หุ่นยนต์งู
ระยะต้นๆนั้นหุ่นยนต์และอุปกรณ์แมคาทรอนิกส์ ถูกมาใช้ในงานทางด้านอุตสาหกรรมหลากหลาย ประเภทเพื่อประโยชน์ในการลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยให้ต่ำที่สุดและเพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น แต่ยังมีงานอีกหลายประเภทที่ต้องการใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานมนุษย์ เนื่องจากลักษณะของงาน หรือบริเวณที่ต้องปฏิบัติงานนั้นมีความซับซ้อนยากแก่การปฏิบัติงานหรือมีความเสี่ยงภัยต่อมนุษย์ในระดับสูงจนมนุษย์ และหุ่นยนต์อุตสาหกรรมทั่วไปไม่สามารถทำงานได้
งานลักษณะดังกล่าวได้แก่ งานในการสำรวจต่างๆ เช่น งานสำรวจทางทะเล งานสำรวจอวกาศ งานกู้ภัย ตึกถล่ม เหตุการณ์เพลิงไหม้รุนแรง หรือแม้กระทั่งการใช้หุ่นยนต์ในโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นต้น งานประเภทนี้ต้องการหุ่นยนต์รุ่นพิเศษที่เลียนแบบการเคลื่อนที่ของสัตว์เลื้อยคลานแบบ S-Curve เช่น งู ศูนย์วิจัยหุ่นยนต์ทั่วโลกจึงได้เร่งศึกษาและสร้างต้นแบบหุ่นยนต์งู (Serpentine Robot) ขึ้นมา ผู้นำงานวิจัยด้านนี้คือศาสตราจารย์ ชิเกโอะ ฮิโรเซะ แห่งสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว สำหรับประเทศไทยเรา สามหน่วยงานสำคัญที่สนับสนุนงานวิจัยคือ มูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สภาวิจัยแห่งชาติและสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติได้ให้การสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐานเรื่องนี้แก่สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) โดยมีคุณภาคภูมิ วิริยะเจริญสุนทร เป็นนักวิจัยของโครงการ
หุ่นยนต์งูมีลักษณะทางกลแบบ มัลติจอยท์ จึงเหมาะสมกับการใช้งานในลักษณะดังกล่าว เนื่องจากมีจำนวนองศาอิสระ (degree of freedom) มากกว่าหุ่นยนต์อุตสาหกรรมทั่วไป บางครั้งถูกเรียกว่า Redundant robots โดยลำตัวหุ่นยนต์นี้ถูกออกแบบให้เป็นปล้องๆ แต่ละปล้องเชื่อมต่อกันด้วยข้อต่อ ซึ่งข้อต่อแต่ละข้อถูกออกแบบเป็นพิเศษ ให้ข้อต่อหนึ่งข้อมีสององศาอิสระ คือ สามารถเคลื่อนที่ ขึ้น – ลง และ ซ้าย – ขวา คุณสมบัติทางกลและรูปแบบเรขาคณิต หุ่นยนต์สามารถเคลื่อนที่หลบหลีกสิ่งกีดขวางได้เป็นอย่างดี ในต่างประเทศมีการศึกษาเรื่อง Redundant robots กันมานานแล้ว ตัวอย่างของงานวิจัยที่เกี่ยวกับ Redundant robots นั้น ได้แก่ MELARM สร้างโดยห้องปฏิบัติการวิศวกรรมเครื่องกล ของกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ (MITI) ประเทศญี่ปุ่น MELARM เป็นหุ่นยนต์ที่มีสองแขน แต่ละแขนมีเจ็ดองศาอิสระ สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการทดลองเกี่ยวกับเรื่อง การควบคุมแบบ master slave หุ่นยนต์ Self Approach system สร้างโดย บริษัทโตชิบาที่ญี่ปุ่น เป็นหุ่นยนต์ที่มี 17 องศาอิสระ มีลักษณะคล้ายคลึงงูมากที่สุด สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการตรวจสอบสภาพของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ และ UJIBOT เป็นหุ่นยนต์ที่พัฒนาจากมหาวิทยาลัยเกียวโต เป็นแขนกลซึ่งมีเจ็ดองศาอิสระ ทำการทดลองเกี่ยวกับเรื่องการหลบหลีกสิ่งกีดขวาง
