การแข่งขัน เก้าอี้หุ่นยนต์ไต่บันได - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • English
    • Thai

การแข่งขัน เก้าอี้หุ่นยนต์ไต่บันได

logo robot brain

การแข่งขัน เก้าอี้หุ่นยนต์ไต่บันได

2010-09-06 03ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ผมได้ริเริ่มการแข่งขันหุ่นยนต์ในประเทศไทยหลายรายการและหลายระดับ ในช่วงต้นกิจกรรมเหล่านี้อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี  หลังจากที่มีการจัดตั้งสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยแล้ว ชาวสมาคมจึงได้ดำเนินการแข่งขันหุ่นยนต์ต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในช่วงนายกสมาคมคนที่สี่ ผศ.ดร. จักรกฤษณ์ ศุธทากรณ์ ประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างสูงสุด เยาวชนไทยมีความสามารถมาก  เหนือกว่าชนชาติอื่น ได้ก้าวขึ้นเป็นแชมป์โลกหุ่นยนต์หลายรายการ  ผมขอขอบคุณผู้อุปถัมภ์ของสมาคมที่อยู่เบื้องหลังให้การสนับสนุนอย่างดียิ่ง คือ บริษัท ซีเกทเทคโนโลยี (ประเทศไทย) SCG (มหาชน) เอเชี่ยนฮอนด้า อสมท ปตท และ สวทชกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนยี ฯลฯ

ในช่วงต้นผมได้ชี้ให้กรรมการบริหารสมาคมเห็นถึงเป้าหมายหลักของการแข่งขันหุ่นยนต์เหล่านี้ นั่นคือเพื่อกระตุ้นให้เยาวชนมีความสนใจเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และเปิดโลกทัศน์สู่เวทีโลก จนประเทศมหาอำนาจทางเทคโนโลยี อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และ เยอรมันนี ยอมรับศักยภาพของประเทศไทยในเรื่องหุ่นยนต์  อย่างไรก็ตามผมขอน้อมรับคำวิพากษ์วิจาร์ณแต่ไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมดว่า การแข่งขันเหล่านี้สิ้นเปลืองเวลาและงบประมาณ เพียงเน้นให้เด็กๆมาแข่งขันเอาแต่เพียงความสนุกสนานอย่างเดียวไม่มีผลลัพท์ที่เป็นเทคโนโลยีของไทยหรือระบบที่สามารถไปใช้ประโยชน์ได้จริงเลย  ทั้งนี้ข้อเท็จจริงคือศิษย์เก่าการแข่งขันหุ่นยนต์กว่าสองหมื่นคนได้กระจายทำงานอยู่ตามโรงงานอุตสาหกรรม มีบ้างที่เปิดธุรกิจของตนเองสร้างหุ่นยนต์ไทย  ผมเชื่อว่าเขาเหล่านั้นมีบทบาทสำคัญในการออกแบบ คิดค้น ประยุกต์รวมถึงดัดแปลงเทคโนโลยีหุ่นยนต์ในงานต่างๆที่ตนได้รับผิดชอบอยู่

เมื่อเดือนก่อน ท่านศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ได้ติดต่อผมและเสนอว่าอยากให้ช่วยจัดการแข่งขัน เก้าอี้หุ่นยนต์ไต่บันได ผมเห็นว่าเป็นการแข่งขันที่สามารถนำผลลัพท์ไปใช้ประโยชน์ได้ และเป็นการนำคำวิพากษ์วิจาร์ณข้างต้นมาปรับปรุงกิจกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์ของสมาคมอีกด้วยครับ

เก้าอี้รถเข็น (Wheelchair) นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งของผู้พิการที่ต้องใช้ในการเคลื่อนที่แต่อุปสรรคสำคัญอันหนึ่งคือการเคลื่อนที่ขึ้นบันไดของรถเข็น การแข่งขันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาซึ่งแนวคิดในการสร้างเก้าอี้รถเข็นไต่บันไดได้ ที่สามารถสร้างขึ้นเองได้ใน2010-09-06 04ประเทศไทย และสามารถนำแนวคิดในการออกแบบสร้างนี้เพื่อนำไปต่อยอดในการผลิตเพื่อทำเป็นอุตสาหกรรมให้กับผู้พิการที่ต้องใช้เก้าอี้รถเข็นในการเคลื่อนที่

