นักวิจัยมืออาชีพ - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • English
    • Thai

นักวิจัยมืออาชีพ

logo robot brain

นักวิจัยมืออาชีพ

article191-1

วันนี้ผมได้รับเชิญไปบรรยายนักศึกษาให้นักศึกษาที่ได้รับทุนโปรแกรม ฮาร์ดดิสคไดรฟ์ เกี่ยวกับการเป็นนักวิจัยมืออาชีพ คำว่า “มืออาชีพ” ความหมายในที่สาธารณะนั้นฟังดูแล้วเทห์ดีนะครับ พูดไม่ดีอาจโดนหมั่นไส้ได้ง่ายๆ  ผมจึงลดความยิ่งใหญ่ของคำนี้ มาอยู่ในระดับที่ผมสามารถใช้สื่อสารกับนักวิจัยรุ่นเยาว์เหล่านี้ได้ นั่นคือ นักวิจัยมืออาชีพต้องสามารถผลิตผลงานให้คนที่มีอาชีพเชื่อถือได้ เอาผลงานไปใช้ประโยชน์ได้จริง  สำหรับงานวิจัยด้านเทคโนโลยีผมมักฟังความเห็นดังกล่าวจากคนที่มีอาชีพในภาคอุตสาหกรรม  ที่ผ่านมาการทำงานวิจัยของนักวิจัยไทย ได้รับงบประมาณจัดสรรจากภาครัฐ จึงมิได้ฝึกฝน ด้านการปฏิสัมสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมมากนัก ไม่อาจสัมผัสกับความรู้สึกดังกล่าวจากคนที่มีอาชีพเหล่านั้นได้

ปัจจุบันการทำงานของนักวิจัยในประเทศมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เรามีคู่แข่งสำคัญทั้ง สิงคโปร์ มาเลย์ รวมถึงใต้หวัน ซึ่งนักวิจัยของประเทศ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความตั้งใจ และเข้าใจสภาวะรรมของการแข่งขันนี้ให้มากขึ้น 

ในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสค์ที่มีความซับซ้อนด้านเทคโนโลยีสูงนั้น งานวิจัยย่อมมีการต่อยอดซึ่งกันและกัน  หากมี “อัตตา” ไม่สนใจความคิดผู้อื่นบ้างจะทำให้งานวิจัยคืบหน้าค่อนข้างช้า สมัยเมื่อผมเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ท่านอาจารย์ โยชิกาวา เคยให้โอวาทสำคัญแก่ผมในช่วงที่ผมไม่รู้ว่าจะเริ่มงานวิจัยได้อย่างไรว่า
แม้เรื่องใดใครทำแล้ว เราก็ทำต่อยอดได้ดีขึ้นกว่าเดิมได้เสมอ ท่านยังแนะให้ผมมองที่ท้องฟ้าฟ้ายามค่ำคืน ผมพบทันทีว่ายังมีดวงดาวอีกนับล้านๆที่มนุษย์ยังไม่รู้จักเลย ผมนั้นหลงทางอย่างมหันต์ที่ไปเชื่อเรื่องโน้นเรื่องนี้มีผู้อื่นทำไปหมดแล้ว อันที่จริงผมยังขยันไม่พอจึงมองปัญหาไม่เห็น  ดังนั้นนักวิจัยต้องมีความสามารถในการทำ “Problem Definition” ให้ถ่องแท้ในขั้นเริ่มต้นครับ 

เมื่อไปศึกษาต่อที่อเมริกาในระดับปริญญาเอก ผมได้รับปรัชญาการทำงานวิจัยจากอาจารย์อาวุโสอีกท่านหนึ่งว่า “Breakthrough Idea Never Comes from TeamWork” ซึ่งก็น่าจะจริง การสุมหัวคิดกันตลอดเวลาไม่สามารถสร้างความคิดใหม่ที่น่าตื่นเต้นหรือมีความแตกต่างมากๆได้  ส่วนใหญ่จะเป็นค่าเฉลี่ยของหลายๆความคิดจากหลายๆคน  ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ต้องสนใจ Teamwork แต่ควรมีความเป็นส่วนตัว พิจารณาจากในไปนอก (Inside out) มิใช่เป็นแบบจากนอกเข้าสู่ใน (Outside in) ตามแบบฉบับตำราการตลาด  เมื่อมีความคิดเป็นของตนเองแล้วจึงไป Teamwork กับคนอื่นได้

article191-2รัฐบาลไทยโดยมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วประเทศมักสนใจทำงานวิจัย Basic Research เพราะลงทุนต่ำกว่า Commercial Research แต่สามารถสร้างผลกระทบได้มากกว่าในระยะยาว เปรียบเสมือนต้นทางของการคิดค้น และแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ อย่างไรก็ตามรัฐบาลมิได้ละเลยการทำงานวิจัยประยุกต์ โดยกำหนดให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ทำงานวิจัยร่วมกับ maker ผู้ผลิต ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งทุกฝ่ายมั่นใจในศักยภาพนักวิจัยของไทยในการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยี  อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ มีลักษณะเฉพาะตัว ที่ต้องใช้เวลา ในการศึกษาโจทย์วิจัย เพื่อให้เข้าใจก่อนการลงมือ โปรแกรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ จึงสนับสนุนให้นักศึกษาวัจัย และคณาจารย์ที่ปรึกษา เข้าไปมีโอกาสรับโจทย์ และทำงานวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม  เพื่อแก้ปัญหาของโรงงาน ภายในเวลาสองสามปีต่อจากนี้เรามีเป้าหมายที่จะทำให้เกิดการพัฒนางานวิจัย ที่ Advanced มากขึ้น และสามารถสนับสนุนให้งานวิจัยต้นน้ำ เกิดขึ้นในประเทศไทยมากขึ้น ผลลัพท์คือสร้างความแข็งแกร่งและศักยภาพการแข่งขันได้ในระดับโลก  การทำงานวิจัยร่วมกับอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์นี้ เป็นงานวิจัยที่มีการพลศาสตร์เปลี่ยนแปลงสูง เนื่องจาก life cycle ของ product สั้นเพียง 6 เดือนเท่านั้นเอง ดังนั้นแล้ว การทำงานวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม จำเป็นต้องใช้กำลังทุน กำลังคน และการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐ และภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถปรับกระบวนทัพให้สามารถตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลง  การทำงานวิจัยจำเป็นต้องมีความเป็นมืออาชีพ ไม่เพียงแต่สามารถปรับเปลี่ยนการทำงาน ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่จำเป็นต้องรู้ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงแต่เนินๆ ซึ่งทำให้เราสามารถปรับตัว และสร้างงานได้สำเร็จ

อุตสาหกรรมมีความสามารถในการแก้ปัญหา และจัดการหน้างาน ว่าจะ ”ทำอย่างไร (Howto)” ในขณะที่ภาคการศึกษา/วิจัย สามารถตอบคำถาม “ทำใม (Why)” ดังนั้นแล้ว นักวิจัยจากภาคการศึกษามีพื้นฐานที่ดี ย่อมนำพื้นฐานดังกล่าวไปช่วยค้นหา ต้นเหตุ และแนวทางการจัดการช่วยแก้ปัญหา เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านวิชาการให้กับประเทศและอุตสาหกรรม

การจะเป็นนักวิจัยมืออาชีพ ผมเห็นว่านักวิจัยควรถือเป็นแนวทางปฎิบัติดังนี้คือ เป็นผู้มีความสนใจ คาดเดา ทดลอง วิเคราะห์และประมวลผล  ไม่ว่าผลที่ได้จะเป็นอย่างไร มีความซื่อสัตย์ ให้เกียรติความคิดผู้อื่น  มีความรับผิดชอบต่อทั้งสิ่งแวดล้อม และมนุษย์ ให้เกียรติและเคารพศักดิ์ศรีผู้อื่น

การสร้างผู้ประกอบการคนไทย เป็นอีกหนึ่งความสำคัญของกลยุทธ์การสนับสนุนอุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่งมูลค่าการรับงานจากผู้ผลิต ( 4 makers : Hitachi, Seagate , Toshiba, WD ) มีความจำเป็นที่ประเทศต้องให้ความสำคัญ ซึ่งหากคณาจารย์ท่านที่มีความสามารถด้านการจัดการ การดำเนินธุรกิจถือเป็นโอกาสที่จะสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้เชิงวิชาการประกอบ ผมจึงได้ขอร้องว่านักศึกษาผู้ได้รับทุนการศึกษาควรศึกษาแนวทางทำธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้ด้วย

รัฐบาลไทยได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์อย่างต่อเนื่อง สร้างเครือข่าย และพัฒนาศักยภาพทั้งด้านการวิจัย และกำลังคนให้กับอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญในการดึงดูดการลงทุนทั้งด้านงานวิจัย และ การผลิตให้กับประเทศ แม้คู่แข่งอย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย จะมีกลยุทธ์ในการดึงดูดการลงทุนด้วยการสนับสนุนงบประมาณ แต่ด้วยแนวทางการพัฒนาเครือข่ายกำลังคน งานวิชาการ ที่เข้มแข็ง ประเทศไทยจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคอุตสาหกรรมได้ 


ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th

Categories: Post from Dr.Jiit