หุ่นยนต์สังหาร - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • English
    • Thai

หุ่นยนต์สังหาร

logo robot brain

หุ่นยนต์สังหาร

133

หน่วยงานวางแผนงานวิจัยชั้นสูงเพื่อการทหารหรือเรียกย่อๆว่า ดาร์ป้า (DARPA) ได้ร่วมมือกับศาสตราจารย์ลีโอนาร์ดแห่งเอ็มไอทีพัฒนาหุ่นยนต์ทำงานใต้น้ำขึ้นสร้างแผนที่ของตำแหน่งทุ่นระเบิดในระดับผิวน้ำที่ยากต่อการมองเห็นของเรือนาวิกโยธินตอนบุกเข้าฝั่ง มีการคาดคะเนกันว่าสหรัฐจะลงทุนติดตั้งระบบหุ่นยนต์เพื่อกิจการทหารถึง 3,600 ระบบ งบประมาณวิจัยและพัฒนาสูงถึง 5 ล้านล้านบาท (เกือบ 5 เท่าตัวของงบประมาณทั้งปีของไทย)  การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ยังล้ำหน้าไปถึงการสร้าง

133-1

“หุ่นยนต์บิน” น้ำหนักเบา บินไปสอดแนมที่พักค่ายทหารของศัตรู จินตนาการของดาร์ป้ายังมุ่งไปที่การลดขนาดหุ่นยนต์ให้ใกล้เคียงกับนกจริงๆเพื่อพรางตาผู้พบเห็น นกหุ่นยนต์ตัวนี้ติดตั้งกล้องทีวีวงปิด CCTV จะบินไปมาระหว่างตึกในเมืองใหญ่เพื่อลาดตะเวนหาข้อมูลสัณญาณภาพเพื่อป้องกันการก่อวินาศกรรม  นอกจากนี้ผมเคยดูการสาธิตระงับเหตุการณ์ปล้นธนาคาร เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตั้ง “ปืนหุ่นยนต์” กล้องสองเลนซ์บนฐาน Pan/Tilt คอยสอดส่องตำแหน่งคนร้ายแล้วส่งสันญาณไปเหนียวไกปืนอย่างอัตโนมัติ ส่วนเจ้าหน้าที่หลบไปอยู่ในรถตู้กันกระสุนดูภาพจากจอมอนิเตอร์ ในอนาคตอันใกล้นี้เราคงได้เห็นระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติเหล่านี้ถูกใช้มากขึ้นในสถานการณ์การต่อสู้ที่รุนแรงที่เราทั้งหลายไม่อยากให้เกิดขึ้น

ทุกคนบนโลกใบนี้ล้วนเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ และตายตามธรรมชาติในที่สุด ผมไม่ค่อยสบายใจเลยเมื่อมีการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้าห้ำหั่นเร่งเอาชีวิตซึ่งกันและกัน หลายท่านคงแย้งผมว่า เราจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อป้องกันประเทศและพึ่งพาตนเอง คงต้องถามใจตนเองว่าจริงหรือ?

133-2

เทคโนโลยีหุ่นยนต์มีส่วนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถของยุทโธปกรณ์ทางทหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการผนวกระบบ การรับรู้(Perception) การประมวลผลและตีความ(Cognition) และระบบการเคลื่อนที่/เคลื่อนไหว(Manipulation/Mobility) เข้าด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น “มูเล่(MULE: Multifunction Utility/Logistics and Equipment)” หุ่นยนต์เคลื่อนที่ต้นแบบน้ำหนักถึง 2,500 กิโลกรัมที่มีล้อแทรคหกล้อเพื่อวิ่งบนผิวดินเลนได้ แถมแต่ละล้อได้ติดตั้งขากลไว้ด้วย จึงทำให้มูเล่สามรถก้าวข้ามสิ่งกีดขวางที่มีความสูงมากกว่ารัศมีของล้อซึ่งเป็นข้อจำกัดของการเคลื่อนที่ของรถยนต์โดยทั่วไป  อย่างไรก็ตามมูเล่ยังคงเป็นหุ่นยนต์บังคับระยะไกล  ดาร์ป้าคาดว่าต้องใชเวลาอีกหกปีก่อนที่มูเล่จะออกสู่สนามรบจริง และแน่นอนที่สุดว่าเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่เราเรียนรู้มาจากการแข่งขัน DARPA Urban Challenge ทั้งเซนเซอร์ และจีพีเอส จะถุกนำมาใช้ใน “หุ่นยนต์สังหาร” ตัวนี้ นั่นคือเมื่อเป้าหมายถูกค้นพบ สมองกลทำการคำนวณทิศทางหันปลายกระบอกปืนอย่างแม่นยำ ผมหวังว่าเขาจะใช้ “Supervisory Mode” ที่บังคับให้หุ่นยนต์รอคำสั่งมนุษย์ก่อนทำการยิง หากใช้ “Autonomous Mode” ให้หุ่นยนต์คิดเอง-ยิงเอง จะอันตรายมาก เพราะระดับการใช้เหตุผลและวินัยของหุ่นยนต์ยังมีขีดความจำกัดแม้ว่าสมรรถนะของเทคโนโลยีจะทำได้แล้วก็ตาม

133-3

หุ่นยนต์ประเภท Unmanned Ground Vehicles:UGVs เช่นเดียวกันกับมูเล่นั้นได้ออกสนามรบในอิรักและอัฟกานิสถานไปแล้ว 6,000 ตัว ตัวอย่างเช่น SWORDS (Special Weapons Observation Remote Direct-Action System) ถูกใช้ลาดตระเวนและตรวจสอบวัตถุระเบิดหรือที่เราสงสัยว่าจะเป็นวัสดุอันตราย หุ่นยนต์เหล่านี้จึงได้รับการติดตั้งปืนกลเบาอยู่ด้วย เพื่อใช้ทำลายวัตถุเหล่านั้น  อันที่จริงปืนกลและขีปนาวุธเหล่านี้มีการติดตั้งมานานแล้วตั้งแต่ปี 2001 บนครื่องบินรบที่ระบบการบินแบบอัตโนมัติตัวอย่างเช่น  Unmanned Arial Vehicles: UAVs ไปๆมาๆ การพัฒนาหุ่นยนต์สังหารเริ่มเข้าใกล้สิ่งที่เราเห็นอยู่ในภาพยนต์ “Terminator” ไปทุกที ในขณะนี้เริ่มมีนักวิชาการหลายท่านติงว่า ระบบคอมพิวเตอร์ที่ทำให้หุ่นยนต์คิดเอง-ยิงเอง นั้นสามารถแยกแยะ ใคร?และเมื่อใด? ควรยิงออกไปหรือไม่? และอย่างไร?

ผมเชื่อว่านักวิทยาศาตร์ที่คิดค้นอะไรได้ต้องมีตรรกะเป็นพื้นฐาน “คิดดูให้ดี” แต่หากต้องการให้ผลงานสร้างคุณประโยชน์ต่อโลกใบนี้ ต้องเพิ่มความสามารถในการ “ดูคิดให้ดี” ด้วย

การตามรู้-ตามดู สภาวะธรรมต่างๆที่เกิดขึ้นจริง ดังที่ชาวพุทธปฏิบัติอยู่ น่าจะช่วยให้การพัฒนาเทคโนโลยีเป็นไปเพื่อกุศลอย่างแท้จริง

 

ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th

——————————————————————————————
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน

djitt2

ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

 
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี  การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

 

 

Categories: Post from Dr.Jiit