างหุ่นยนต์เสริมความแข็งแกร่งให้แก่มนุษย์จนสามารถยกของหนัก 70 ปอนด์และเดินบนพื้นผิวทุรกันดาร เป็นการผสมผสานระหว่างระบบการควบคุมสั่งการของสมองมนุษย์และกล้ามเนื้ออันแข็งแกร่งของหุ่นยนต์ โครงสร้างดังกล่าวหนักถึง 100 ปอนด์ได้รับการออกแบบให้มีความแคล่วคล่องสอดคล้องกับสุขลักษณะการเคลื่อนไหวของร่างกายมนุษย์ (Ergonomics) ผู้ใช้สามารถเอี้ยวตัวบิดตัวเหมือนกับมิได้สวมโครงสร้างนี้เลย ชื่อเป็นทางการคือ The Berkeley Lower Extremity Exoskeleton: BLEEX ส่วนล่างของขาโลหะถูกยึดติดกับเท้ามนุษย์ เพื่อให้การเคลื่อนไหวทั้งร่างกายมนุษย์และ BLEEX ประสานกันอย่างแนบเนียน
article52-2
นอกจากนี้เซ็นเซอร์ที่มีอยู่กว่า 40 ตัว ต่อกันในลักษณะ Local Area Network (LAN) ทำหน้าที่ตรวจรับสัญญาณต่างๆจากข้อเท้า ฝ่าเท้า และข้อต่างๆของ BLEEX สมองกลจะทำหน้าที่ปรับระยะ/ตำแหน่งและรูปร่างให้สอดคล้องกับขนาดของภาระและความเร็วในการเดินทาง หรือแม้กระทั่งการวิ่งขึ้นเนินเขาก็สามารถกระทำได้อย่างธรรมชาติ มีแบตเตอรี่อยู่ที่ด้านหลัง เพื่อจ่ายพลังงงานให้แก่ลูกสูบไฮดรอลิก นอกจากมีประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องแบกน้ำหนักมากในขณะเดินทางไกลแล้ว กองทัพสหรัฐฯ เล็งเห็นว่า BLEEX สามารถช่วยแพทย์ทหารในการลำเลียงผู้บาดเจ็บออกจากสนามรบอย่างทันท่วงที ในกรณีที่ BLEEX ไม่ทำงานผู้สวมใส่ก็สามารถสละทิ้งได้โดยง่าย

BLEEX ได้รับทุนสนับสนุนพัฒนาจากสำนักงานโครงการวิจัยทางทหารชั้นสูง (DARPA) มีเป้าหมายที่ท้าทายมากคือ ติดตั้งเครื่องยนต์เพื่อส่งกำลังให้กับลูกสูบไฮดรอลิกและพลังงานไฟฟ้าแก่สมองกล จนยกน้ำหนักได้ถึง 120 ปอนด์ โดยผู้สวมใส่ BLEEX สามารถวิ่งและกระโดดได้ “เกินมนุษย์” ทำให้ผมอดคิดถึงภาพยนตร์เรื่องหนึ่งในอดีต “The Six Million Dollars Man” ที่พระเอก ลีเมเจอร์กระโดดขึ้นยอดตึกเป็นประจำ
article52-3        ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าในเทคโนโลยีเดียวกันที่สร้างประโยชน์ทำให้มนุษย์ทำงานได้ดีขึ้นไปช่วย “ผู้บาดเจ็บ” ให้พ้นภัย หากนำมาเพื่อต่อสู้และทำลายล้างก็มีความรุนแรงมากทำให้เกิด “ผู้บาดเจ็บ” ขึ้นได้ ผมเองไม่ค่อยเห็นด้วยนักในการใช้เทคโนโลยีเพื่อจุดประสงค์หลังเลย คนเราไม่ต้องทำร้ายกันหรอกครับ เดี๋ยวก็ต้องแก่ เจ็บ และตายไปเองตามสภาวะธรรม: อุปชิตวา นิรุตชันติ

ที่ประเทศญี่ปุ่นก็มีการพัฒนา “Robotic Suit” ขึ้นมาเช่นกัน และมีเป้าหมายชัดเจนในการช่วยผู้พิการให้สามารถขึ้นบันไดได้ ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการทหารเลย น่าชื่นชมยิ่งนัก ศาสตราจารย์ Yoshiyuki Sankai แห่งมหาวิทยาลัยซึคุบะผู้ประดิษฐ์ HAL-5 เชื่อว่าในไม่ช้านี้มนุษย์สามารถเลียนแบบซูแปอร์แมนที่มีพละกำลังมากได้ HAL-5 มีน้ำหนักเพียง 30 ปอนด์ แต่สามารถยกร่างมนุษย์:คนชรา หรือ คนพิการขึ้น-ลงได้อย่างสบาย

เทคโนโลยีมิได้อันตรายอย่างที่หลายคนพูด แต่คนใช้เทคโนโลยีต่างหากที่น่าสะพรึงกลัวกว่ามากนัก

——————————————————————————————
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน

djitt2

ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

 
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี  การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

 

Categories: Post from Dr.Jiit