ปริญญาเอกหุ่นยนต์ - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • English
    • Thai

ปริญญาเอกหุ่นยนต์

logo robot brain

ปริญญาเอกหุ่นยนต์

สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ได้อนุมัติให้ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) เปิดหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ  มีชื่อทางการเป็นภาษาอังกฤษว่า Doctor of Philosophy Program in Robotics and Automation  โดยมี รศ. ดร. สยาม เจริญเสียง เป็นประธานหลักสูตร

ในปัจจุบันประเทศไทยมีความจำเป็นที่ต้องส่งเสริมและพัฒนาความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี  เพื่อให้สามารถแข่งขันและดำรงอยู่ได้ในสังคมโลก จึงต้องมีการสร้างกำลังคน กำลังสมองทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีความสามารถในการวิจัยและพัฒนา ให้เกิดนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม  เกษตรกรรมและต่อสังคมโดยรวม หลังจากที่สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม(ฟีโบ้)  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเปิดดำเนินการวิจัยและพัฒนา “สะสมวิทยายุทธ์” มากว่าสิบปี ฟีโบ้จึงมีความพร้อมในการแสดงบทบาทนำด้านเทคโนยีหุ่นยนต์ของไทย หลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษานี้มุ่งเพื่อสร้างวิศวกรและนักเทคโนโลยีที่มีความสามารถในการวิจัยพัฒนา เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของไทย ที่ได้รับอนุมัติโดยรัฐบาลในปี 2551 ซึ่งช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมไทยตลอดจนความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  และยกระดับความเป็นอยู่ของคนไทย รวมทั้งการผนวกความรู้ความเข้าใจในการจัดการเทคโนโลยี  เพื่อให้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้คุ้มค่าที่สุดโดยส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด เหล่านี้เป็น “วัตถุประสงค์” ระหว่างการดำเนินการในระยะต้นและระยะกลางเปรียบเสมือนความจำเป็นที่ต้องทำระหว่างการเดินทาง แต่ “เป้าหมาย” สูงสุดของฟีโบ้คือการสะสมต้นทุนเพื่อให้ประเทศไทยเป็น “ผู้นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์” ในภูมิภาคให้จงได้

SS 25 02 2009 Pic 4

คุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับการศึกษามีทั้งสายวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ กล่าวคือ (1) เป็นผู้สำเร็จการศึกษาวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (วศ.ม.) หรือวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศ.บ.) เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง สาขาวิชาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ สาขาวิชาวิศวกรรมการผลิต สาขาวิชาวิศวกรรมระบบควบคุมและเครื่องมือวัด สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องมือและวัสดุ สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี หรือเทียบเท่า (2) เป็นผู้สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.) หรือวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง สาขาวิชาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สาขาวิชาฟิสิกส์ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชาสถิติหรือเทียบเท่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณาจารย์ประจำหลักสูตรของสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://study.fibo.kmutt.ac.th/ ระยะเวลาการสมัครเริ่มแต่บัดนี้จนถึง วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2552 จะสมัครด้วยตนเองหรือสมัครผ่าน Website
http://hermes.kmutt.ac.th/kmuttadmission/FrontEnd/MasterAdmission.aspx  ผู้สมัครต้องผ่านการคัดเลือกที่เข้มข้มจากคณาจารย์ประจำหลักสูตรด้วยวิธีการสอบข้อเขียนและ/หรือการสอบสัมภาษณ์ รวมทั้ง พิจารณาผลการศึกษาระดับปริญญาตรี/โท และประวัติการทำงาน

