หุ่นยนต์บิลล์เกตส์ - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • English
    • Thai

หุ่นยนต์บิลล์เกตส์

  logo robot brain

หุ่นยนต์บิลล์เกตส์

 บิลล์ เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์: บริษัทซอฟท์แวร์ใหญ่ที่สุดในโลก เขาเป็นอภิมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกติดต่อกันมาหลายปี อีกทั้งเป็นต้นแบบคนมีเงินที่ใจดีได้บริจาคเงินส่วนตัวก้อนโตมหาศาลเกือบหมดหน้าตัก ร่วมกับภรรยาจัดตั้งเป็นมูลนิธิ “เกตส์-เมลินดา” องค์กรสาธารณะกุศล เพื่อช่วยเหลือคนยากจนทั่วโลกให้มีฐานะความเป็นอยู่ สุขภาพดีขึ้นและสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี
article81-1        พวกเราได้รับการชี้แนะให้รู้จักละวางด้วยคำกล่าวว่า ตายไปก็นำติดตัวไปไม่ได้ แต่ผมเชื่อว่าสำหรับผู้ใหญ่หลายท่านที่สั่งสอนผมมา หากแม้นจะนำสมบัติติดตัวไม่ได้ ท่านเหล่านั้นคงไม่ทำ เพราะจะเป็นภาระหนักโดยไม่จำเป็นเลย

นอกจากเรื่อง “มีเพื่อให้ ได้เพื่อสละ” ของคุณ บิลล์ เกตส์แล้ว ผมยังอยากอนุโมทนา ความตั้งใจของเขาที่กำลังเข้ามา “ปฎิวัติ” วงการเทคโนโลยีซอฟท์แวร์ทางด้านหุ่นยนต์ ให้ง่ายต่อการประยุกต์ใช้งาน (User Friendly) ตลอดจนสนับสนุนการทำงานร่วมกันของประชาคมโลกเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านหุ่นยนต์ขึ้นอย่างจริงจัง

หุ่นยนต์ถูกพัฒนามาถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 50 ปีแล้ว แต่ยังมีลักษณะแยกส่วนกันอยู่มาก ยกเว้นหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่มีทิศทางพัฒนาค่อนข้างชัดเจน หุ่นยนต์ประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นของเล่น หรืองานประยุกต์จริงเช่นการสำรวจ การรักษาความปลอดภัย ความน่าเชื่อถือได้ (Reliability) ในจินตนาการนั้นสูงกว่าเป็นจริงมากครับ

หรือแม้แต่หุ่นยนต์อุตสาหกรรมก็ตาม ยังมีเรื่องซับซ้อนยากต่อการเข้าใจของผู้ขายและผู้ใช้งานหลายเรื่อง บ่อยครั้งที่ผมทึ่งมากที่เห็นเพื่อนเซลล์แมนขายหุ่นยนต์บรรยายสรรพคุณหุ่นยนต์ของเขาเกินกว่าความเป็นจริงเหมือนกับในภาพยนต์จากฮอลลีวูดมากกว่า แต่ก็ยิ่งแปลกใจที่เขาขายหุ่นยนต์ได้และในราคาที่แพงเสียด้วย แถมท้ายเพื่อนยังเหน็บว่าความรู้เรื่องหุ่นยนต์ของผมไม่เห็นทำเงินเช่นเขาได้เลย