ผมได้ขอให้ รศ. ดร. ภูดิส ลักษณะเจริญ เป็นประธานการแข่งขัน และอยู่ระหว่างการทาบทาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเป็นเจ้าภาพการแข่งขัน มหาวิทยาลัยนี้มีการสนับสนุนการแข่งขันหุ่นยนต์มากที่สุดของประเทศไทย รายละเอียดการแข่งขันอย่างไม่เป็นทางการมีดังต่อไปนี้ครับ

ลักษณะการแข่งขัน
การแข่งขันเก้าอี้รถเข็นไต่บันได เป็นการแข่งขันออกแบบและพัฒนารถเข็น(wheelchair) ที่มีความสามารถในการเคลื่อนที่ไต่บันไดโดยทางกลไกและการควบคุมทางพลศาสตร์ ซึ่งเก้าอี้รถเข็นจะต้องสามารถบรรทุกน้ำหนัก 50 kg ให้เคลื่อนที่ขึ้นบันได และกลับตัวลงบันไดได้โดย สามารถใช้ผู้ร่วมประคองเก้าอี้รถเข็น 1 คน ขนาดของบันไดมีความกว้าง 1500 mm ลูกตั้งสูง 200 mm ลูกนอน220 mm ความสูงทั้งหมด 2000 mm ไม่มีราวบันได พื้นด้านบนชานบันไดมีความกว้าง 1500 mm ยาว 2000 mm

เก้าอี้รถเข็นที่ใช้แข่งขัน
ผู้เข้าแข่งขันสามาถใช้เก้าอี้รถเข็นที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเอง หรือเก้าอี้รถเข็นที่มีขายตามท้องตลาดก็ได้นำมาปรับปรุงพัฒนาต่อให้ใช้พลังงานในการขับเคลื่อนที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ เช่น พลังงานไฟฟ้า พลังงานลม หรือ พลังงานเคมี ส่วนพลังงานจากเครื่องยนต์เผาไหม้ไม่อนุญาต

2010-09-06 05คุณสมบัติของเก้าอี้รถเข็น
ไม่จำกัดรูปแบบ แต่ขนาดความ กว้าง x ยาว x สูง ต้องไม่เกิน 1100 mmอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในการควบคุม มอเตอร์ แบตเตอรี่ และวงจรไฟฟ้าต่างๆ อนุญาตให้ติดตั้งภายนอกเก้าอี้รถเข็นได้ โดยพลังงานไฟฟ้าสามารถใช้ไฟฟ้ากระแสสลับขนาดแรงดัน 220 V ต่อสายเข้ามาที่เก้าอี้รถเข็นได้ ไม่มีข้อจำกัดใน เซนเซอร์ที่ใช้และอุปกรณ์ควบคุมที่ใช้

เวลาในการแข่งขัน
เวลาที่ใช้ในการแข่งขันสูงสุดของแต่ละทีม คือ 5 นาที ผู้เข้าแข่งขันสามารถขอยุติการแข่งขันของทีมตนเองก่อนหมดเวลาได้ ผู้เข้าแข่งขันสามารถขอ Retry ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง

การพิจารณาผลการแข่งขัน
ทำการแข่งขันทั้งหมด 3 ครั้ง ผลการแข่งขันจะพิจารณาจากคะแนนคะแนนรวม = จำนวนขั้นบันไดที่เคลื่อนที่ขึ้น + จำนวนขั้นบันไดที่เคลื่อนที่ลง -(0.01x เวลาที่ใช้ในการไต่บันไดเป็นวินาที) ทีมที่ได้คะแนนสูงที่สุดเป็นฝ่ายชนะ

คุณสมบัติของทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน
สมาชิกในทีมต้องเป็นนักศึกษาระดับอาชีวศึกษา ระดับอุดมศึกษา หรือสูงกว่าในสถาบันการศึกษาในประเทศไทยสมาชิกในทีม 6 คน และ อาจารย์ที่ปรึกษา 2 ท่าน

ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th

Categories: Post from Dr.Jiit