อารมณ์หุ่นยนต์ - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • English
    • Thai

อารมณ์หุ่นยนต์

logo robot brain

อารมณ์หุ่นยนต์

เป็นที่ปรากฎแน่ชัดว่า หุ่นยนต์เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถดึงดูดและกระตุ้นความสนใจจากคนทั่วไปทั้งเด็กและผู้ใหญ่  หน่วยงานวิจัยหลายแห่งในต่างประเทศจึงริเริ่มวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ที่มีที่แสดงอารมณ์ได้ทั้งทางหน้าตาและท่าทาง เพื่อมาเป็นตัวสื่อปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ในเชิงลึกมากขึ้นโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์เป็นขบวนการสร้างอารมณ์ดังกล่าว  หลายคนเชื่อว่านักวิจัยหุ่นยนต์ค่อนข้าง “ไร้สาระ” สร้างเอง-เล่นเอง เพราะหุ่นยนต์ที่เขาเหล่านั้นสร้างขึ้นมานั้นก็จะมีบุคคลิกที่เลียนแบบและมีความคิดของผู้สร้างเป็นองค์ประกอบสำคัญนั่นเอง  อย่างไรก็ตามหากยอมรับตามวิจารณ์นี้ก็ยังอาจถือว่ามนุษย์สามารถใช้หุ่นยนต์ในลักษณะ self replica นี้ เพื่อเรียนรู้และเตือนสติตัวตนได้อีกทางหนึ่ง  หรืออย่างน้อยการเลียนแบบนั้นถือเป็นลักษณะการสื่อสารประเภทหนึ่งที่บ่งบอกถึงความสนใจและการเข้าหาผู้อื่นจนไปถึงการมีปฎิสัมพันธ์ (Nadel, 1999)

Pic1  03 Oct 2008

ผมได้เคยสอบถามคนนอกวงการหุ่นยนต์ว่ารู้สึกอย่างไร? หากต้องอยู่ร่วมกับ หุ่นยนต์เหมือนมนุษย์ เช่น Repliee Q1 ที่สร้างโดย Prof. Hiroshi Ishiguru แห่งมหาวิทยาลัยโอซากา คำตอบที่ได้ บวกลบเท่าๆกันครับ ที่ลบมากๆคือเห็นว่าหุ่นยนต์ประเภทนี้นั้นเหมือน “ผีดิบ” มากกว่าความเป็นธรรมชาติ แต่ก็อีกนั่นแหละครับ นักวิทยาศาสตร์มีมุมมองความสวยงามในมิติที่แตกต่างจากคนทั่วไป นี่เป็นคำพูดของ Prof. Richard Feynman นักฟิสิกส์โนเบลไพรส์ แห่ง CalTech

Pic5 03 Oct 2008

Prof. Hiroshi Ishiguru  ออกแบบ Repliee Q1 ให้มีหน้าตาและรูปร่างเหมือนกับภรรยาตนเอง ท่านคงรักภรรยามากหรือจะด้วยเหตุผลอื่นใดไม่ทราบได้ครับ Repliee Q1 สามารถแสดงท่าทางเชื้อเชิญได้เช่นเดียวกับมนุษย์ ใบหน้าทำจากส่วนผสมของยางธรรมชาติและซิลิโคนให้มีความยืดหยุ่นคล้ายผิวหนังของคนเรา งานวิจัยใหม่ๆจะใช้ artificial muscle based on dielectric elastomer  เพื่อให้แสดงออกถึงอารมณ์ต่างๆได้อย่างอ่อนโยน กระพริบตาเป็นจังหวะหรือส่งสายตาเป็นเชิงตำหนิและชื่นชมต่อผู้ใกล้ชิด เจรจาบางคำพูดง่ายๆได้ และแม้กระทั่งมีการเคลื่อนไหวขึ้น-ลง ของหน้าอกและช่องท้องในลักษณะการหายใจเข้า-ออก ทำให้ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น ไม่เหมือนกับหุ่นยนต์รุ่นพี่ๆ ก่อนหน้านี้ ที่ทำมาจากโลหะและการเคลื่อนไหวยังกระโดกกระเดกไม่นิ่มนวล  เฉพาะท่อนบนของ Repliee Q1 ประกอบไปด้วย 34 อาศาอิสระ (Degree of Freedom) รวดเร็วพอที่เอามือมาป้องกันการจู่โจมอย่างไม่ได้ตั้งตัวจากคนข้างเคียง