งานวิจัยหุ่นยนต์งูของฟีโบ้ใช้ประโยชน์จากทฤษฎี Active Cord Mechanism เพื่อคำนวณหาแรงลัพท์แนวสัมผัสกับลำตัวหุ่นยนต์ (Tangential Forces) จากการที่ด้านล่างเป็นล้ออิสระที่มิได้ต่อกับมอเตอร์ใดๆและการติดตั้งไม่ยอมให้เกิดการเคลื่อนที่ในแนวตั้งฉาก (Radial Forces) หุ่นยนต์งูนี้จึงเคลื่อนที่ไปด้านหน้าหลังได้เท่านั้น เราได้ประยุกต์ใช้หลักการพลศาสตร์ของศาสตราจารย์โทมัส เคน แห่งมหาลัยสแตนฟอร์ด เพื่อหาโมเดลการเคลื่อนที่ทางคณิตศาสตร์และการใส่แรงกระตุ้น (Perturbing Bias) จนทำให้หุ่นยนต์สามารถเลื้อยเลี้ยวไปมาได้เช่นเดียวกันงูจริงๆ โปรดแวะเยี่ยมชมวิดีโอผลการทดลองจากเว็บไซต์ฟีโบ้ https://www.fibo.kmutt.ac.th ปัญญาประดิษฐ์และสมการศักยภาพ (Potential Function) ก็มีส่วนช่วยให้หุ่นยนต์สามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้ ทีมนักวิจัยฟีโบ้หวังว่าจะมีโอกาสพัฒนาให้หุ่นยนต์งูนี้ว่ายน้ำและดำน้ำได้เช่นเดียวกับงูของสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียวครับ
ผมมักจะได้รับคำถามเชิงแดกดันว่าทำงานวิจัยพื้นฐานเช่นหุ่นยนต์งูนี้ไปทำไมกัน? ประเทศไทยจะได้ประโยชน์ตรงไหนบ้าง? ผมได้ตอบไปทุกครั้งว่าโปรดอย่าเข้าใจผิดว่าที่ฟีโบ้นั้นสร้างหุ่นยนต์ เราสร้าง คนที่คิดเป็น ต่างหาก เราสร้างวิศวกรสายพันธ์ที่ คิดเอง สร้างได้ และใช้ดี ผมเชื่อว่าลูกศิษย์ที่สร้างโปรมแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ 12 องศาอิสระได้ ย่อมหลับตาเข้าใจโปรมแกรมควบคุมหุ่นยนต์อุตสาหกรรมทั่วไปที่มีเพียง 6 องศาอิสระได้อย่างง่ายดาย ศิษย์เหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญให้ประเทศไทย ไม่โดนหลอกขาย เทคโนโลยีที่แพงแต่ไม่เหมาะสมกับการใช้งานอย่างที่พวกเราพบเห็นอยู่มากมายในขณะนี้ ผมยังหวังว่าพวกเขาจะโตขึ้นเป็น ผู้สร้างเทคโนโลยี เพื่อปลดแอกจากการต้องจ่ายค่าสิทธิบัตรที่แฝงเข้ามาในผลิตภัณฑ์ในราคาค่อนข้างสูง ข้อมูลล่าสุดของปี พ.ศ. 2546 ประเทศไทยขาดดุลการชำระเงินทางด้านเทคโนโลยีถึง 115,222 ล้านบาท
พอผมไปออกแบบสร้างหุ่นยนต์ราคาถูกให้กับอุตสาหกรรมไทยเนื่องจากหุ่นยนต์นำเข้าจากต่างประเทศแพงมาก เพื่อนๆผมที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนและเอ็มไอที ก็อีเมล์มาตำหนิผมอีกว่ากำลังถอยหลังเข้าคลอง เคยออกแบบหุ่นยนต์สำรวจดาวอังคารแล้วเหตุไฉน? มาสนใจเทคโนโลยีหุ่นยนต์อุตสาหกรรมพื้นๆ
ผมค้นพบจากการปฏิบัติว่าจะทำงานให้สำเร็จอย่างมีความสงบ ต้องมี สัมมาสติ สัมมาสมาธิ และไม่ควร ส่งจิตออกนอก ผ่านทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย อย่างที่พระอรหันต์องค์หนึ่งได้สั่งสอนไว้
และก็อย่าเผลอ ส่งไปใน เข้าไปแช่อยู่ที่ใจนิ่งๆ จนปัญญาเกิดไม่ได้
——————————————————————————————
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน
ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม ฟีโบ้ (FIBO) เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