หุ่นยนต์นังแจ๋ว - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • English
    • Thai

หุ่นยนต์นังแจ๋ว

logo robot brain

หุ่นยนต์นังแจ๋ว

หล่อนกำลังย่างก้าวเข้ามาหาผมและเพื่อน จากห้องครัวพร้อมถาดน้ำเย็นสองแก้ว เพื่อนผมจ้องผมเหมือนกับจะเดาปฏิกิริยาของผมได้เมื่อพบกับของเล่นชิ้นใหม่ที่เขาเพิ่งซื้อมา ก่อนที่ผมจะพูดอะไรเพื่อระงับความตื่นเต้น
article73-1         หล่อน...ผู้มีโครงสร้างคล้ายมนุษย์แต่ขนาดเล็กกว่าได้หยุดวางถาดน้ำลงแล้วยืนตรงพร้อมประสานพุ่มมือทั้งสองไว้ปลายนิ้วหัวแม่มือโลหะผสมพิเศษแวววับจรดปลายจมูกพร้อมโค้งศีรษะลงนิดหน่อยอย่างสุภาพอ่อนโยน แม้หน้าตาหล่อนจะไม่เหมือนมนุษย์เลยที่เดียวแต่ก็ต่างจากใบหน้าแข็งๆของหุ่นยนต์ในหนังสือการ์ตูนทั่วไป และนี่คือ…หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ผู้รับใช้: “หุ่นยนต์นังแจ๋ว” ตัวใหม่ที่กำลังถูกพัฒนาขึ้นในไม่ช้านี้จินตนาการข้างต้นเริ่มมีเค้าลางความเป็นจริงเมื่อห้องปฏิบัติการวิจัยชั้นนำตามมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วโลกทั้งของรัฐบาลและเอกชน ได้ให้ความสนใจอย่างจริงจังในการวิจัยและพัฒนาแต่ละชิ้นส่วนที่ประกอบกันเป็นหุ่นยนต์รับใช้ภายในครัวเรือน ในขณะที่นักหุ่นยนต์ศาสตร์บางกลุ่มขะมักเขม้นออกแบบกลไกนิ้วให้มีความแคล่วคล่องสูงเทียบเท่านิ้วมนุษย์แต่มีแข็งแรงและมีพละกำลังสูงกว่า นักวิจัยกำลังศึกษาผิวหนังเทียมที่ทนทานยิ่งและสามารถรับรู้ความรู้สึกได้ แม้ความก้าวหน้าทางวิทยาการเรื่องนี้ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น

นอกจากนี้ยังมีนักวิจัยท่านอื่นๆที่ญี่ปุ่น เยอรมนี ที่ม.คอลแนลและที่วิทยาลัยไทนี้โอลิน ในเมืองนีดแฮมทุมเทกับการแก้ปัญหาด้านการเดินสองขาแบบพลศาสตร์ของฮิวแมนนอยด์ จนกระทั่งไปถึงการสร้างสมองกลอัจฉริยะโดยใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ เพื่อให้ฮิวแมนอยด์ทำได้มากกว่าการเดินอย่างคล่องแคล่ว หุ่นยนต์รุ่นนี้สามารถปฏิสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า ทำงานยากๆได้เข้าครัวทำแกงเขียวหวานให้พวกเรารับประทานได้ ลูกศิษย์ของผมรุ่นแรกจาสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามคือ นายรวิโชติ ชโลธร ขณะนี้ทำวิจัยที่ม.วอชิงตันพยายามที่ต่อสัญญาณจากสมองมนุษย์มาควบคุมหุ่นยนต์ฮิวแมนอยด์ที่สร้างขึ้น ซึ่งต้องอาศัยความรู้จากวงการแพทย์มากพอสมควร

