เสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา ผมทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการกรรมการวิชาการเพื่อตัดสินการแข่งขัน ABU Robot Contest 2010 “บุกอารยธรรมอียิปต์ พิชิตมหาพีระมิดแห่งกิซา” ที่อิมแพค เมืองทอง คณะกรรมการได้คัดเลือกทีมเข้าแข่งขันจากทั่วประเทศ จนได้ 16 ทีมอาชีวะ จาก 157 ทีม และ 16 ทีมมหาวิทยาลัย จาก 81 ทีม ผลการแข่งขัน เราได้ทีมชนะเลิศคือ “ทีมลูกเจ้าแม่คลองประปา:OMEGA ” จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณทิตย์ เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันที่ กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ เดือนกันยายน ปีนี้
จากการแข่งขันที่ผ่านมาถึงเก้าครั้ง ผมได้สังเกตเห็นเด็กไทยได้พัฒนา “อัฉริยะภาพ” ด้านการประดิษฐ์อุปกรณ์เทคโนโลยีขึ้นมาอย่างมาก ทั้งนี้ผมเชื่ออย่างยิ่งว่าเกิดจากปัจจัยที่น้องๆได้มีโอกาสฝึกฝนด้วยการ “คิดก่อนลงมือทำ ทำแล้วจะรู้ด้วยตนเอง” ดังคำสอนขององค์สัมมามสัมพุทธเจ้า ส่วนสาขาอื่นๆที่มิได้เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ผมก็ได้ยินจากผู้เชียวชาญในวงการหลายท่านว่า การฝึกฝนงานจริงก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เมื่อหันมามองเด็กไทย ขั้นประถม-มัธยมศึกษา กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของอนาคตชีวิต ยังต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับกวดวิชา เพื่อให้ตนเองมีความรู้ในการสอบผ่านเกณฑ์วัดต่างๆ คุณพ่อคุณแม่หลายท่านรวมทั้งตัวผมเองด้วยคงมีความเป็นห่วงลูกหลานเราอยู่ไม่น้อยที่เดียว ว่าเขาเหล่านั้นจะสามารถยืนหยัดหาความรู้ต่อไปได้ด้วยตนเองหรือไม่? ผมมีโอกาสพูดคุย นักธุรกิจท่านหนึ่งที่ได้ส่งลูกไปเรียนที่ ออสเตรเลีย ว่าเด็กที่โน่นเขามีพัฒนาการจากระบบการศึกษาอย่างไรบ้าง จึงได้รับทราบข้อมูลที่ผมเห็นว่ามีประโยชน์ยิ่ง ผมขอถ่ายทอดดังต่อไปนี้ครับ
“…..หลายคนที่รู้จักและทราบว่าผมส่งลูกไปเรียนหนังสือที่ประเทศออสเตรเลียมักจะตั้ง คำถามกับผมเสมอว่า ระบบการศึกษาของที่นั่น แตกต่างจากระบบการศึกษาของไทยอย่างไร ของใครดีกว่ากัน ผมไม่สามารถชี้ชัด หรือตัดสินได้ว่า แบบไหนดีกว่า หรือด้อยกว่า แต่ผมจะขอตอบจากประสบการณ์ และสิ่งที่ผมได้เห็น ได้รับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลง ถึงวิธีการเรียนของลูก
