
หุ่นยนต์ขนส่ง ส.ว.
คุณพยาบาลท่านหนึ่งได้โทรศัพท์มาขอความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ (ฟีโบ้) ตอนแรกผมไม่ได้รับสายโดยตรง เจ้าหน้าที่มารายงาน ผมเข้าใจผิดคิดว่าเธอต้องการหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ไปช่วยรักษาคนไข้ ซึ่งแทบเป็นเรื่องปกติที่สาธารณะชนเข้าใจว่าหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์มีสมรรถนะสูงถึงขั้นมนุษย์แล้วทั้งนี้คนส่วนใหญ่มักเชื่อตามภาพยนต์จากฮออลลีวูดหรืออาจเป็นเพราะเห็นว่าหุ่นยนต์ “อาซิโม” ในปัจจุบันวิ่งได้แล้วกระมังครับ
ความเป็นจริงคือคุณพยาบาลต้องการให้ฟีโบ้ออกแบบและสร้างระบบหุ่นยนต์ที่ช่วยนำทางหรือแม้กระทั่ง “ขนส่ง” คนไข้อายุมาก สูงวัย (ส.ว.) ที่มักจะมีอาการเด็กดื้อไม่ค่อยเชื่อฟังพยาบาลหรือแม้กระทั่งกลับมีอาการหลงๆลืมๆแบบอัลไซเมอร์ ให้เดินไปรับยาห้องต่อไปหรือนั่งรอก่อน คุณลุงคุณป้าบางครั้งก็เดินออกจากโรงพยาบาลเลยข้ามถนนไปอีกฟากตรงข้าม ในสถาณจริงที่มีคนไข้สูง
วัยจำนวนมากกว่าพยาบาล ความโกลาหลจึงเกิดขึ้น ผมเห็นว่าด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่มีอยู่ ที่ฟีโบ้ สามารถช่วยโรงพยาบาลของกรุงเทพแห่งนี้ให้มีระบบนำทางแบบง่ายๆใช้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ป่วยวัยอาวุโสเหล่านั้นและก่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงานของทีมพยาบาลอีกด้วย
ที่ผมกล่าวว่าเป็นระบบแบบง่ายๆนั้น อาจจะทำให้ผู้อ่านไม่รู้สึกตื่นเต้น แน่นอนนะครับว่าฟีโบ้คงไม่สร้างหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์เพื่องานนี้อย่างเด็ดขาด เพราะต้นทุนสูงโดยไม่จำเป็น เป็นการ “ขี่ช้างจับตั็กแตน” นอกจากนี้ หุ่นยนต์ประเภทนี้ยังมีขีดจำกัดในการทำงานอยู่มาก ยังต้องการเวลาในการพัฒนาอย่างน้อยอีก 10 ปี ก่อนที่จะเริ่มทำงานพื้นฐานได้ เรื่องการเดินนำทางคนไข้อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น วันนี้เขายังทำไม่ได้ครับ
ทีมวิศวกรฟีโบ้เตรียมดัดแปลงรถเข็นผู้พิการไฟฟ้าที่มีขายกันอยู่อย่างดาษดื่นให้เป็น “หุ่นยนต์ขนส่ง ส.ว.” ที่มีความสามารถในเคลื่อนที่จากจุดใดจุดหนึ่งไปยังเป้าหมายที่ต้องการ ทั้งนี้ในสภาวะการใช้งานภาคสนามนั้น หุ่นยนต์ตัวนี้ต้องสามารถหยุดการทำงานชั่วคราวหรือหลบหลีกสิ่งขวางที่บังเอิญมาขวางเส้นทางเดิน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของไม่มีชีวิตหรือคนที่เดินไปมาอยู่ในบริเวณนั้น
ง่ายที่สุดคือการฝังรางเลื่อนบนพื้นห้องเช่นเดียวกันกับที่พบเห็นในโรงงานอุตสาหกรรม แต่อาจไม่เหมาะสมนักเนื่องจากสภาพการทำงานของสถานพยาบาลนั้นมีสิ่งที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา (Dynamic Environment) บางครั้งมีการโยกย้ายจุดบริการอีกด้วย ดังนั้นการใช้แถบเทปสีจึงน่าจะตรงกับการใช้งานมากกว่า (Practical) อย่างไรก็ตาม ความยุ่งยากมีอยู่บ้างเมื่อต้องรื้อแถบสีเพื่อเปลี่ยนเส้นทางการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์
ดังนั้นเราจึงเลือกที่จะติดตั้งเซนเซอร์หลายประเภทอาทิ Sonar, Laser Ranger Finder และ กล้อง ที่จะทำหน้าที่เป็น “ตาหุ่นยนต์” ในระดับต่างๆกัน ประเด็นที่นักวิจัยฟีโบ้สนใจคือการบูรณาการข้อมูลจากเซนเซอร์ต่างๆเหล่านี้ผ่านการใช้โปรแกรมทางปัญญาประดิษฐ์เพื่อกรองข้อมูลให้ถูกต้องจนใช้งานได้ นั่นคือเราสร้าง Information บนฐาน Data ของแต่ละเซนเซอร์ ผมขอเน้นว่าความยากของโครงการนี้ (แต่เราถือเป็นความตื่นเต้น) คือเราต้องทำให้หุ่นยนต์ขนส่งนี้ทำงานได้ท่ามกลางความขวักไขว่อลหม่านของผู้คน โหมดความปลอดภัยขั้นสุดเมื่อหุ่นยนต์งงไม่รู้จะเดินหรือถอยหลังดี คือการดับเครื่องแล้วอยู่นิ่งๆจนกว่าข้อมูลจะมีความชัดเจนมากขึ้น เฉกเช่นชีวิตมนุษย์เมื่อยุ่งเหยิงมากๆ ก็ควรหยุดดู เพื่อตามรู้ทุกข์ (ความยุ่งยาก)ที่เกิดขึ้น จนสามารถเห็นและละต้นเหตุ (สมุทัย) ได้
สมองกลต้องทำหน้าที่ควบคุมการทำงานในรายละเอียดของตัวหุ่นยนต์และสื่อสารกับ ศูนย์การควบคุมระบบ (Cockpit) ทำให้รับรู้สถานะของหุ่นยนต์ทั้งหมดในระบบ ความฉลาดของสมองกลนี้ไม่ได้แตกต่างจากรถอัจฉริยะไร้คนขับที่ทางสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยจัดแข่งขันกันทุกปี เพียงแต่ว่าต้องใช้ความเร็วต่ำเพราะเป็นพาหนะของผู้ป่วยอยู่ แม้ว่าผู้ป่วยท่านนั้นจะมี “หัวใจซิ่ง” เราไม่กล้าเสี่ยง ต้องล็อคความเร็วไว้ครับ
หลังจากการทดสอบจนมั่นใจระบบ ผมคาดว่าภายในหกเดือน เราคงมี ต้นแบบ (Working Prototypes) สำหรับการทำ Mass Production ให้แก่โรงพยาบาลรัฐต่างๆทั่วกรุงเทพและปริมณฑลครับ
ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th