article73-2แน่นอนครับนักวิจัยเหล่านี้คงมิได้ตั้งเป้าวิจัยพัฒนาฮิวแมนนอยด์แต่เพียงเพื่อสร้างหุ่นยนต์อย่างที่ผมกล่าวไว้ข้างต้นเท่านั้น นายแอนดี้ รูอินา วิศวกรของม.คอลแนลสร้างหุ่นยนต์เดินสองขาขึ้นมาเพื่อให้เข้าใจการเดินของมนุษย์ดีขึ้นด้วยหวังว่าวันหนึ่งจะค้นพบวิธีการช่วยเหลือคนชราที่มีปัญหาเรื่องการเดิน คนอื่นๆเช่น นายเจมส์ คัฟเนอร์ นักวิทยาการคอมพิวเตอร์ม.คาร์เนกี้เมลลอน และ นายกิลล์ แพรต อดีตผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการขาหุ่นยนต์ เอ็มไอทีต่างเชื่อว่ากิจกรรมวิจัยด้านฮิวแมนนอยด์ต่างมุ่งไปสู่ประติมากรรมกลไกหนึ่งเดียว: “หุ่นยนต์นังแจ๋ว” ที่ช่วยทำงานบ้านอันแสนน่าเบื่อแทนมนุษย์
การพัฒนานี้จะสำเร็จได้ต้องอาศัยความก้าวหน้าทางวิทยาการใน 5 สาขาต่อไปนี้

1. วิทยาการด้านปฏิสัมพันธ์
2. วิทยาการด้านการเคลื่อนที่
3. วิทยาการด้านการนำทาง
4. วิทยาการด้านการเคลื่อนย้ายชิ้นงาน
5. วิทยาการด้านอัจฉริยะ
ความฉลาดของฮิวแมนนอยด์ผู้รับใช้เราจะมากน้อยเพียงใด? นั้นยังเป็นคำถามปลายเปิดอยู่ พื้นฐานการพัฒนาความฉลาดของหุ่นยนต์มีอยู่สองแนวทาง จากล่างสู่บน และ บนลงล่าง แนวทางแรกเกี่ยวข้องกับการพัฒนาสมองเทียม หุ่นยนต์สะสมประสบการณ์และความรู้ในขณะที่ทำงานไป เราหวังหุ่นยนต์ประเภทนี้จะเรียนไปถึงสิ่งที่ไม่รู้จากสิ่งที่รู้และจากความผิดพลาดในช่วงเริ่มต้น ส่วนแนวทางที่สองเป็นลักษณะของปัญญาประดิษฐ์ที่ค่อนข้างแพร่หลายในหมู่ห้องปฏิบัติการหุ่นยนต์ที่สหรัฐอเมริกา เป็นการสร้างแอลกอริทึมนำหุ่นยนต์ให้ทำงานได้ หุ่นยนต์นังแจ๋วที่ใช้แนวทางนี้อาจจะไม่สามารถสร้างความคิดเห็นส่วนตัวดังจินตนาการข้างต้นขึ้นมาได้เลย คงอาจเป็นเพียงแค่คอมพิวเตอร์ส่วนตัวเท่านั้น นี่คือความเห็นของนาย เจมส์ คัฟเนอร์ การใช้งานนั้นเจ้าของต้องเริ่มดาวน์โหลดซอฟต์ให้สามารถทำงานบ้านประเภทง่ายๆเสียก่อนแล้วค่อยฝึกงานยากขึ้นให้หุ่นยนต์เช่นทำห่านพะโล้ให้เรารับประทานเป็นต้นarticle73-3
การโต้เถียงเรื่องแนวทางอัจฉริยะของหุ่นยนต์ยังคงมีต่อไป ผู้ตัดสินใจคงเป็นผู้ใช้งาน มิใช่นักวิจัยหรือนักวิชาการว่าจะต้องการให้หุ่นยนต์นังแจ๋วนิ่งเฉยจนกว่าจะโดนถาม หรือมีความคิดของตัวเองสามารถเป็นเพื่อนดูแลยามที่มนุษย์ชราภาพลง คัฟเนอร์มั่นใจว่าภายใน 50 ปีนี้เราจะได้เห็นหุ่นยนต์ปรุงอาหารให้เรารับประทานได้แน่นอนเนื่องจากเทคโนโลยีปรับปรุงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา

——————————————————————————————
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน

djitt2

ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี  การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

 

 

Categories: Post from Dr.Jiit