
การประยุกต์ ใช้งานหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของประเทศไทย สามารถแบ่งตาม สาขาการประยุกต์ใช้งานได้คร่าวๆ ดังนี้
1. หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสำหรับใช้งานในอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม
2. หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสำหรับใช้ทางการแพทย์
3. หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสำหรับใช้ทางการทหาร
4. หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสำหรับใช้ทางการศึกษา
สำหรับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ใช้ในอุตสาหกรรมในประเทศไทย มีอุตสาหกรรมหลักที่มีความต้องการใช้สูงคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีแนวโน้มความต้องการสูงขึ้นทุกปีตามลำดับ โปรดดูตารางแนบแสดงการเปรียบเทียบจำนวนการติดตั้งหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสำหรับใช้งานในอุตสาหกรรมและจำนวนระบบในคลังของประเทศต่างๆทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยในปี 2003 ถึงปี 2005 จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีความต้องการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสำหรับอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2004 มีความต้องการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพิ่มขึ้นถึง 4.9 เท่าของปี 2003 และในปี 2005 มีความต้องการเพิ่มขึ้น 1.9 เท่าของปี 2004 และหากเทียบความต้องการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยกับประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเห็นได้ว่าตลาดหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของไทยมีการเจริญเติบโตสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค
ตารางเปรียบเทียบจำนวนการติดตั้งหุ่นยนต์และจำนวนหุ่นยนต์ในคลังของประเทศต่างๆ
Country | Yearly installations | Operational stock at year-end | ||||
2003 | 2004 | 2005 | 2003 | 2004 | 2005 | |
Japan | 31,588 | 37,086 | 50,501 | 348,734 | 356,483 | 373,481 |
USA | 12,693 | 15,170 | 21,136 | 112,390 | 123,663 | 139,553 |
Germany | 13,081 | 13,401 | 10,506 | 112,393 | 120,544 | 126,725 |
Korea | 4,660 | 5,457 | 13,005 | 47,845 | 51,302 | 61,576 |
Taiwan | 1,454 | 3,680 | 4,096 | 8,730 | 11,881 | 15,464 |
China | 1,451 | 3,493 | 4,461 | 3,603 | 7,096 | 11,557 |
Singapore | 48 | 244 | 424 | 5,273 | 5,443 | 5,463 |
Thailand | 156 | 757 | 1,458 | 257 | 1,014 | 2,472 |
Malaysia | 191 | 250 | 243 | 1,202 | 1,452 | 1,695 |
Vietnam | – | 14 | 99 | – | 14 | 113 |
Indonesia | 44 | 74 | 193 | 47 | 121 | 314 |
Philippines | 20 | 65 | 80 | 28 | 93 | 173 |
World Robot Market 2006 Statistics, International Federation of Robotics

ส่วนในด้านของเครื่องจักรกล กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้แบ่งผลิตภัณฑ์เครื่องจักรกลเป็นสามชนิด คือ
1. เครื่องจักรอุตสาหกรรม (Industrial Machinery) เป็นเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งเครื่องจักรประเภทนี้ยังต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากประเทศญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่ เพราะผลิตได้เองในประเทศน้อยมาก
2. เครื่องมือกล (Machine Tools) เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ใช้ผลิตเครื่องจักรต่างๆ เช่น เครื่องกลึง เครื่องเจาะ เครื่องไส และเครื่องจักรซีเอ็นซี ปัจจุบันในประเทศไทยยังมีผู้ผลิตไม่มากเพราะเทคโนโลยียังด้อยกว่าต่างประเทศ 3. เครื่องมือและอุปกรณ์ (Tooling and Accessories) เป็นประเภทอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ในประเทศไทยมีผู้ประกอบการจำนวนมาก และส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนการลงทุนจาก BOI
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ระบุว่าอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการผลิตและเครื่องมือกลเป็นอุตสาหกรรมที่มีความต้องการสูงมากในประเทศ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่สนับสนุนอุตสาหกรรมอื่นทุกประเภท แต่เนื่องจากผู้ประกอบการภายในประเทศยังไม่สามารถผลิตเครื่องจักรที่ทันสมัยได้ตามความต้องการของลูกค้า จึงยังต้องอาศัยการนำเข้าเป็นหลัก โดยในแต่ละปีประเทศไทยมีการนำเข้าเครื่องจักรกลมูลค่ากว่าแสนล้านบาท และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงควรมีการผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลในประเทศไทย เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนด้านการส่งออกเครื่องจักรกลของประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่เป็นเครื่องจักรที่ใช้เทคโนโลยีไม่สูงมาก โดยตลาดส่งออกที่สำคัญคือ เวียดนาม จีน และลาว
รูปแสดงสัดส่วนการนำเข้าเครื่องจักรกลของกลุ่มประเทศอาเซียนจากประเทศที่สาม
ที่มา : โครงการศึกษาผลกระทบและการกำหนดท่าทีไทยต่อการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล
รูปแสดงสัดส่วนการส่งออกเครื่องจักรกลของกลุ่มประเทศอาเซียนไปยังประเทศที่สาม
ที่มา : โครงการศึกษาผลกระทบและการกำหนดท่าทีไทยต่อการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล
เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆในกลุ่มอาเซียน ประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญทางด้านงานเชื่อมโลหะและการผลิตเครื่องมือกลเป็นพิเศษ แต่ยังขาดความเชี่ยวชาญในการผลิตเครื่องจักรกลอัตโนมัติและหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการของไทยมีขนาดเล็กไม่มีแรงจูงใจในการวิจัยเพื่อพัฒนาการผลิตของตน นอกจากนี้ยังขาดนโยบายสนับสนุนจากทางภาครัฐอย่างจริงจัง โดยภาครัฐของไทยมักจะเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมปลายน้ำมากกว่า