ลูกของผมเรียนที่เมืองไทยตั้งแต่ชั้นอนุบาล ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ในโรงเรียนซึ่งผม และภรรยาเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า เป็นโรงเรียนที่น่าจะเหมาะกับความต้องการของลูก และความต้องการของพวกเราที่อยากเห็นลูกเรียนด้วยความสุข และได้ใช้เวลาในการทำกิจกรรม รวมถึงมีโอกาสที่จะได้แสดงความคิดเห็น และมีมุมมองที่กว้าง ซึ่งนั่นหมายความว่า โรงเรียนที่ว่านี้ จะต้องไม่เน้นให้เด็กเรียน แต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นโรงเรียนที่มีแนวนโยบาย ที่เน้นการเรียน และเล่น(กิจกรรม)ไปพร้อมๆกันซึ่งนับว่าเราโชคดีอย่างยิ่งที่ลูกมีโอกาสเข้าไปเรียน ณ โรงเรียนที่เป็นที่ใฝ่ฝันของผู้ปกครองหลายๆ คนแห่งนี้ ช่วง ปีแรกๆ ของการเรียน เราในฐานะ พ่อแม่ รู้สึก ภาคภูมิใจ เมื่อเห็นลูกมีความสุขในการเรียน และเล่น รวมทั้งมีพัฒนาการที่ดี มีความมั่นใจในตนเอง กล้าคิด กล้าแสดงออก เราและผู้ปกครองหลายๆท่านคุยกันและรู้สึกว่า เราได้นำพาลูกเดินมาในทางที่ถูกต้อง
ทุกอย่างดำเนินมาด้วยดี จนเราสังเกตุเห็นถึงความเปลี่ยนแปลง เมื่อลูกเริ่มเรียนชั้นระดับประถมการศึกษาปีที่ 3 เราเริ่มเห็นว่าลูกเริ่มมีการบ้านมากขึ้น บทเรียนหลายบทเรียนซึ่งเมื่อเราหยิบมาเปิดดูแล้ว รู้สึกว่าไม่น่าจะเหมาะกับวัยของลูก หรือจะพูดอีกนัยหนึ่งคือเรารู้สึกว่า เร็วเกินไปสำหรับเด็กในวัยนี้ และยากที่เด็กจะเข้าใจได้จริงๆ รวมทั้งเนื้อหาที่ดูมากมาย หลากหลายเสียจนเรารู้สึกว่า ลูกเรียนเพียงเพื่อเอาไปสอบ แต่ไม่เคยเข้าใจ วันอาทิตย์ซึ่งเคยเป็นวันครอบครัวที่เรามักออกจะไปหาอะไรทานด้วยกัน หรือไปดูหนังสนุกๆ ด้วยกัน เร่ิมหายไป ด้วยเหตุผลที่ว่า “ลูกมีสอบวันจันทร ์ ต้องอ่านหนังสือเตรียมสอบ” รวมทั้งโครงงาน มากมายที่ระดมเข้ามา แทบจะทุกวิชา เราเริ่มสงสัยว่า ทำไมครูผู้สอนไม่เคยคุย หรือปรึกษากันก่อนที่จะแจกโครงงานให้เด็กทำ เพราะหลายครั้งที่ ลูกได้รับ หลายๆ โครงงานเข้ามาในเวลาเดียวกัน เราเริ่มเห็นเด็กๆ ในชั้นเรียน เรียนพิเศษมากขึ้น ทั้งหลังเลิกเรียน และวัน เสาร์ อาทิตย์ ในฐานะพ่อแม่ เราคุย และปรึกษากัน และก็ยังเห็นพ้องต้องกันว่า ลูกไม่สมควรจะเรียนพิเศษในวัยนี้ เขาควรจะได้ใช้เวลาในช่วงเยาว์นี้ เล่น และสนุกให้เต็มที่ เราพยามยามที่จะไม่ก้าวก่าย และเข้าไปมีส่วนช่วยในการทำโครงงานของลูก ยกเว้นการให้คำปรึกษา แต่ในบางครั้งภรรยาก็อดไม่ได้ที่จะต้องเข้าไปช่วยเป็นบางครั้ง เมื่อเห็นว่าลูกทำไม่ทันจริงๆ และทนเห็นลูกวัน 8-9 ขวบต้องนอนดึกเกินกว่าเวลาที่สมควร เหตุการณ์ยิ่งดูเหมือนแย่กว่าเดิม เมื่อลูกเรียนชั้นประถมปีที่ 4 ลูกเริ่มต้องสอบถี่ขึ้นเรื่อยๆ เนื้อหาการเรียนที่มากขึ้นจนน่าตกใจ ว่าเด็กเดี๋ยวนี้เรียนอะไรกันมากมายขนาดนี้ ลูกเริ่มสงสัย และเร่ิมหมดความมั่นใจในตัวเอง เมื่อครูเร่ิมสอนบทเรียนใหม่ในห้องเรียน แล้วมีนักเรียน 1 ใน 3 ของห้องตอบคำถามของครูได้ ในขณะที่ลูกบอกกับภรรยาของผมว่า “เขาแค่กำลังจะเร่ิมคิดในส่ิงที่ครูถาม” แต่เพื่อนๆ กลับรู้ในสิ่งที่เขาไม่รู้ เพราะเด็กเหล่านั้นเรียนพิเศษมาก่อนหน้านี้แล้ว ในช่วงเวลาหลังเลิกเรียน และในวัน เสาร์ อาทิตย์ ลูกเริ่มตั้งคำถามอย่างไม่แน่ใจว่า “พ่อ และแม่ คิดถูกหรือเปล่าที่ไม่ส่งเขาไปเรียนพิเศษ” และเริ่มไม่แน่ใจว่า พ่อแม่ “หวังดี หรือ ประสงค์ร้าย” ที่ไม่สนับสนุนให้ลูกเรียนพิเศษ ที่น่าตกใจยิ่งไปกว่านั้น คือ เพื่อนลูกๆ บอกลูกว่า ข้อสอบที่พวกเขาทำในวันนี้ เป็นข้อสอบที่เขารู้มาแล้วล่วงหน้าจากการเรียนพิเศษตอนเย็นที่โรงเรียน พร้อมกระซิบบอกว่า อย่าบอกใคร เพราะครูสั่งมาว่า อย่าบอกใคร
ชีวิตประจำวันของลูก ณเวลานั้น คือ วันจันทร์ ถึง ศุกร์ เมื่อกลับถึงบ้านในเวลาเย็น รีบอาบน้ำ ทานข้าว และทำการบ้าน นอกเหนือไปจากการ ทำรายงาน และอ่านหนังสือเตรียมสอบในบางครั้ง ส่วนวันเสาร์ อาทิตย์โดยส่วนใหญ่ก็คือ ทำรายงาน และอ่านหนังสือเตรียมสอบ สิ่งที่กวนใจผมก็คือ เวลาที่เห็นภรรยานั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ค้นหาข้อมูล ให้ลูกเอาไว้เขียนรายงาน คำถามคือ แล้วลูกผมได้อะไรจากรายงานฉบับนี้บ้างนอกจากคะแนน แล้วถ้าอย่างนั้นจุดประสงค์ของการทำรายงานคืออะไร คำตอบที่ผมได้รับจากภรรยาคือ ถ้าไม่ช่วยลูก ลูกคงต้องนอนห้าทุ่ม เพราะระหว่างที่ภรรยาผมหาข้อมูล ลูกก็กำลังทำการบ้านอยู่ ผมต้องทนฟัง ภรรยา และลูกเถียงกัน ตอนเวลาลูกใกล้สอบ ปลายภาค เด็กอายุ 10 ขวบ สอบ 4 วิชาหลักในวันเดียวกัน ภรรยาผมต้องจัดตารางให้ลูกอ่านหนังสือ ว่าอ่านวิชาอะไรก่อน หรือ หลัง ผมเริ่มเรียกโรงเรียนลูกว่า “โรงสอบ ” เพราะสอบทั้งปี ลูกผมไปสอบมากกว่าไปเรียน บ้านผมเริ่มกลายเป็นออฟฟิสย่อยๆ มีเครื่องถ่ายเอกสาร อุปกรณ์ในการเข้าเล่มรายงานทุกชนิด จำได้ว่า ตอนลูกผมขึ้นไปรับประกาศนียบัตรเด็กเรียนดี ผมบอกภรรยาว่า ความจริงแล้ว ภรรยาผมควร ขึ้นไปร่วมรับด้วยเป็นอย่างยิ่ง
