อัจฉริยะ - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • English
    • Thai

อัจฉริยะ

logo robot brain

อัจฉริยะ

56
56-1
56-2
เดี๋ยวนี้ไปไหนมาไหนก็เจอแต่คำว่า “อัจฉริยะ” ไม่ว่าจะเป็นป้ายจราจร เก้าอี้นวดหลัง หุ่นยนต์กลไกกล้องถ่ายรูป และอื่นๆ อีกมากมาย หรือแม้แต่ส้วมที่สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) ได้สร้างความประทับใจผู้สื่อข่าวสุภาพสตรีบางท่านจนถึงกับยกย่องใช้คำอัจฉริยะต่อท้ายเนื่องจากสามารถกดน้ำได้เองอย่างอัตโนมัติหลังจากทำธุระเสร็จสิ้น

ศาสตราจารย์ มาร์วิน มินสกี้ บิดาแห่งศาสตร์ “ปัญญาประดิษฐ์” เคยกล่าวไว้ว่า พวกเรามักคิดว่า อัจฉริยะเช่น ไอน์สไตน์ เชคสเปียร์ส และ บีโธเฟ่น มีพรสวรรค์ที่ไม่สามารถอธิบายได้ ทำให้เกิดความเชื่อว่าคอมพิวเตอร์ไม่สามารถสร้างสิ่งที่อัจฉริยะภาพได้เลยเพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่คอมพิวเตอร์ทำเรามีคำอธิบายได้ทั้งหมด แต่ทำไมเราไปเหมาเอาว่าผลงานที่อัครศิลปินเหล่านั้นทำแตกต่างจากงานธรรมดาที่บุคคลทั่วไปกระทำอยู่ ทั้งๆ ที่เรามีความเข้าใจ “งานธรรมดา” น้อยมาก มินสกี้เชื่อว่าความคิดแบบธรรมดาและเชิงสร้างสรรค์นั้นแทบจะเหมือนกัน โดยที่แบบแรกน่าจะมีความลึกลับซับซ้อนกว่า

ท่านผู้อ่านเคยสงสัยหรือไม่ว่าเราสร้าง “ตัวความคิดใหม่” ได้อย่างไร? ทุกครั้งผมมักจะมีคำแก้ตัวให้กับตนเองเมื่อไม่สามารถสร้างคิดหรือทำได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็นเมื่อเทียบกับอัจฉริยะท่านเหล่านั้น หรือแม้กระทั่งไม่สามารถตีความในเรื่องที่ท่านได้คิดมาก่อนหน้านี้แล้ว ก็เพราะเราเองมิได้มีอัจฉริยภาพเช่นท่านนี่นา

สมัยเรียนอยู่ญี่ปุ่น บางวิชายากหากผมยอมอดนอนสักสองสามคืนก็สามารถเอาตัวรอดได้ เมื่อไปอยู่ที่อเมริกาพบคนเก่งมากๆ ปัญหาคณิตศาสตร์ยากที่ผมต้องใช้เวลาพัวพันกว่าหนึ่งสัปดาห์ทำรายงานร่วม 30 หน้า เพื่อนผมบางคนสามารถเฉลยคำตอบภายใน 10 นาที แค่ครึ่งหน้ากระดาษ ก็ได้คำตอบเหมือนที่ผมทำมา ผมเองยังต้องใช้เวลาอีกหนึ่งสัปดาห์กว่าจะเข้าใจว่าวิธีการคิดเขาเป็นมาอย่างไร บรรดาอัจฉริยะเหล่านี้มีคุณลักษณะของความมั่นใจในตัวเอง เก่งกาจเฉพาะทาง แรงจูงใจในการทำงานสูง กล้าที่จะมองต่างมุม ซึ่งบางครั้งจัดอยู่ประเภท “ดื้อรั้น” แต่เราท่านคงประจักษ์ว่ามิใช่ทุกคนที่มีลักษณะนี้จะก้าวสู่อัจฉริยภาพขั้นสูงสุดจนสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติได้