       อย่างไรก็ตามลักษณะเช่นนี้ไม่ประเทืองปัญญาครับ ผมเห็นว่าการทำให้สาธารณะชนเข้าใจการทำงานของหุ่นยนต์และสามารถเขียนโปรแกรมคำสั่งหุ่นยนต์อย่างง่ายๆได้ในระดับหนึ่ง เป็นบันไดสำคัญในการบูรณาการหุ่นยนต์เข้าสู่ชีวิตประจำวันของมนุษย์อย่างแท้จริงครับ มากกว่าการใช้เทคโนโลยีอย่างไม่เข้าใจเนื้อหาที่ถูกต้องarticle81-2
อุตสาหกรรมใหม่ที่เกิดมาจากการอุบัติขึ้นของเทคโนโลยีหุ่นยนต์นั้นมาจากจินตนาการและงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการทั่วไป อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องมิได้มีมาตรฐานเดียวกัน พูดให้ชัดว่าบางชิ้นก็ไม่มีมาตรฐาน การออกแบบระบบหุ่นยนต์ใดๆขึ้นมา จึงต้องขึ้นอยู่ความพร้อมของชิ้นส่วนทางกลและไฟฟ้า โอกาสพลาดมีอยู่สูงมากเพราะบางเรื่องไม่สมควรเป็นความลับแต่ก็ปกปิดกันจนทำให้หุ่นยนต์ที่สร้างมีสมรรถนะไม่เต็มที่ ระบบเทอะทะมีความซับซ้อนเกิดขึ้นมาก การพัฒนาเป็นไปอย่างเชื่องช้า หากอุตสาหกรรมมีการพัฒนาเต็มที่แล้วจะต้องแบ่งปันข้อมูลกัน ใครที่ยังชอบเก็บความลับอยู่เหมือนเดิม ก็มีสิทธิ์ที่จะได้เก็บความลับตลอดไปกับตนเองเพราะจะไม่มีใครคบค้าสมาคมด้วย

คุณบิลล์ เกตส์ เปรียบสถานการณ์พัฒนาหุ่นยนต์ในขณะนี้ว่าใกล้เคียงกับตอนที่เขาและเพื่อนชื่อ พอล อัลเลน ร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ในปีค.ศ. 1970 ช่วงนั้นคอมพิวเตอร์เมนเฟรมมีขนาดใหญ่ ราคาแพง การใช้งานมีเพียงหน่วยงานราชการ และบริษัทใหญ่ๆเท่านั้น นักวิจัยตามมหาวิทยาลัยชั้นนำทำงานพื้นฐานเพื่อสร้างองค์ความรู้หลักขึ้นมา บริษัทอินเทลสร้างความฮือฮาโดยการผลิตไมโครโปรเซสเซอร์ 8080 ขึ้นมา หลายกลุ่มผู้สนใจพยายามประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์ในงานหลายประเภทเพื่อหาทิศทางที่แท้จริงของเทคโนโลยี หลายต่อหลายกิจกรรมแยกส่วนกันอยู่แบบกระจัดกระจาย ในขณะที่แนวความคิดด้านคอมพิวเตอร์ของบิลล์ เกตส์ นั้นต้องง่ายต่อการใช้งานของคนทั่วไป

เมื่อมามองการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ สายการผลิตรถยนต์โดยการใช้ระบบหุ่นยนต์ที่ซับซ้อนนั้นเรียบได้กับคอมพิวเตอร์เมนเพรมอันเทอะทะนั่นเอง พร้อมๆกันนี้เราเริ่มได้เห็นหุ่นยนต์สุนัขมาเดินเล่นอยู่ในบ้าน การประยุกต์หุ่นยนต์เพื่อการผ่าตัด การใช้หุ่นยนต์เพื่อการเก็บกู้ระเบิด จะสร้างหุ่นยนต์ขึ้นมาแต่ละตัวก็ต้องคิดออกแบบกันตั้งแต่บรรทัดแรกของโปรแกรมที่เขียนขึ้น เช่นเดียวกันกับเมื่อ 30 ปีที่แล้วที่จะพลอตกราฟสักที่ ผมต้องเขียนโปรแกรมขึ้นเอง เพื่อนผมก็ทำเหมือนกัน ต่างคนต่างทำ ซอฟท์แวร์มาตรฐานไม่ค่อยจะมี

และเขา บิลล์ เกตส์ จึงคิดเรื่อง “ไมโครซอฟท์โรโบติคส์สตูดิโอ” ขึ้นมา ที่จะทำให้การเขียนซอฟท์แวร์หุ่นยนต์ง่ายขึ้น จะเป็นอย่างไรนั้น ผมขอยกยอดไปอธิบายสัปดาห์หน้าครับ

ต้องยอมรับว่า เขามีส่วนช่วยให้ สมองคนสู่สมองกลอัจฉริยะมากและเร็วขึ้นครับ

——————————————————————————————
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน

djitt2

ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

 
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี  การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

 

 

Categories: Post from Dr.Jiit