ลูกผมไปเรียนที่ประเทศออสเตรเลียหลังจากจบชั้นประถมปีที่ 4 ที่เมืองไทย เข้าเรียน grade 5 เทอมที่ 3 เนื่องจากเวลาเปิดเทอมของที่นั่นต่างจากเมืองไทย ที่ออสเตรเลียเปิดเทอมต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปีหนึ่ง มี 4 เทอม เทอมละประมาณ 2 เดือน เมื่อลูกเริ่มเข้าเรียน ก็โชคดีที่ไม่มีปัญหาในการเรียนแต่อย่างใด สองอาทิตย์ผ่านไปหลังจากเข้าเรียน เราได้คุยกับอาจารย์ประจำชั้น สิ่งแรกที่เขาเอ่ยถึง คือลูกคุณโชคดีมาก ที่มีเพื่อนในทันทีที่เข้ามาเรียน ทำให้เราเห็นว่า เขาให้สิ่งสำคัญกับความสุขในการเรียนของเด็ก และเฝ้ามองการปรับตัวของเด็ก ในชั้นเรียนของลูกมีนักเรียนทั้งสิ้น 16 คน เวลาเพียงสองอาทิตย์ที่ลูกเข้าไปเรียน แต่ครูประจำชั้นดูจะรู้จักลูกของเราดีมาก รู้ว่าลูกยังมีปัญหาในการทำงานเป็นกลุ่ม แต่จะทำได้ดีมากเมื่อทำงานคนเดียวซึ่งอธิบายได้ว่าเป็นเพราะเพื่อนที่ทำงานกลุ่มด้วยกันยังไม่ให้ความเชื่อถือในตัวลูกเนื่องจากยังเป็นเด็กนักเรียนใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาในการปรับตัว สำหรับหลักสูตรการศึกษาของที่นี่ เด็กนักเรียนชั้น ประถม 1 ถึง ประถม 6 (year 1- year 6) จะไม่มีการบ้าน หรือ homework เด็กนักเรียนจะทำงานในชั้นเรียนเท่านั้น เวลาเรียนใน 1 คาบคือ 75 นาที ซึ่งหมายความว่า ครูจะมีเวลาอธิบายเนื้อหาในการเรียนได้เต็มที่ และครูจะไม่เร่งรัดเนื้อหาในการเรียน มีการทดสอบบ้างบางครั้ง แต่เป็นการทดสอบจริงๆ นั่นคือไม่มีการบอกล่วงหน้า จุดประสงค์คือต้องการรู้ว่า เด็กเข้าใจในสิ่งที่เรียนรู้มากน้อยเพียงใด เพื่อจะได้เตรียมการสอนถูก ซึ่งถ้าผลการทดสอบออกมาว่าเด็กส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจบทเรียน ก็คือจะทำการสอนย้ำใหม่ เด็กทุกคนจะได้รับคอมพิวเตอร์ laptop ส่วนตัวคนละเครื่อง เด็กๆ จะไม่มีการบ้านมาทำในสมุดการบ้าน แต่เด็กๆ จะได้รับมอบหมายให้ทำงาน (assignments) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหัวข้อเรื่องทั่วๆ ไป เช่น ความเปลียนแปลง และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโลก สิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่เกิดขึ้นบนโลก หรือการ อภิปราย(debate) ระหว่างกลุ่มโดยให้หาเหตุผลมาสนับสนุน หรือแม้กระทั่งในเรื่องของศิลปะ โดยส่วนใหญ่จะให้ทำงานบนคอมพิวเตอร์ของตนเอง ผมจะเห็นลูกนำ laptop กลับมาบ้าน ทำรายงานโดยค้นหาข้อมลด้วยตัวเอง ผ่าน google ใช้ programme photoshop ตกแต่งรายงาน และทำ presentation หน้าชั้นเรียนโดยใช้ programme power point ทั้งหมดด้วยตัวเอง ทั้งนี้เพราะลูกมีเวลาอย่างเต็มที่ เพราะไม่มีการบ้าน หรือการสอบมาให้กังวลใจ ถามว่าผมไม่เคยมีโอกาสสอนลูกใช้ programme เหล่านี้มาก่อนสมัยอยู่เมืองไทย ไม่ใช่เพราะผมไม่มีเวลาว่างสอน แต่ลูกผมไม่มีเวลาว่างให้ผมสอน แล้วลูกใช้ programme เหล่านี้เป็นได้อย่างไร คำตอบคือเพื่อนๆ ทุกคนในชั้นเรียนใช้กันเป็นแทบจะทุกคน เมื่อเห็นเพื่อนทำได้ ทำเป็น ลูกก็ให้เพื่อนนั่นแหละสอน คนที่มีความสุข เห็นจะเป็นภรรยาของผม เพราะไม่ต้องคอยเคียวเข็ญลูกอีกต่อไป ในช้นเรียน เมื่อมีบทเรียนใหม่ ครูจะแบ่งเด็กนักเรียนเป็นกลุ่ม แล้วบอกให้เด็กลองคิดวิธีแก้ปัญหาที่ครูให้มา (เด็กนักเรียนที่นีส่วนใหญ่จะไม่เรียนพิเศษในวิชาที่เป็นวิชาการ แต่จะเรียนพิเศษในวิชา ดนตรี หรือกีฬา ที่มีความสนใจเท่านั้น) ลูกกลับบ้านมาบอกด้วยความภูมิใจว่า เขาได้คิดแก้ไขปัญหาที่ครูให้มาได้สำเร็จในชั้นเรียน แม้จะใช้เวลากว่า ครึ่งชั่วโมง ในขณะที่อยู่เมืองไทยลูกบอกว่า แทบจะไม่เคยมีโอกาสได้คิด นอกจากนั้นที่นี่ให้ความสำคัญอย่างมากสำหรับเรื่อของกีฬา และสุขภาพ สำหรับเด็ก year 1-6 ในหนึ่งอาทิตย์จะมีวิชาพละอย่างน้อย 3 ครั้งในหนึ่งสัปดาห์ และหนึ่งครั้งในนั้น กินเวลาครึ่งวัน เพื่อให้เด็กเล่นกีฬาอย่างเด็มที่ โดยให้เด็กนักเรียน เลือกกีฬาที่ตนสนใจ สลับกันไป จึงไม่น่าแปลกใจที่เห็นลูกร่างกายแข็งแรงขึ้นอย่างมาก ปีหนึ่งแทบจะป่วยเป็นหวัดไม่เกิน สอง ถึง สามครั้ง ในขณะทีอยู่เมืองไทย ต้องหาหมอแทบจะทุกสองเดือน สำหรับนักเรียน year 7 -12 เด็กนักเรียนทุกคน จะต้องออกไปแข่งกีฬานอกสถานที่เพิ่มเติม กับโรงเรียนอื่นๆ เกือบทุกวันเสาร์ โดยเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองที่จะต้องขับรถตระเวนพาลูกไปร่วมแข่งขันตามโรงเรียนต่างๆ
สำหรับผลการเรียนในระดับประถมเนื่องจากไม่มีการสอบดังนั้นรายงานผลการเรียนจะไม่มี การให้เกรดชัดเจนในแต่ละวิชาจะมีการประเมินผลแยกย่อยลงไปในรายละเอียดของแต่ละหัวข้อว่า ในแต่ละหัวข้อการเรียน เด็กมีความสามารถในการเข้าใจ และความตั้งใจในการเรียนรู้มากแค่ไหน ดังนั้นรายงานผลการเรียนจะมาเป็นเล่ม เพราะแยกแยะรายละเอียดเนื้อหา ผู้ปกครองจะเห็นได้ว่าลูกของตนโดดเด่น หรืออ่อนด้อยให้เนื้อหาส่วนไหนของการเรียน ไม่ใช่แค่เพียงเห็นการประเมินการเรียนเป็นรายวิชาเท่านั้น แรกๆ ภรรยาผมมีความกังวลใจนิดหน่อยเมื่อเห็นลูกไม่เคยมีการบ้านกลับมาทำ (ในขณะที่อยู่เมืองไทยก็บ่นว่ามีมากเกินไป) แต่สิ่งที่เขากังวลสงสัยไม่แน่ใจ ก็ได้รับคำตอบ ในปีนี้ เนื่องจากปีนี้ลูกผมเริ่มเรียน year 7 หรือเทียบเท่ากับ มัธยม 1 ของบ้านเรา สิ่งที่เขาได้สั่งสมในช่วงประถม เป็นการปูพื่นฐาน เตรียมความพร้อม ทำให้เขาพร้อมอย่างยิ่งสำหรับการเรียนในนี้ และปีต่อๆ ไป เพราะสำหรับที่นี่ เมื่อเริ่มเรียน year 7 การเรียนก็จะเริ่มเข้มข้น และจริงจังขึ้น มีการสอบวัดผล เป็นกิจลักษณะมากขึ้น