มินสกี้ ชี้ให้เห็นว่าท่านเหล่านี้มีความสามารถโดดเด่นในเรื่องการเรียนรู้ ซึ่งมิใช่แต่เพียงการเรียนให้มากๆ เข้าไว้ แต่ต้องเลือกและบริหารจัดการสิ่งที่เรียนรู้เข้ามาด้วย เรื่องนี้ผมได้เคยเตือนสติลูกศิษย์ปริญญเอกคนหนึ่งของผมไปเหมือนกัน สังเกตว่าทุกครั้งที่ผมส่งลูกศิษย์คนนี้ไปร่วมวิจัยกับนักวิจัยต่างประเทศจะกลับมาด้วยความตื่นเต้นว่าได้ความรู้ใหม่กลับมาทุกครั้งผมจึงถามว่าแน่ใจว่ารู้จริงหรือ? เรามักคิดว่าการสะสมความรู้จากแหล่งต่างๆ จะทำให้เรามีความรู้มากขึ้น ที่จริงแล้ววิธีนี้จะทำให้เราจบลงด้วยการที่เราไม่รู้อะไรเลย

สุดท้ายลูกศิษย์คนนี้สามารถสร้างทฤษฎีของตัวเองและไปแสดงผลงานได้รับรางวัลชนะเลิศในงานสัมมนาวิชาการนานาชาติเก่งกว่าอาจารย์เสียอีก

หากเปรียบเทียบเด็กเล็กสองคน คนหนึ่งต่อกล่องเล่นหรือชิ้นส่วนเข้ามุมได้อย่างถูกต้องสร้างเป็นปราสาท หรือสะพาน ขณะที่เด็กอีกคนเงียบเฉยเอาแต่มอง คิดถึงวิธีการคิดของเพื่อนข้างๆ ผู้ใหญ่มักชื่นชมเด็กคนแรกว่าสามารถสร้างตึก สะพานได้ แต่หากเด็กคนที่สองไม่ได้รับการกระตุ้นไปในทิศทางอื่น ยังคงค้นหาเพื่อเรียน “วิธีการเรียน” บุคลิกภาพนี้แหละที่จะนำไปสู่อัจฉริยภาพอย่างแท้จริง ซึ่งก็น่าแปลกใจที่มาถูกตั้งชื่อว่าเป็นพรสววรค์ทั้งๆ ที่น่าจะเป็น “พรแสวง” มากว่า

อ้อ..ลืมบอกความจริงเกี่ยวกับส้วมอัจฉริยะที่ฟีโบ้ พวกเราไม่ได้ไปดัดแปลงใดๆ เพิ่มเติมระบบอัตโนมัติใดๆ ทั้งสิ้น ที่ตั้งของอาคารฟีโบ้แต่เดิมเป็นสุสานเมื่อตอนทำฐานรากตอกเสาเข็มพบโครงกระดูกและกะโหลกมากมาย ลูกศิษย์ผมที่เชื่อเรื่องวิญญาณมักเห็นโน่นได้ยินนี่อยู่เสมอ จึงเหมาว่า “อาการอัตโนมัติ” นั้นเป็นผลงานของวิญญาณเหล่านั้น

บางครั้งเลยเถิดถึงขนาด “เบี้ยว” เร่งทำงานวิจัยในยามค่ำคืนโดยอ้างเหตุว่ากลัวผี ผมจึงต้องเตือนสติกันอยู่เนืองๆ ว่า แต่ก่อน “เขา” เหล่านั้นเหมือนเรา อีกไม่นานเราก็ต้องเหมือน “เขา”

แต่ถ้าเบี้ยวกันบ่อยๆ เช่นนี้ รับรองว่าไม่มีความรู้จริง ได้เป็น “ผี” ตอนสอบแน่นอนครับ

——————————————————
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน

djitt2

ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

 
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี  การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

 

Categories: Post from Dr.Jiit