เครื่องจักรผลิตน้ำมันปาล์ม
ในปัจจุบันราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้นรัฐบาลจึงหันมาส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็น เอทานอล ไบโอดีเซล ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น มีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนนี้ ทำให้ผู้บริโภคได้หันมาใช้พลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันการใช้น้ำมันไบโอดีเซลมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก (~7.41 ล้านลิตรต่อวัน) และยังมีการส่งเสริมให้เกษตรกรให้มีการเพาะปลูกต้นปาล์มเพิ่มมากยิ่งขึ้น จาก 3.07 ล้านไร่ในปัจจุบัน และเพิ่มเป็น 8 ล้านไร่ภายในปี 2552 ซึ่งจะทำให้มีปริมาณผลผลิตของปาล์มน้ำมันประมาณ 24 ล้านตันต่อปี
วันนี้ประเทศไทยมีโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มหลายแห่ง ที่ทันสมัยมากแห่งหนึ่งคือ บริษัท เอเชียนน้ำมันปาล์ม มีกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์ม การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และการนำน้ำเสียจากกระบวนการผลิตมาบำบัดเป็นก๊าซซีวภาพ จนถึงการนำก๊าซชีวภาพมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับโรงงานและจำหน่าย ตามไดอะแกรม โดยเป็นระบบการผลิตแบบหีบเปียกในการสกัดเอาน้ำมันดิบออกมา ผลปาล์มสดถูกนำทั้งทะลายมาเข้าเครื่องนึ่งด้วยไอน้ำ หลังจากทำการนึ่งแล้วก็นำมาผ่านเครื่องนวดกวนเพื่อแยกเอาเนื้อและเมล็ดออกจากกัน ในส่วนที่เป็นเนื้อผลปาล์มจะถูกลำเลียงเข้าเครื่องเพื่อทำการหีบ หรือ “สกัดด้วยแรงกดอัด” เอาน้ำมันดิบออกมา ผ่านเครื่องกรองแยกน้ำมันเข้าสู่ถังเก็บน้ำมันปาล์มดิบ ในส่วนที่เป็นเมล็ด จะถูกนำเข้าเครื่องอบและกะเทาะออกจากกะลา เพื่อนำเนื้อในของเมล็ดไปสกัดเอา
น้ำมันอีกครั้งหนึ่ง ในปัจจุบัน เอเชียนน้ำมันปาล์ม มีกำลังการผลิตน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 41,000 ตันน้ำมันดิบ/ปี จากจำนวนของผลปาล์มสด 216,000 ตัน
อันที่จริงขั้นตอนการสกัดน้ำมันในปัจจุบันมีอยู่สองวิธีการหลักๆ คือ 1) การสกัดด้วยตัวทำละลาย ปิโตรเลี่ยมอีเทอร์ซึ่งจะได้ปริมาณน้ำมันประมาณ 34% (ทำในห้องวิจัย) 2) สกัดด้วยแรงกดอัด หรือเรียกว่าหีบ ดังเช่น บริษัท เอเชียนน้ำมันปาล์ม
ซึ่งปัจจุบันในโรงงานส่วนใหญ่ได้ใช้กระบวนการสกัดน้ำมันประเภทนี้อยู่ และต้องนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ นอกจากนี้ปริมาณน้ำมันที่สกัดได้จากเครื่องจักรดังกล่าว อยู่ที่ประมาณ 25% ของน้ำหนักปาล์ม ซึ่งหากมีการปรับปรุงพัฒนาเครื่องจักรดังกล่าวเพื่อลดการสูญเสียน้ำมันที่ติดอยู่ที่กากของผลปาล์มได้ จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
ด้วยเหตุนี้ทางฟีโบ้ จึงได้วางแผนใช้ศักยภาพด้านเทคโนโลยีที่มีอยู่เข้าช่วยเหลืออุตสาหกรรมนี้ในการออกแบบเครื่องจักรกลอัตโนมัติที่จำเป็นต้องใช้ในขบวนการผลิตน้ำมันปาล์ม เราเล็งเห็นว่า เครื่องจักรที่ใช้ในการหีบปาล์มในปัจจุบันที่นำเข้าจากต่างประเทศยังด้อยประสิทธิภาพ ฟีโบ้สามารถปรับปรุงพัฒนาให้เพิ่มประสิทธิภาพได้ โดยการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตบางส่วนอาทิเช่น การปลอกเปลือกแล้วแยกกากออกก่อนแล้วค่อยนำมาเข้าตู้อบ เพื่อจะทำให้ปริมาณการสูญเสียน้ำมันที่ติดไปกับกากลดน้อยลง และยังช่วยเพิ่มพื้นที่ในส่วนของห้องอบ เนื่องจากไม่มีกากติดรวมอยู่ด้วย และยังสามารถปรับปรุงขนาดของเครื่องจักรให้เหมาะสมกับปริมาณวัตถุดิบที่ป้อนเข้าสู่โรงงานช่วยแก้ไขปัญหาวัตถุดิบไม่เพียงพอทำให้ต้องรอรวมวัตถุดิบกัน 2-3 วัน แล้วจึงเดินเครื่องจักร ทำให้ปาล์มคุณภาพตกลงอันเนื่องจากปาล์มเกิดเน่าเสียขึ้นได้ อย่างไรก็ตามเป้าหมายสูงสุดของฟีโบ้คือการออกแบบหรือทำเครื่องจักรต้นแบบแล้วขยายผลสร้างเองภายในประเทศไทย เพื่อลดต้นทุนการนำเข้าเครื่องจักร เทคโนโลยีอัตโนมัติเพื่อการควบคุมตัวแปรที่มีผลต่อการผลิตจักถูกนำมาใช้ในเครื่องจักรกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์มทั้งสี่ขั้นตอนหลัก คือ 1) นำเม็ดปาล์มออกจากทะลาย 2) การอบเม็ดปาล์ม 3) การบีบอัดเม็ดปาล์มเพื่อรีดน้ำมัน และ 4) การกรองเพื่อให้ได้น้ำมันปาล์มที่สมบูรณ์แบบ
หากผู้ผลิตเครื่องจักรไทยรายใด สนใจทำงานร่วมกันแลเข้ารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีโปรดติดต่อที่สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามครับ
ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th