
อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในประเทศญี่ปุ่นมีความเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา สมัยผมศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต เคยเรียนถามศาสตราจารย์ซูซูกิ ว่าเหตุใดทั้งๆที่มีญี่ปุ่นความเข้มแข็งทางเทคโนโลยีอย่างมาก จึงไม่สร้าง Space Shuttle ไปสำรวจอวกาศแข่งขันกับสหรัฐอเมริกาบ้าง ท่านก็เอ็ดผมทันทีเลยว่าในฐานะวิศวกรนั้นคิดจะทำอะไรนั้นต้องคำนึงผลลัพท์ผลิตภาพทางอุตสาหกรรม(Industrial Productivity)ด้วย ด้วยเหตุนี่กระมังครับ หุ่นยนต์ญี่ปุ่นส่วนใหญ่จึงถูกผลิตออกมาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆทั่วโลกในด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ขั้นสูงเพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ประเทศญี่ปุ่นยังเป็นรองจากประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศทางทวีปยุโรป ในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อใช้ในสาขาอื่นๆนอกเหนือจากการใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น การผลิตพลังงานนิวเคลียร์ การวิจัยใต้ทะเล
การป้องกันพิบัติภัย และการใช้หุ่นยนต์ช่วยทางการแพทย์
ข้อมูลจาก World Technology Evaluation Center, Inc. (WTEC) ระบุว่า บริษัท FANUC เป็นบริษัทผู้นำในการผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในญี่ปุ่น โดยครอง 17% ของตลาดหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในประเทศญี่ปุ่น 16% ของตลาดในทวีปยุโรป และ 20% ของตลาดในทวีปอเมริกาเหนือ สำหรับบริษัทที่ผลิตหุ่นยนต์บริการในประเทศญี่ปุ่น ประกอบไปด้วยบริษัท Sony, Fujitsu และ Honda ซึ่งอุตสาหกรรมประเภทนี้มีการขับเคลื่อนโดยความต้องการของตลาดในการใช้หุ่นยนต์เพื่อความบันเทิง หุ่นยนต์เพื่อน และหุ่นยนต์ให้ความช่วยเหลือ
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Japan External Trade Organization (JETRO) ในปี 2006 ยังได้ระบุว่า แนวโน้มตลาดหุ่นยนต์ของญี่ปุ่นที่จะมีการขยายตัวอย่างมาก คือตลาดหุ่นยนต์ที่สามารถช่วยงานคนงานสูงอายุและแม่บ้าน เนื่องจากอัตราการเพิ่มประชากรในประเทศญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็ว ในอนาคตจึงคาดว่าจะมีช่วงหนึ่งที่โรงงานต่างๆจะขาดคนทำงาน และหุ่นยนต์ก็เป็นทางออกหนึ่งสำหรับปัญหานี้ นอกจากนี้ทาง JETRO ยังได้ให้ข้อมูลทางสถิติโดยแบ่งหุ่นยนต์เป็นสองประเภทใหญ่ๆคือ Interactive Robots กับ Manufacturing Robots ดังนี้
1. Interactive Robots
ทางรัฐบาลญี่ปุ่นตระหนักว่า บริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีมากกว่าการพัฒนาตลาดหุ่นยนต์ ในปัจจุบันในประเทศญี่ปุ่นมีหุ่นยนต์ที่สามารถโต้ตอบได้ (Interactive Robot) จำนวนมากที่สร้างขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางเทคโนโลยีของวิทยาการหุ่นยนต์ที่ล้ำหน้า โดยที่ไม่มีประโยชน์ทางรูปธรรมอย่างอื่นที่ชัดเจน เช่น ASIMO ของฮอนด้า เป็นต้น

รูปที่ 1 แนวโน้มตลาด Interactive Robot ในประเทศญี่ปุ่น ในปี 2002-2010
ประเทศญี่ปุ่นมีแนวโน้มความต้องการหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์(Humanoid)สูงมาก ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากภาพลักษณ์ของหุ่นยนต์ในประเทศญี่ปุ่นที่ปรากฏในการ์ตูนยอดนิยมต่างๆ เช่น Astroboy และ Doraemon จึงทำให้มีการตื่นตัวและการคาดหวังอย่างมากที่จะผลิตหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพและสามารถใช้งานได้จริง เพื่อเป็นการสนับสนุน ทางประเทศญี่ปุ่นจึงได้กำหนดให้งานวิจัยทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์เป็นหนึ่งในนโยบายระดับชาติ และกระทรวงการคลังและอุตสาหกรรมได้จัดงบประมาณช่วยเหลือ 50% สำหรับบริษัทผู้ผลิตในประเทศ พร้อมทั้งสนับสนุนโครงการวิจัยในการสร้างหุ่นยนต์ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง โดยเน้นให้ความช่วยเหลือเฉพาะบริษัทของญี่ปุ่นเท่านั้น ส่วนสถิติการส่งออกหุ่นยนต์ที่สามารถโต้ตอบได้ตลาดส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศ การส่งออกมีน้อย โดยหุ่นยนต์ AIBO ของโซนี่มีการส่งออกเพียงหนึ่งในห้าของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด
2. Manufacturing Robots
หุ่นยนต์อุตสาหกรรม (Manufacturing Robots) เป็นที่ต้องการของตลาดโลกมาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งความต้องการส่วนมากจะอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค โดยประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้ผลิตซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ทางด้านหุ่นยนต์และอุปกรณ์ต่างๆที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งในช่วงปีหลังนี้ยังมีบริษัทผู้ผลิตรายใหม่ๆเกิดขึ้นในอีกหลายประเทศ เช่น ไต้หวันและเกาหลี รวมทั้งประเทศต่างๆในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปอีกด้วย

