พัฒนา “ยูสเซ่อร์” ขึ้นเป็น “ยูสฉลาด” - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • English
    • Thai

พัฒนา “ยูสเซ่อร์” ขึ้นเป็น “ยูสฉลาด”

logo robot brain

พัฒนา “ยูสเซ่อร์” ขึ้นเป็น “ยูสฉลาด”

01 02-Mar          แม้ว่าประเทศไทยไม่ใช่ต้นกำเนิดเทคโนโลยี และในช่วงต้นของการพัฒนาประเทศเราจำต้องอยู่ในภาวะผู้ใช้เทคโนโลยี (Users) แต่ยีนส์คนไทยไม่ได้ “เซ่อ” เรามีพรสวรรค์และความเพียรอุตสาหะไม่แพ้ชนชาติอื่นใด จึงต้องฉลาดพอในการใช้และดัดแปลเทคโนโลยีนี้ให้คุ้มค่ากับการลงทุนและการเพิ่มผลิตภาพอุตสาหกรรม (Industrial Productivity) พร้อมๆกันนี้ยังต้องเร่งพัฒนาภูมิปํญญาไทยเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยี (Inventor) เพื่อให้ประเทศไทยแข่งขันได้จริงในตลาดโลก  จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยต้องเข้าใจภาพรวม ทั้งการบริหารจัดการเทคโนโลยีและความซับซ้อนของเทคโนโลยีที่นำเข้า ตลอดจนการถ่ายโอนมาจากประเทศต้นคิดผ่านการลงทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของบริษัทข้ามชาติ (Multinationals)  หน่วยงานรัฐ อาทิเช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และอื่นๆ ได้เข้ามาดำเนินการสนับสนุนเพื่อให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับประเทศชาติมากที่สุด  วันนี้ผมขอยกตัวอย่าง เรื่องการถ่ายโอนเทคโนโลยี (Technology Transfer) ในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เข้าไปร่วมมือทำงานกับสี่ผู้ผลิตรายใหญ่คือ Seagate, Western Digital, Hitachi และ Toshiba.

ในสภาวะเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันทางการค้ากันอย่างกว้างขวาง ผู้บริหารในธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ ต่างมองการขยายฐานการผลิตไปในที่ต่างๆทั่วโลกตามแนวความคิด International Production Network (IPN) ในแต่ละประเทศนั้นมีทั้งข้อดีที่เอื้อต่อการลงทุนและมีข้อเสียด้านความเสี่ยงต่อการลงทุน  เช่นนโยบายส่งเสริมการลงทุน สภาวะทางการเมือง ค่าจ้างแรงงานหรือการขนส่งสินค้าที่มีผลต่อต้นทุนการผลิตเป็นต้น ดังนั้นการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจเพื่อลดความเสี่ยงและลดต้นทุนจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในกรณีของบริษัทข้ามชาติผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ  02 02-Marแต่ละบริษัทต่างมีโรงงานของตัวเองกระจายอยู่ทุกทวีปทั่วโลกเช่นกัน ทั้งนี้ภายใต้เหตุผลเพื่อกระจายความเสี่ยงหรือเพื่อลดต้นทุนในการผลิตทั้งสิ้น ในทวีปเอเชียบริษัทได้เน้นการลงทุนในประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์  เพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจของบริษัทเมื่อสถานการณ์ประเทศหนึ่งประเทศใดมีความผันผวนจนการผลิตและการส่งออกมีปัญหา บริษัทข้ามชาติเหล่านี้จึงมีนโยบายให้มีโรงงานที่ผลิตชิ้นส่วนและสายการประกอบเป็นฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟสำเร็จรูป อยู่ภายในประเทศเดียวกัน ดังนั้นบริษัทจำต้องมีการย้ายสายการผลิตไปมาระหว่างไทย มาเลเซียและ สิงคโปร์ จะต้องมีการแลกเปลี่ยนสายการผลิตและจำเป็นต้องมีการถ่ายโอนเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในกระบวนการการผลิตชิ้นส่วนและการประกอบฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟให้แก่กันและกัน การร่วมมือแลกเปลี่ยนความรู้เทคโนโลยีเช่นนี้ ทำให้เกิดนวัตกรรมขึ้นภายใต้กลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีแบบหลายทาง (Multilateral Technology Transfer) จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่าหากรัฐบาลใดในสามประเทศนี้ไม่ใส่ใจและไม่เชี่ยวชาญในการจัดการด้านเทคโนโลยี องค์ความรู้ที่มีอยู่ย่อมไหลออกไปมากกว่าองค์ความรู้ใหม่จะไหลเข้าอย่างแน่นอน
ในทางทฤษฎี มีการจำแนกช่องทางในการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีดังนี้

