ฮิวแมนนอยด์-แอนดรอยด์
มีความสับสนอยู่พอสมควรเมื่อต้องพูดถึงคำว่าฮิวแมนนอยด์และแอนดรอยด์ สำหรับพวกเราที่เป็นนักวิจัยหุ่นยนต์จะคุ้นเคยกับการพัฒนาฮิวแมนนอยด์ อันเป็นการต่อยอดวิทยาการหุ่นยนต์เคลื่อนที่ (Mobile Robotics) ที่แต่เดิมอาศัยล้อ และ/หรือ หลายๆ ขาคล้ายแมลง มาเป็นการเลียนมนุษย์ที่มีสองขาเดินและวิ่งอย่างสมดุล หุ่นยนต์ประเภทนี้ยังคงเป็น กลไก(Mechanics) 100% ยังไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดที่เป็นเนื่อเยื่อของสิ่งที่มีชีวิตหรือรับสัญญาณจากสมองมนุษย์หรือทำงานร่วมกับอวัยวะของสิ่งที่มีชีวิต
เมื่อเข้าไปตรวจสอบข้อมูลปัจจุบันจากโฮมเพจ http://www.androidworld.com/prod01.htm จึงพบว่ามีการพัฒนาฮิวแมนนอยด์อยู่ทั่วโลกถึง 85 โครงการ อย่างไรก็ตามก็ยังใช้คำว่าแอนดรอยด์ปะปนกับฮิวแมนนอยด์ แน่นอนครับผู้นำของการพัฒนาหุ่นยนต์ประเภทนี้คือญี่ปุ่น ที่บุกเบิกสร้างขึ้นมาถึง 37 ตัว ที่เด่นๆเด็กไทยรู้จักดีก็คือ อาซิโม จากค่ายบริษัทรถยนต์ฮอนด้า ล่าสุดอาซิโมตัวใหม่วิ่งได้แล้ว กำลังเดินทางมาเมืองไทยในอีกไม่นานนี้ ที่ฮือฮามากอีกตัวหนึ่งชื่อ Repliee Q1 พัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยโอซากา มีหน้าตาเลียนแบบภรรยาของนักวิจัยผู้ให้กำเนิด ที่อื่นๆ มีดังนี้ สหรัฐอเมริกา 10, เยอรมนี 9, เกาหลี 9, อังกฤษ 4, จีน 5, สวีเดน 2, ส่วน ออสเตรเลีย ไทย สิงคโปร์ บัลแกเรีย อิหร่าน อิตาลี ออสเตรีย สเปน และรัสเซีย มีการพัฒนาฮิวแมนนอยด์ประเทศละหนึ่งโครงการ
เยาวชนที่ติดตามเรื่องราวความตื่นเต้นทางวิทยาศาสตร์ด้านหุ่นยนต์ มักจะหลงใหลกับคำว่าแอนดรอยด์เพราะมีความหมายหลากหลายกว่าหุ่นยนต์มาก มีตัวละครเช่น เดต้า ในเรื่องสตาร์เทรคที่มีผิวหนังเหมือนมนุษย์และอวัยวะภายในก็เป็นเนื้อเยื่อเทียมผสมกลไกทางกล เช่น ไซบอร์ก(Cyborg): มนุษย์กึ่งหุ่นยนตร์ คำที่นวนิยายวิทยาศาสตร์พูดถึงมาก แต่ภาพยนต์บางเรื่องก็สร้างแอนดรอยด์ขึ้นมาจากอวัยวะเทียมทั้งหมดเลย
สำหรับความหมายอันแท้จริงของแอนดรอยด์ที่ปรากฏใน วิกิพีเดีย นั้นมีความเกินไปจากหุ่นยนต์ทั่วไปและไซบอร์ก แอนดรอยด์เป็น สิ่งมีชีวิตเสมือน อาจจะเป็นหุ่นยนต์หรือไซบอร์กที่มีลักษณะเหมือนมนุษย์ มิได้เกิดจากธรรมชาติแต่เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา ในฐานะที่ผมได้คลุกคลีในกลุ่มนักวิจัยเรื่องนี้ จึงขอขยายความต่อว่า แอนดรอยด์มิได้ถูกสร้างโดยมนุษย์เท่านั้นความสามารถของแอนดรอยด์เองนั่นแหละครับที่จะช่วยให้มนุษย์สร้างแอนดรอยด์รุ่นต่อๆไปได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างจากการที่ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ช่วยให้เราคิดค้นระบบปัญญาประดิษฐ์ให้เทียบเคียงหรือดีกว่าปัญญามนุษย์ คุณสมบัติสำคัญสองประการของแอนดรอยด์คือการเป็นอุปกรณ์เครื่องมือที่เหมือนมนุษย์ (Simulacra) และสามารถทำงานได้อย่างอิสระ (Automata) คุณสมบัติหลังนี้มนุษย์ผู้สร้างเองในบางครั้งอยากมีเพราะสะดวกและทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงาน แต่บางครั้งคิดทบทวนวกไปวนมาก็ไม่อยากให้แอนดรอยด์อิสระมากเกินไปด้วยเกรงกลัวว่าจะควบคุมไม่ได้
ส่วนความเหมือนมนุษย์ ในมุมมองของผมเห็นมีความซับซ้อนกว่าเรื่องความเป็นอิสระมาก ถ้าจะกลัวน่าจะกลัวเรื่องนี้มากกว่า เนื่องจากแนวโน้มการพัฒนาความเหมือนนี้ไม่ได้หยุดอยู่ที่เพียงลักษณะรูปร่างท่าทางเท่านั้น ทิศทางการวิจัยมุ่งไปที่พัฒนาให้สมองของแอนดรอยด์สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่าง ความจริง ความคิดเห็น และความเชื่อ เช่นคำพูดที่ว่า มีวัตถุสีแดงอยู่บนโต๊ะ ต่างจาก ผมคิดว่ามีกล่องสีแดงอยู่บนโต๊ะ และ ผมเชื่อว่ามีกล่องสีแดงอยู่บนโต๊ะ เพื่อนผมคนหนึ่งบอกว่าหากแอนดรอยด์ทำได้เช่นนี้จริงอาจจะเก่งกว่าคนบางคนที่มัก ไม่รู้ ว่าตัวเองรู้หรือไม่รู้
การรู้ไม่น่าจะสื่อถึงความจริงที่เกิดขึ้นเสมอไป ตั้งแต่เด็กผมรู้เห็นว่าพระอาทิตย์โผล่ลอยขึ้นตอนเช้าทุกวัน แต่การรู้ของผมไม่เป็นความจริง พระอาทิตย์ไม่ได้ลอยขึ้นมาสักหน่อย แท้ที่จริงนั้นเกิดจากการที่โลกหมุนรอบตัวเองต่างหาก
การรู้ในทางพุทธธรรมนั้นลึกซึ้งกว่า รู้ ที่แอนดรอยด์พยายามจะรู้หลายเท่านัก เพราะต้องอาศัยสติในการระลึกรู้สภาวธรรมที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเท่าทัน เป็นการ รู้เท่าเอาไว้กัน รู้ทันเอาไว้แก้ ที่พระอาจารย์ท่านหนึ่งได้สั่งสอนไว้
——————————————————————————————
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน
ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม ฟีโบ้ (FIBO) เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