ตารางสรุปภาพรวมการวิเคราะห์อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลของประเทศไทย
ศักยภาพในการแข่งขัน | ปัจจัยด้านอุปสงค์ | ความสำคัญต่อมูลค่าการค้าของประเทศ |
ประเทศไทยไม่มีความสามารถในการแข่งขันในเชิงต้นทุน และในเชิงการวิจัยและพัฒนา เนื่องจากผู้ประกอบการในส่วนของอุตสาหกรรมเครื่องมือกลส่วนใหญ่นั้น มีลักษณะการประกอบการในรูปแบบของผู้แทนจำหน่าย และไม่มีแรงจูงใจในการวิจัยและพัฒนา เมื่อประกอบกับการขาดแนวนโยบายพัฒนาที่ชัดเจนจึงทำให้ทิศทางของอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลไม่ชัดเจน | เมื่อพิจารณาจากอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดการควบรวมกิจการของผู้ประกอบการรายเล็กโดยบริษัทข้ามชาติหรือบริษัทที่มีการร่วมลงทุนระหว่างผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลต่อเนื่องในด้านการกำหนดอุปสงค์ของอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล โดยกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญในด้านการลดต้นทุนของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาให้ก้าวไปสู่ลักษณะของโมดูลจึงทำให้ปัจจัยอุปสงค์มีแนวโน้มที่จะปรับตัวอย่างต่อเนื่อง และรุนแรง | เมื่อพิจารณาจากนัยด้านการค้าระหว่างประเทศ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลยังจัดอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในลำดับกลาง เมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมเกษตร หรืออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ |
ส่วนทางด้านการประยุกต์ใช้งานด้านอื่นๆ ได้แก่ ด้านการแพทย์ ด้านการทหาร และด้านการศึกษา ประเทศไทยมีแนวโน้มความต้องการประยุกต์ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในด้านต่างๆเหล่านี้มากขึ้น โดยในปัจจุบันประเทศไทยยังมีความสามารถในการผลิตระบบเองในประเทศได้น้อยและมีมูลค่าการนำเข้าระบบจากต่างประเทศสูงมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ
บทสรุป
จากผลการศึกษาสถานภาพและแนวโน้มของวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศต่างๆทั่วโลก แสดงให้เห็นว่าในปัจจุบันประเทศต่างๆทั่วโลกมีความต้องการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่สูงขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับหุ่นยนต์อุตสาหกรรม มีแนวโน้มตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นตลาดหลัก ในทางเดียวกันหุ่นยนต์บริการก็มีแนวโน้มเป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งหุ่นยนต์ประเภทนี้ส่วนมากจะเป็นหุ่นยนต์สำรวจ หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย หุ่นยนต์ทางการแพทย์ และหุ่นยนต์ใช้ในบ้านต่างๆ เช่น หุ่นยนต์ทำความสะอาดและหุ่นยนต์ตัดหญ้า เป็นต้น
นอกจากนี้จากการศึกษานโยบายและแนวทางการพัฒนาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของกลุ่มประเทศผู้นำในสาขา อันได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลี ประเทศสหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศยุโรป พบว่าในแต่ละประเทศมีจุดแข็งทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่แตกต่างกัน โดยประเทศญี่ปุ่นจะเน้นไปในหุ่นยนต์ประเภทที่ใช้ในอุตสาหกรรม หุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ และหุ่นยนต์บริการใช้ส่วนตัว ส่วนประเทศเกาหลีใต้ได้ประกาศยุทธศาสตร์หุ่นยนต์และประกาศจรรยาบรรณหุ่นยนต์(Robot Ethics) สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกาก็เป็นผู้นำทางด้านหุ่นยนต์ภาคสนาม หุ่นยนต์ใช้ในกองทัพและอวกาศ และหุ่นยนต์การแพทย์ และสำหรับกลุ่มประเทศยุโรปมีจุดแข็งทางด้านหุ่นยนต์อุตสาหกรรม และหุ่นยนต์การแพทย์ ซึ่งสามารถสรุปแนวทางการพัฒนาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติได้ว่า ประเทศสหรัฐอเมริกามีแรงขับเคลื่อนหลักจากทางการทหาร ส่วนในกลุ่มประเทศยุโรป ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเกาหลีใต้ จะมีแรงขับเคลื่อนมาจากสังคมและเศรษฐกิจเป็นหลัก
ส่วนผลจากการเปรียบเทียบสถานภาพวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของประเทศไทยกับต่างประเทศ สามารถสรุปได้ว่า ทางด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ใช้ในอุตสาหกรรม ประเทศไทยมีแนวโน้มความต้องการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในภาคอุตสาหกรรมอยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีอุตสาหกรรมผู้ใช้หลักคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมฮารด์ดิสก์ไดร์ฟ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยยังต้องอาศัยการนำเข้าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจากต่างประเทศซึ่งมีมูลค่าสูงเป็นหลัก โดยข้อมูลจากกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยระบุว่า สาเหตุที่ประเทศไทยยังสามารถผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติขึ้นใช้เองในประเทศได้น้อย เป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการของไทยมีขนาดเล็กไม่มีแรงจูงใจในการวิจัยเพื่อพัฒนาการผลิตของตน นอกจากนี้ยังขาดนโยบายสนับสนุนจากทางภาครัฐอย่างจริงจัง ดังนั้นจึงควรมีการผลักดันให้รัฐบาลไทยมีนโยบายสนับสนุนการผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติขึ้นใช้เองในประเทศไทยผ่านกระทรวงอุตสาหกรรมและมีโครงการสนับสนุนการลงทุนของคนไทยจากบีโอไอ เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นของประเทศและเพื่อลดมูลค่าการนำเข้าระบบจากต่างประเทศ
ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th
——————————————————————————————