ฝันเฟื่องเรื่องหุ่นยนต์ที่ฟีโบ้ตอนแรก - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • English
    • Thai

ฝันเฟื่องเรื่องหุ่นยนต์ที่ฟีโบ้ตอนแรก

logo robot brain

ฝันเฟื่องเรื่องหุ่นยนต์ที่ฟีโบ้ (1)

 

121

การศึกษาระดับปริญญาโท-เอก ที่สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ในปัจจุบันเทคโนโลยีทางด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติได้เพิ่มบทบาทในส่วนที่ทำให้การเป็นอยู่ของคนเราดียิ่งขึ้น โดยไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่ที่โรงงานอุตสาหกรรมเหมือนสมัยก่อนเท่านั้น เพราะเดี๋ยวนี้เราคงได้ยินข่าวบ่อยครั้งที่หุ่นยนต์ถูกสร้างขึ้นเพื่อเพิ่มผลผลิตทางด้านการเกษตร การประยุกต์ทางด้านการแพทย์ ไอที งานประชาสัมพันธ์ การทหาร การสำรวจบนบก ใต้น้ำ อวกาศ หรือแม้กระทั่งเป็นตัวช่วยดูดฝุ่น ควบคุมเครื่องเสียง หรือเป็นเพื่อนเล่นของเราภายในบ้าน แต่เราพอจะทราบกันบ้างไหมว่าวิทยาการหุ่นยนต์นั้นเป็นศาสตร์ที่ต้องนำความรู้หลายสาขามาผสมผสานกันขึ้นทั้งทางด้านไฟฟ้า เครื่องกล คอมพิวเตอร์ อิเลคทรอนิคส์ การควบคุมติดต่อสื่อสาร รวมทั้งไอทีเพื่อช่วยในการวิเคราะห์ ออกแบบ สร้าง และปรับปรุงแก้ไข ระบบหุ่นยนต์ที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้นเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์จึงนับได้ว่ามีความล้ำสมัยและเป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้นภายในอนาคตอันใกล้นี้

ในบ้านเราก็มีการส่งเสริมกิจกรรมทางด้านหุ่นยนต์ เราคงเคยได้ยินข่าวการแข่งขันหุ่นยนต์กันบ้าง มีตั้งแต่ระดับประถม มัธยมจนไปถึงระดับอุดมศึกษา รวมทั้งการส่งตัวแทนของประเทศไปคว้ารางวัลชนะเลิศจากต่างประเทศมาก็หลายครั้ง จึงนับได้ว่าคนไทยเรามีความรู้ความสามารถไม่ด้อยไปกว่าชาติอื่น เพียงแต่ว่าหลายครั้งเราขาดโอกาส ขาดการสนับสนุน หรือผู้แนะนำเท่านั้นเอง เคยมีใครเคยคิดบ้างไหมว่าถ้าเด็กที่มีความสนใจและมีความสามารถทางด้านหุ่นยนต์เหล่านั้นได้มีโอกาสต่อยอดความรู้ ความคิด และประสบการณ์ทางด้านหุ่นยนต์ซึ่งถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า ประเทศเราคงจะมีบุคคลากรที่มีคุณภาพที่ช่วยสร้าง พัฒนาหรือแก้ปัญหาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ปัจจุบันเราต้องซื้อหรือนำเข้ามาจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก

สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีนับได้ว่าเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ ได้มีผลงานวิจัยมากมาย ทางด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ตลอดจนมีงานทางด้านบริการวิชาการให้คำปรึกษาทางด้านอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตและผลผลิตมาร่วม 12 ปี ฟีโบ้เองได้ตระหนักถึงความต้องการเทคโนโลยีและบุคลากรทางด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจึงได้เปิดหลักสูตรระดับปริญญาโททางด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติขึ้นเมื่อปีการศึกษา 2546 โดยรับผู้ที่จบปริญญาตรีทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ทุกสาขาหรือเทียบเท่าเช่นอุตสาหกรรมศาสตร์ และ ครุศาสตร์อุตสาหกรรม โดยในเทอมแรกจะมีการปรับพื้นทางด้านคณิตศาสตร์ พลศาสตร์ของระบบและการควบคุม ตลอดจนการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับวิทยาการหุ่นยนต์ โดยรุ่นแรกนั้นมีนักศึกษาจากหลายสาขาเช่นทางด้านไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ เครื่องกล ไอที มาร่วมศึกษา โดยหลักสูตรเน้นทั้งทฤษฎีและการลงมือปฏิบัติเพื่อให้สามารถประยุกต์สร้างและใช้งานได้จริง

นักศึกษาสามารถเลือกสาขาที่ตนเองสนใจเป็นสาขาหลักเช่นสาขาการสร้างให้ระบบมีความฉลาดสามารถรับข้อมูลแล้วประมูลผล เรียนรู้ และตัดสินใจในระดับสูงได้เองโดยอัตโนมัติโดยมีการนำหลักการทางด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) โครงข่ายประสาทเทียม (Artificial Neural Network) ตลอดจนฟัซซี่ลอจิก (Fuzzy Logic) มาประยุกต์ใช้ สาขาที่สองเน้นการศึกษาที่ทำให้ระบบสามารถการรับรู้ข้อมูลจากผ่านนอกได้มีประสิทธิภาพโดยใช้เซ็นเซอร์ประเภทต่างๆเช่นกล้องพร้อมระบบคอมพิวเตอร์วิชั่น (Computer Vision) เซนเซอร์การตรวจจับการเคลื่อนที่ (Motion Tracker) อุปกรณ์ตรวจจับและ ตัวขับสำหรับหุ่นยนต์ ตลอดจนการศึกษาการสร้างระบบการเชื่อมต่อระหว่างมนุษย์และคอมพิวเตอร์เช่นระบบความจริงเสมือน (Virtual Reality) เป็นต้น

สาขาที่สามเกี่ยวข้องกับการศึกษาการคำนวณ ออกแบบ สร้างและควบคุมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ นักศึกษาจะได้เรียนรู้พื้นฐานของระบบหุ่นยนต์รวมทั้งรู้จักกับระบบหุ่นยนต์ขั้นสูงเช่นระบบหุ่นยนต์แบบเคลื่อนที่ได้ (Mobile Robotics) วิทยาการหุ่นยนต์ใต้น้ำ(Underwater Robotics) ระบบและการควบคุมอากาศยานไร้นักบิน (UAV System and Control) วิชาการหุ่นยนต์ชีวภาพ (BioRobotics) สาขาที่สี่จะเน้นในเรื่องการคำนวณ ประมวลผลและการนำอัลกอริทึ่มขั้นสูงมาประยุกต์แก้ไขปัญหา เช่น การวิเคราะห์เวฟเล็ต (Wavelets Analysis) ทฤษฎีของระบบเชิงเส้น (Linear System Theory)

ส่วนสาขาสุดท้ายคือสาขาที่เกี่ยวกับระบบอัตโนมัติทั้งที่อยู่ในโรงงานและไม่อยู่ในโรงงาน เช่นระบบการผลิตและระบบอัตโนมัติ(Automation and Production Systems) การออกแบบระบบความทนความผิดพร่อง (Fault-Tolerant System Design) ระบบการผลิตแบบยืดหยุ่น (Flexible Manufacturing System) เป็นต้น
——————————————————————————————
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน

djitt2

ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี  การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

 

Categories: Post from Dr.Jiit