SS 25 02 2009 Pic 5

นอกจากอุปกรณ์การวิจัยทางด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติแล้วนักศึกษาสามารถใช้บริการของสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งมีหนังสือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งหมดประมาณ 179,610 เล่ม และมีวารสารทางวิชาการภาษาไทยจำนวน 1,098 และภาษาอังกฤษ 1,399 รายการ วิทยานิพนธ์และโครงงานศึกษา 27,138 เล่ม บทเรียนแบบ e-Learning จำนวน 176 วิชา นอกจากนี้ยังมีบริการด้านบรรณสารสนเทศและบริการยืมหนังสือจากห้องสมุดของสถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วโลกที่ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยพระจอมเกล้ามีความร่วมมืออยู่  ผมขอเน้นว่านักศึกษาที่อยู่ในโครงการนี้คือนักวิจัยเต็มเวลา (Full Time) ต้องมีผลงานตีพิมพ์ระดับนานาชาติในระดับเดียวกันกับนักศึกษาปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยท็อปเทน ขั้นตอนที่นักศึกษาต้องผ่านเพื่อให้จบการศึกษามีดังนี้ครับ

1. การสอบวัดคุณสมบัติ (Qualifying Examination) ให้เป็นไปตามระเบียบมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา
2. นักศึกษาจะต้องสอบเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ (Dissertation Proposal) ภายในภาคการศึกษาที่ 3 สำหรับนักศึกษาที่จบปริญญาโท และภายในภาคการศึกษาที่ 5 สำหรับนักศึกษาที่จบปริญญาตรี นับตั้งแต่เริ่มเข้าศึกษา
3. มีคณะกรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ (Advisory Committee) ที่ประกอบด้วยอาจารย์ผู้ควบคุมวิทยานิพนธ์และอาจารย์ผู้ควบคุมวิทยานิพนธ์ร่วม (ถ้ามี) และอาจารย์ และ/หรือผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ชำนาญการอื่นอีกไม่น้อยกว่า 3 ท่าน โดยอาจารย์ และ/หรือ ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ชำนาญการอื่น ต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกมหาวิทยาลัยอย่างน้อย 1 ท่าน
4. ระเบียบและข้อกำหนดอื่นๆ สำหรับการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิต ให้เป็นไปตามระเบียบมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ว่าด้วยการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา
5. ขั้นตอนการศึกษาสำหรับนักศึกษาที่อยู่ในโครงการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศจะเป็นไปตามขั้นตอนดังกล่าวข้างต้นและ/หรือขั้นตอนที่กำหนดไว้ในสัญญาความร่วมมือที่ทำไว้กับมหาวิทยาลัยต่างประเทศนั้นๆ

ผมในฐานะหนึ่งในคณาจารย์ผู้สอนขอต้อนรับทุกท่านสู่โปรแกรมปริญญาเอกหุ่นยนต์ที่แรกและแห่งเดียวในประเทศไทยครับ

ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th

 


 

ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน

ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

SS 25 02 2009 Pic 3

ภายหลังจบการศึกษา ดร.ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูงและการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ  นอกจากนี้ ดร.ชิต ยังผู้รับผิดชอบโครงการ Hard Disk Cluster ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติในการประสานงานนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆกับ มืออาชีพจากบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสค์เพื่องานวิจัยและพัฒนา การอบรมบุคลากรตลอดจนการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานจนเกิดบริษัทคนไทยที่มีความแข็งแกร่งทางเทคโนโลยีสามารถทำธุรกิจร่วมกับบริษัทข้ามชาติได้

Dr. Laowattana’s research interest is primarily in fundamental areas of robotic dexterity, design for manufacturing / assembly of high precision systems. He was awarded an honor with his B.Eng. from King Mongkut’s University of Technology Thonburi (KMUTT). Under the Monbusho Program, he received a certificate in Precision Mechanics and Robotics at Kyoto University. He subsequently obtained his PhD. in 1994 from Carnegie Mellon University, USA under financial support from the Fulbright Fellowship Program and the AT&T Advanced Research Program. In 1996, he also received a certificate in Management of Technology from Massachusetts Institute of Technology USA. He holds two US patents for robotic devices.  He is the founding director of the Institute of Field Robotics Development (FIBO) and the first President of Thai Robotics Society.   He served as an executive board member of TOT, the largest telecom public company. Presently, he is director of Hard disk Cluster Program at National Science and Technology Development Agency (NSTDA).  His responsibility is to strengthen hard disk industry in Thailand by formulating critical collaborative networks among professionals from national universities/laboratories and multi-national companies in the areas of R&D, HRD and Supply Chain Development

 

 

 


Categories: Post from Dr.Jiit