Pic2  03 Oct 2008

นักวิจัยคาดการณ์คงต้องใช้เวลาอีกสักพักใหญ่ในการพัฒนาให้ Repliee Q1 ไปถึง “แอนดรอยด์” เต็มรูปแบบ ทำงานเป็นพนักงานต้อนรับหรือไกด์นำเที่ยวได้ งานวิจัยในแนวทางนี้เกิดจากความเชื่อว่าหากหุ่นยนต์ยิ่งมีลักษณะรูปร่างและการทำงานใกล้เคียงมนุษย์เท่าไหร่ การยอมรับให้หุ่นยนต์มาอยู่ในสังคมชีวิตประจำวันของเราก็มีมากขึ้นเท่านั้น   หุ่นยนต์รุ่นใหม่นี้ถูกสร้างให้ฉลาดพอที่จะเข้าใจพฤติกรรมจนสามารถตอบสนองและกระตุ้นให้คู่สนทนาที่เป็นมนุษย์จริงรู้สึกถึงอารมณ์เทียมๆของหุ่นยนต์ จากข้อมูลการทดลองเบื้องต้นเราพบว่าเพียงหุ่นยนต์แสดงท่าทางอย่างง่ายๆ มนุษย์ที่สนทนาอยู่ด้วยก็มีพอใจแล้วและเกิดความเป็นกันเอง สภาวะการอยู่ร่วมกับหุ่นยนต์ในลักษณะนี้อาจกุญแจสำคัญดอกหนึ่งที่อาจไขปริศนาบางอย่างของกลุ่มคนไข้ที่มีอาการทางประสาทไม่ไว้วางใจสิ่งต่างๆรอบตัว

Pic3 03 Oct 2008

Cynthia L. Breazeal นักวิจัยที่ MIT ได้ออกแบบสร้าง หุ่นยนต์ Kismet แม้หน้าตาจะเหมือนการ์ตูนและมีเพียงส่วนหัวแต่ Kismet ก็มีราคาแพงมากเพราะถูกออกแบบและสร้างให้มีความสามารถเหนือ Repliee Q1 โดยมีการทำงานเป็นส่วนๆ (Modularity) ในการรับข้อมูลภาพ/เสียง และการสื่อสารกับมนุษย์หลายช่องทางต่างๆกัน  ขบวนการแสดงอารมณ์ของ Kismet  มีพื้นฐานจากไดอะแกรมสามมิติ ดังภาพ ซึ่งมี 9 ผลลัพท์อารมณ์ คือ ยอมรับ เหนื่ออ่อน (ใจ) ขมึงตึง ห่อเหี่ยว(ไม่ใส่ใจ) สะอิดสะเอียน โกรธ ประหลาดใจ ไม่มีความสุข และกลัว  อารมณ์เทียมๆของ Kismet เหล่านี้ เกิดจากการคำนวณล้วนๆ ซึ่งผมขอกล่าวรายละเอียดในสัปดาห์หน้าครับ

Pic4 03 Oct 2008

ขณะที่ผมเรียกอารมณ์ที่เราคำนวณให้หุ่นยนต์เป็นของเทียมๆ  นั้น จิตผมก็เลยไปพิจารณาว่า เวทนาของมนุษย์เรานั้นก็เป็นของสมมุติเช่นกัน หากขาดสติตามรู้ไม่ทันแล้วหลงไปยึดมั่นถือมั่น มีอุปทานต่อเวทนาขัณฑ์แล้ว….

เราเองก็เสมือนดำรงชีวิตเฉกเช่นหุ่นยนต์ที่โดนตั้งโปรแกรมทำงานไว้นั่นเอง !

ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th


 

ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน

ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

ss 21 oct 2008 DJ

ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี  การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของประเทศไทยที่เปิดสอนระดับปริญญาโทสาขาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติโดยเฉพาะ

 

 

 


Categories: Post from Dr.Jiit