ผมเคยสัญญาว่าจะให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โครงการ พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน-อีเอ็มเอส (Emergency Medical System: EMS) ที่สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้)มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรีออกแบบและจัดสร้างระบบต้นแบบให้กับสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช)
สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ คิดโครงการนี้ขึ้นมาก็เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยในสภาวะฉุกเฉิน สภาวะฉุกเฉินนี้ครอบคลุมมากไปกว่าเรื่องผู้บาดเจ็บเนื่องจากอุบัติเหตุที่เราคนไทยคุ้นเคยกันดีในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อช่วยเหลือชีวิตมนุษย์ระบบอีเอ็มเอ็สจึงต้องใช้เวลาน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างไรก็ตามเหตุสุดวิสัยจริงๆ ระบบอีเอ็มเอสช่วยไม่ได้ เช่น กรณีของ นายพรานคนดัง สตีฟ เออร์วิน โดนหางปลากระเบนแทงเข้าที่หัวใจขณะที่ว่ายอยู่เหนือปลาเพชฌฆาตตัวนี้ เป็นเรื่องที่แทบจะไม่เคยเกิดขึ้นเลยในชีวิตคนธรรมดาทั่วไป ยอดคนสตีฟ ยังสามารถดึงหางของมันออก และในนาทีต่อมาเขาก็สิ้นใจ
ระบบสารสนเทศของโครงการอีเอ็มเอสที่ฟีโบ้รับผิดชอบพัฒนาอยู่ อาศัยเทคโนโลยีที่มีใช้กันอยู่ทั่วไปดังต่อไปนี้
– ระบบฐานข้อมูลแผนที่ หมายถึง ระบบจัดการแผนที่อิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางอินเทอร์เน็ต
– ระบบ GPRS ใช้ในการสื่อสารข้อมูลไร้สายในรูปแบบของข้อมูลตัวอักษร เสียง ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เพื่อส่งข้อมูลที่จำเป็นในระบบอีเอ็มเอส
– ระบบ GPS ใช้ในการระบุตำแหน่งของรถฉุกเฉิน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของศูนย์ทราบตำแหน่งปัจจุบันของรถ และตัดสินใจส่งรถคันที่เหมาะสมไปรับผู้ป่วย
– ระบบจัดการฐานข้อมูล โดยจะจัดการฐานข้อมูลผ่าน Web base บนอินเทอร์เน็ต ทำให้สามารถเรียกข้อมูลได้จากทุกพื้นที่ในประเทศไทย อีกทั้งยังสนับสนุนการเพิ่มหน่วยให้บริการในจังหวัดอื่นๆอีก
– ระบบการเงินและการเบิกจ่าย เชื่อมต่อกับโปรแกรมการเงิน ของ สปสช.
สำหรับการติดตั้งระบบสารสนเทศโครงการอีเอ็มเอส นี้ จะจัดการให้เป็นแบบมีเครื่องแม่ข่าย (Server) เป็นเครื่องจัดการฐานข้อมูลต่างๆ ที่ศูนย์กลาง และมีเครื่องลูกข่าย (Client) ติดตั้งอยู่ที่ศูนย์รับแจ้งเหตุของแต่ละจังหวัด โดยเมื่อเครื่องลูกข่ายรับแจ้งเหตุและดำเนินการตามขั้นตอนเสร็จแล้วก็จะส่งข้อมูลไปเก็บไว้ที่เครื่องแม่ข่าย ส่วนระบบจัดการของโครงการนั้นได้แก่ ระบบจัดการแผนที่ ระบบจัดการฐานข้อมูล และเว็บเซิร์ฟเวอร์สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ศูนย์รับแจ้ง ซึ่งหลังจากวางระบบดังกล่าวให้แก่จังหวัดนำร่องเสร็จแล้วก็จะดำเนินการด้านติดตั้งระบบรับรองการสื่อสารด้วย GPS/GPRS/GSM และติดตั้งระบบให้แก่ศูนย์รับแจ้งเหตุในจังหวัดอื่นในโครงการต่อเนื่องปีถัดไป เพื่อให้ระบบมีความสมบูรณ์มากขึ้น
เทคโนโลยีดังกล่าวข้างต้นถูกนำมาสร้างระบบย่อยต่างๆดังนี้
1. ระบบรับแจ้งเหตุของศูนย์รับแจ้ง เป็นระบบที่ช่วยถามตอบและบันทึกการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในศูนย์รับแจ้ง ซึ่งระบบนี้จะเชื่อมเข้ากับแม่ข่าย มีหน้าที่ดังนี้
a. บันทึกหมายเลขโทร.เข้า โดยระบบจะต้องรองรับการเรียกเข้าทั้งโทรศัพท์แบบ Analog และ Digital (การออกแบบระบบขึ้นอยู่กับการประมาณการเรียกเข้ามาจากโทรศัพท์ทั้งสองแบบนี้)
b. บันทึกข้อมูลของเหตุการณ์ ได้แก่ อาการผู้ป่วย เวลาที่รับแจ้ง การส่งรถฉุกเฉินหรือรถในโครงการไปรับ
c. แจ้งสถานะการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในโครงการ เพื่อให้ทราบว่าการส่งต่องานไปถึงขั้นตอนใดแล้ว เช่น เจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุได้แจ้งให้ออกรถไปเรียบร้อยแล้วหรือไม่ เจ้าหน้าที่ขับรถฉุกเฉินได้ไปถึงตัวผู้ป่วย หรือส่งต่อผู้ป่วยเรียบร้อยแล้วหรือไม่ เป็นต้น โดยเจ้าหน้ารับแจ้งที่จะเป็นผู้พิมพ์ข้อมูลเข้าระบบเอง
d. มีระบบช่วยถาม ในการส่งรถและการหาตำแหน่งผู้ป่วย
e. มีระบบการเงิน แจ้งสถานะและจำนวนเงินที่เบิกจ่ายแก่เจ้าหน้าที่ของโครงการ
2. ระบบจัดการแผนที่ เป็นระบบจัดการแผนที่อิเล็กทรอนิกส์ โดยแบ่งออกเป็นเลเยอร์ต่างๆ ได้แก่
a. แผนที่ราสเตอร์
b. เลเยอร์ของเส้นทางหรือถนน
c. เลเยอร์ของการกำหนดพื้นที่ หรือเขตรับผิดชอบ : Zoning
d. เลเยอร์ของสัญลักษณ์สถานที่ หรือ landmark ต่างๆ
e. เลเยอร์ของชื่อสถานที่ หรือชื่อจุดสังเกตบนเส้นทาง
f. เลเยอร์ของจุดเกิดเหตุ
g. เลเยอร์ของตำแหน่งรถในโครงการ โดยตำแหน่งจะเคลื่อนที่บนแผนที่เป็น Real Time
3. ระบบ GPRS ใช้ในการสื่อสารข้อมูลไร้สายในรูปแบบของข้อมูลตัวอักษร เสียง ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว
4. ระบบ GPS ใช้ในการระบุตำแหน่งของรถฉุกเฉิน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของศูนย์ทราบตำแหน่งปัจจุบันของรถ และตัดสินใจส่งรถคันที่เหมาะสมไปรับผู้ป่วย
5. ระบบจัดการฐานข้อมูล มีฐานข้อมูลที่ใช้ในโครงการได้แก่
a. ระบบฐานข้อมูลโครงการ
b. ระบบฐานข้อมูลแผนที่
c. ระบบฐานข้อมูลโทรศัพท์
ด้วยมาตรฐานการจัดการฐานข้อมูลผ่าน Web base บนอินเตอร์เน็ต ทำให้เราสามารถเรียกข้อมูลได้จากทุกพื้นที่ในประเทศไทยที่มีระบบอินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ที่มี internet browser อีกทั้งยังสนับสนุนการเพิ่มหน่วยให้บริการในจังหวัดอื่นๆ อีก ระบบทั้งห้าระบบนี้จะเชื่อมโยงกันในการระบุตำแหน่งปัจจุบันของรถฉุกเฉินลงบนแผนที่ ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ที่ศูนย์รับแจ้งเหตุในการตัดสินใจเรียกให้รถฉุกเฉินคันใดเข้าไปรับผู้ป่วย
อย่างไรก็ตามผมขอปรารถนาว่า ถึงแม้เราจะมีระบบอีเอ็มเอสกู้ภัย-กู้ชีวิตแล้ว แต่เราอย่าไปสร้าง ภัย เพื่อจะไปกู้เลยครับ ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกท่านมี สติระลึกรู้ตัว ตลอดเวลาจนไม่ทำ กรรม ให้มีภัยใดๆมาใกล้ตัวได้เลยครับ
——————————————————
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน

ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม ฟีโบ้ (FIBO) เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
|