  1. ช่องทางทั่วๆไป (General channels): เช่นการฝึกอบรม การตีพิมพ์ผลงาน การประชุมสัมมนาหรือการแลกเปลี่ยนโดยการเยี่ยมชมดูงานเป็นต้น
  2. การทำวิศวกรรมย้อนทาง ( Reverse-engineering channels): เกิดขึ้นโดยการไม่มีการช่วยเหลือหรือสนับสนุนจากแหล่งเทคโนโลยี และผู้รับเทคโนโลยีเองก็ต้องมีความสามารถมากพอที่จะถอดรหัสเทคโนโลยีได้ อีกทั้งประเทศเหล่านั้นยังไม่มีกฎหมายการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือลิขสิทธ์ การถ่ายทอดเทคโนโลยีแบบนี้นับได้ว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงมากแต่มีข้อจำกัดคือการที่ไม่สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีความรู้ที่เป็นความรู้ประเภทความรู้โดยนัย(Tacit knowledge) ของผู้พัฒนาเทคโนโลยีต้นแบบได้
  3. ช่องทางการถ่ายทอดที่ต้องมีการวางแผน (Planed channels): เป็นช่องทางที่ได้รับความเห็นชอบจากเจ้าของเทคโนโลยี มีการถ่ายทอดอย่างเป็นกระบวนการ และมีข้อตกลงของการถ่ายทอดเทคโนโลยีอยู่หลายประเภทที่ได้มีการนำมาใช้ในการวางแผนเพื่อทำการถ่ายทอด

กลไกของการถ่ายทอดเทคโนโลยี มีหลายประเภท:

Licensing: เป็นการซื้อลิขสิทธิ์ในการใช้เทคโนโลยีที่ผู้อื่นคิดค้นไว้

Joint venture: เป็นความร่วมมือกันระหว่างสองบริษัทหรือมากกว่า เพื่อแลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้ และทรัพยากร ของแต่ละฝ่ายในการพัฒนาเทคโนโลยี

Turn key project: เป็นการซื้อโครงการที่เสร็จสิ้น สมบูรณ์แล้วพร้อมใช้งานได้ทันทีโดยอาจมีเพียงการฝึกอบรมการใช้งานหรือบริการต่อเนื่องหลังการขาย

Foreign direct investment (FDI): เป็นการลงทุนของบริษัทข้ามชาติ ในการผลิตสินค้า หรือลงทุนในการใช้ทรัพยากรบางอย่างของประเทศอื่น และมีการถ่ายโอนเทคโนโลยีไปสู่ประเทศอื่น

Technical consortium and joint R&D project: เป็นการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกันของสองบริษัทหรือมากกว่า ในการลงทุนที่มีมูลค่ามหาศาล เพราะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เข้าร่วมไม่มีทรัพยากรที่เพียงพอในการที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางในการพัฒนาเทคโนโลยีได้

Collaborative R&D หรือ Cooperative R&D Agreement: เกิดจากการที่องค์กรตั้งแต่สององค์กรเข้ามาร่วมกันทำกิจกรรมทางด้านการวิจัยและพัฒนา โดยการร่วมลงทุนทางด้านทรัพยากรต่างๆ และองค์ความรู้ เพื่อตอบสนองความต้องการในการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ โดยมีขนาดของโครงการวิจัยที่เล็กกว่า Joint R&D Project โดยส่วนใหญ่จะเป็นการร่วมกันระหว่างองค์กรธุรกิจเอกชนกับสถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานวิจัยของรัฐบาล

หลายกระบวนการทางอุตสาหกรรม ต้องการแรงงานที่มีทักษะสูง ผู้จัดส่งเทคโนโลยี จะส่งผู้ให้การฝึกอบรมมายังบริษัทในประเทศผู้รับเทคโนโลยี แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะให้การฝึกอบรมในระดับสูง ยกเว้นแต่คนงานผลิตของบริษัทผู้รับเทคโนโลยีมีทักษะและความรู้แล้ว ถ้าบริษัทเหล่านี้ล้มเหลวที่จะเป็นผู้ชำนาญการทางเทคโนโลยีก็จะเป็นการสูญเสียการลงทุนโดยสิ้นเชิงในโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ  ในบางครั้งความต้องการที่หลายประการของบริษัทก็มีความเสี่ยงต่อประเทศ หน้าที่ของรัฐบาลจึงมีความสำคัญยิ่งเนื่องจากต้องปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ ในขณะที่ต้องไม่ทำลายเศรษฐกิจและกิจการอุตสาหกรรม ดังนั้นรัฐบาลของประเทศที่จะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจึงควรที่จะศึกษาแรงจูงใจและความต้องการของบริษัทในประเทศที่ต้องการมีกำไร และนำผลจากการที่บริษัทได้กำไรนั้นมาพัฒนาประเทศไปพร้อมๆกันได้อย่างไร  บ่อยครั้งที่วัตถุประสงค์ของรัฐบาลดูเหมือนจะขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของบริษัทที่มุ่งมั่นเพียงแต่การทำกำไร (ทั้งจากรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทเอกชน)  ความขัดแย่งนี้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะผู้นำเข้าเทคโนโลยีคือบริษัทไม่ใช่รัฐบาล  การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศจะสำเร็จได้นั้น  ขึ้นอยู่กับความสามารถของรัฐบาลและนักธุรกิจในการแก้ไขความขัดแย้งดังกล่าวร่วมกัน

เรื่องสำคัญอีกประการหนึ่งคือความลับทางเทคโนโลยี  หากถูกเปิดเผยต่อสาธารณะหรือคู่แข่งแล้ว จะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงนี้ที่รุนแรงถึงขนาดบางบริษัทปฏิเสธที่จะถ่ายทอดความรู้ที่เป็นความลับให้กับประเทศที่กำลังพัฒนาทันที
ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th

Categories: Post from Dr.Jiit