รูปที่ 2 ความต้องการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมในภูมิภาคต่างๆ
อุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นอุตสาหกรรมผู้ใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุด โดยในอุตสาหกรรมยานยนต์มีจำนวนหุ่นยนต์เชื่อม (Welding Robot) ประมาณครึ่งหนึ่งของหุ่นยนต์ที่ใช้ทั้งหมด นอกจากนี้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศญี่ปุ่น บริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์ส่วนใหญ่จะมีบริษัทลูกค้าหลักเช่น FANUC มีนิสสันเป็นลูกค้าหลัก บริษัท Kawasaki Heavy Industries และบริษัท Nachi มีโตโยต้าป็นลูกค้าหลัก เป็นต้น เมื่อบริษัทลูกค้าขยายการผลิตไปยังต่างประเทศ ก็เป็นโอกาสที่ดีที่บริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์จะได้ขยายตลาด เพิ่มลูกค้าในต่างประเทศด้วย ทำให้ตลาดต่างประเทศของญี่ปุ่นจะมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ

รูปที่ 3 ตลาดหุ่นยนต์อุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น
อย่างไรก็ดี จากรายงานของ Japan Robot Association (JARA) [58] สามารถสรุปปัญหาหลักของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบการศึกษาและวิจัยด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศญี่ปุ่นได้ดังนี้
ตารางแสดงมูลค่าการส่งออกหุ่นยนต์ของประเทศญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 2 ปี 2007 แบ่งตามประเภทอุตสาหกรรมใช้งาน

1. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในประเทศญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเน้นตลาดขนาดใหญ่ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยผู้ประกอบการในประเทศญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ไม่กล้าลงทุนในอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่มีความเสี่ยงสูงกว่าอย่างที่นิยมปฏิบัติในประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งโครงสร้างในแบบที่มุ่งเน้นไปที่ตลาดอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียวนั้น มีผลเป็นการจำกัดโอกาสในการพัฒนาและจำกัดการสร้างตลาดให้แก่เทคโนโลยีใหม่ๆที่มีจุดเริ่มต้นมาจากสถาบันการศึกษาและวิจัย เนื่องจากการขยายผลผลิตจากงานวิจัยใหม่ๆในภาคการศึกษาและวิจัยไปสู่ภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่นั้นเป็นไปได้ยาก
2. ในประเทศญี่ปุ่น การพัฒนาหุ่นยนต์ในสาขาอวกาศและการป้องกันพิบัติภัยบ้างในสัดส่วนต่ำ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นของงานวิจัยเบื้องต้น ยังขาดการสนับสนุนทางด้านนโยบายจากรัฐในการพัฒนาตลาดทางการทหารและอวกาศมารองรับดังตัวอย่างที่มีอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งในประเทศเหล่านั้นนโยบายการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากงานวิจัยไปสู่การใช้งานจริงเป็นหนึ่งในนโยบายระยะยาวของชาติ ซึ่งทำการปูทางจากการทำวิจัยขั้นพื้นฐานไปจนถึงการสร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นใช้จริง แต่ในทางตรงข้าม การทำวิจัยในประเทศญี่ปุ่นจะมุ่งเน้นไปที่การสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่ขาดการเชื่อมโยงกับความต้องการจริงของสังคมผู้ใช้
3. ขาดความกระตือรือร้นในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้ใน Extreme Environmental Condition
4. คุณภาพการศึกษาในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ในประเทศญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่ต่ำลง โดยข้อมูลจาก IMD (The International Management Development Institute business school, Switzerland) ระบุว่า ในปี 1992 ประเทศญี่ปุ่นนั้นจัดอยู่ในอันดับที่ 4 ในแง่ของคุณภาพของระบบการศึกษาซึ่งนำไปสู่ศักยภาพในการแข่งขัน แต่ปัจจุบันอันดับของประเทศญี่ปุ่นได้ตกลงไปอย่างมาก โดยตกไปอยู่ที่อันดับที่ 39 ในปี 2000
5. แม้ว่าในประเทศญี่ปุ่นภาคอุตสาหกรรมจะมีบทบาทสูงในการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ แต่การวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีในหน่วยงานของบริษัทอุตสาหกรรมยังขาดความเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย หุ่นยนต์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมจำนวนมากยังประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นพื้นฐานเท่านั้น เช่น การกำหนดตำแหน่ง (Positioning) การเคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งที่เคยสอนไว้ (Teaching-Playback) และ ระบบวิชั่น 2 มิติ (2D Vision) ในขณะที่การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีวิทยาการหุ่นยนต์ขั้นสูงในภาคการศึกษาได้รับการสนับสนุนอย่างมาก แต่ผลผลิตจากการวิจัยนี้มีการนำไปประยุกต์ใช้จริงน้อยมาก
เมื่อสองสามเดือนก่อน ผมมีโอกาสไปเยี่ยมอาจารย์ผมที่มหาวิทยาลัยเกียวโต แม้มีอายุและได้เกษียนในหน้าที่ไปแล้ว ท่านยังคงมามหาวิทยาลัยและทำงานวิจัยหนักมากเช่นเดิม ก่อนผมลากลับท่านยังเมตตาให้ “วรรคทอง” สอนใจผมมาอีกครับว่า ถ้าคนรุ่นเราไม่ทำงานให้หนักเท่าที่จะหนักได้แล้ว ลูกหลานเราคงลำบากแน่ๆ
ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th
——————————————————————————————