และเริ่มมีการให้ เกรดการเรียน เรียกว่าเด็กทุกคนจะต้องปรับตัวในวิธีการเรียน (ลูกเล่าให้ฟังว่า ตอนอยู่ year 6 เขาและเพื่อนๆ ได้ไปคุย และสอบถามรุ่นพี่ ว่าการเรียนใน year 7 มีอะไรแตกต่างและต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง ซึ่งรุ่นพี่ก็จะเล่าให้ฟัง เพื่อนๆ ลูกโวยวาย และบ่นกลุ้มใจที่จะต้องมีการสอบวัด เกรด ในขณะที่ลูกบอกเพื่อนว่า เขาไม่ตื่นเต้นหรอก เพราะเขาน่ะ ผ่านการสอบมาตั้งแต่ชั้นประถม 1 ที่เมืองไทยมาแล้ว ทำเอาเพื่อนๆ โวยวายกันใหญ่ว่า บ้าหรือเปล่า ที่สอบตั้งแต่เรียน ประถม 1) การเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ที่นี่ จะให้เด็กทำการทดลองในห้อง แล็บ ให้เห็นที่มาที่ไป และผลของการทดลองก่อนที่จะสอนทฤษฎี เพราะเขาเชื่อว่าจะทำให้เด็กนักเรียน เข้าใจได้ดีกว่า ซึ่งเป็นการสอนกลับกับวิธีการสอนในบ้านเรา สิ่งที่ผมเห็นความเปลียนแปลงในตัวลูกก็คือ
1) เขารู้จักจัดสรร แบ่งเวลาเอง เมื่อถึงเวลาสอบ ลูกก็เข้าไปในห้อง อ่านหนังสือเตรียมสอบด้วยตนเอง โดยไม่ต้องมีใครมาบอกว่าต้องอ่านหนังสือ เม่ือไร อย่างไร ในขณะเดียวกัน เมื่อต้องทำรายงาน เขาก็สามารถทำรายงานได้ในเวลาที่รวดเร็วขึ้น และรู้ว่าเขาสามารถหาแหล่งข้อมูลได้จากไหน การทำ presentation ก็สามารถทำได้ดี และรวดเร็ว เพราะเขาได้ถูกเตรียมตัวมาแล้วจากในปีที่ผ่านๆ มา แน่นอนบางครั้งเขาก็มีความเครียดบ้าง เมื่อมี รายงาน และการสอบในเวลาใกล้เคียงกัน แต่นั่นก็เป็นปัญหาที่เขาจะต้องเรียนรู้ และรู้จักวางแผน และจัดการในเรื่องของเวลา
2) ผมเห็นความมั่นใจที่เพิ่มขึ้นในตัวลูก (confidence & independence) เขาเรียนรู้ว่าเขาสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ และ ทำให้คนยอมรับตัวเขาได้ เมื่อเขาตั้งใจทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จด้วยตัวของเขาเอง แม้ว่าเขาอาจจะทำไม่ได้ดีที่สุด แต่ผลของความพยายามก็สร้างความภูมิใจให้ตัวเองได้
3) นอกจากนี้ในสังคมที่เปลี่ยนไป เขาเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับคนอื่นๆ เขามีความเข้มแข็งมากขึ้นในด้านจิตใจ เรื่องของการ รังแก (bully) เป็นปัญหาใหญ่ของที่นี่ จน ทุุกโรงเรียนจะต้องมีครูที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านนี้โดยเฉพาะ เด็กๆ หลายๆ คนถูก bully จนต้องฆ่าตัวตายเป็นจำนวนไม่น้อย
ดังนั้นพูดโดยภาพรวมในเรื่องของการศึกษาผมต้องขอบอกว่าผมมีความพึงพอใจในความ เปลี่ยนแปลงนี้ ……”
.
ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th