อบรมฮิวแมนนอยด์
สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยและสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) จะจัดการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2554 ครั้งที่ 2 ผมคิดว่าเป็นการแข่งขันที่ท้าทายมากที่สุดอันดับหนึ่งในการแข่งขันหุ่นยนต์ทั้งหมด หุ่นยนต์อัตโนมัติต้องมีความสามารถสูงสุดเดินได้เหมือนมนุษย์ การประสานงานกันเป็นทีม และทักษะในเกมการเข่งขันฟุตบอล ผู้ชนะเลิศจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขัน World Robocup 2011 (Humanoid League) ณ ประเทศตุรกี
ตารางการแข่งขันของฮิวมานอยด์
15 กันยายน 2553 28 ตุลาคม 2553 29 ตุลาคม 2553 7 มกราคม 2554 15-16 มกราคม 2554 16 มกราคม 2554 19 – 20 มีนาคม 2554 26 – 27 มีนาคม 2554 4 – 10 กรกฎาคม 2554 |
เปิดเวปไซด์การแข่งขัน ชี้แจงกติกา และตอบข้อสงสัย เปิดรับสมัครทีมเข้าร่วมการแข่งขัน ปิดรับสมัครทีมเข้าร่วมแข่งขัน พิจารณาผลงานของผู้เข้าสมัคร และอบรมขั้นสูงในการพัฒนาหุ่นยนต์ ประกาศผลผู้ผ่านรอบคัดเลือก 10 ทีม แข่งขันรอบคัดเลือก เหลือ 4 ทีม แข่งขันรอบชิงชนะเลิศประเทศไทย เข้าร่วมการแข่งขัน World Robocup Soccer ณประเทศตุรกี |
15-16 มกราคม 2554 คณาจารย์ในสายหุ่นยนต์จะอบรมขั้นสูงในการพัฒนาหุ่นยนต์ให้กับทุกทีมที่ส่งหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์เข้าสมัครในรอบคัดเลือก และผู้ที่สนใจทั่วไป ณ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) อาคารนวัตกรรมการเรียนรู้เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (สถานที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง ขึ้นอยู่กับจำนวนคนที่ลงสมัคร) ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในเวปไซด์ http://www.thailandhumanoid.org/
หัวข้อที่จะอบรม
- เทคนิคการควบคุมการทรงตัว และการเดินขั้นสูง
- เทคนิคการจัดการทรัพยากรในตัวหุ่นยนต์
- เทคนิคระบบประมวลผลภาพ
- เทคนิคการสร้างวิธีคิดของระบบอัจฉริยะ
หลังจากเข้ารับการอบรม นักศึกษาที่เข้าแข่งขันจักสามารถโปรแกรมให้หุ่นยนต์กำหนด ระยะก้าวของการเดิน, ความสูงในการก้าวเดิน, ความเร็วในการเดิน โดยสภาวะแวดล้อมที่ถูกสร้างขึ้นนั้นประกอบไปด้วย พื้นราบ,พื้นเอียง,หลุม,เครื่องกีดกั้น และบันได ดังรูป
เพื่อให้ระบบการมองเห็นสามารถทำงานกับหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ได้ดี ผู้ออกแบบหุ่นยนต์ควรดำเนินการดังต่อไปนี้
- ศึกษาถึงการนำสัญญาณภาพจากกล้องคู่ (Stereo Vision) เพื่อใช้ในการตีความและประมวลผล โดยผ่านกระบวนการต่างๆ (Preprocessing) ก่อนที่จะส่งข้อมูลไปกระบวนการตีความโดย มีขั้นตอนตามลำดับดังนี้การลดสัญญาณรบกวน (Noise Filtering) การสอบเทียบกล้อง (Camera Calibration) การซ้อนภาพ (Image Rectification)และกระบวนการหาความลึกของภาพ(Depth Estimation)
- ออกแบบระบบตีความ (Cognition)จากสัญญาณภาพ โดยใช้ความสัมพันธ์ทางคณิตศาสตร์และเทคนิคของ(Stereo Vision) เช่น การแยกลักษณะทางกายภาพ (Feature Extraction) และการเปรียบเทียบทางกายภาพ(Stereo Matching)
- ศึกษาถึงการนำข้อมูลจากการตีความจากสัญญาณภาพกำหนด
เส้นทางเคลื่อนที่และขั้นตอนการเดิน (Foot Step Planning)ไปยังจุดหมาย โดยหาความสัมพันธ์ทางคณิตศาสตร์ประยุกต์ใช้ร่วมกับศาสตร์ทางด้านหุ่นยนต์ เพื่อกำหนดหรือสร้างรูปแบบการเดินให้สอดคล้องกับรูปร่างและกลไกของหุ่นยนต์
- ทดสอบขั้นตอนของโปรแกรมเบื้องต้น โดยนำสัญญาณภาพมาวิเคราะห์ตามขั้นตอนที่ได้กล่าวมาในข้างต้นเพื่อคำนวณหาข้อมูลและตัวแปรสำคัญที่ใช้ในการเดินของหุ่นยนต์
- จำลองการเคลื่อนของหุ่นยนต์จากการทดลองที่ได้กำหนดขึ้น ให้สอดคล้องกับการทดลองจริงเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ผล
เมื่อหุ่นยนต์เดินแบบอัตโนมัติหุ่นยนต์ก็จะทำการเปรียบเทียบกันระหว่างภาพที่มองเห็นในปัจจุบันกับภาพที่ถูกเก็บไว้แล้ว โดยใช้ทฤษฎีความเหมือนกันของภาพ (Image Correlation) เพื่อเปรียบเทียบว่าตอนนี้อยู่ที่ตำแหน่งใดของเส้นทางแล้ว และมีความเบี่ยงเบนจากภาพเดิมเท่าไรและเมื่อถึงเป้าหมายก็จะหยุด
ผมหวังว่าน้องๆนักศึกษาที่เข้าร่วมการแข่งขันจะ “เพลิน (Plearn= Play+Learn)” กับกิจกรรมนี้ที่สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยร่วมกับสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม(ฟีโบ้) จัดขึ้นนะครับ
ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th