บูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับการรถไฟแห่งประเทศไทย - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • English
    • Thai

บูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับการรถไฟแห่งประเทศไทย

logo robot brain

บูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับการรถไฟแห่งประเทศไทย

สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้รับทราบดำริของการรถไฟแห่งประเทศไทยในความต้องการที่จะพัฒนาระบบสารสนเทศโดยเริ่มจากระบบงานซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน ระบบงานจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุก่อน (CMMs, Inventory และ Train Tracking) ทางฟีโบ้ จึงได้ทำการศึกษา ระบบการทำงาน วิธีการปฎิบัติงาน รวมทั้งปัญหาที่เกิดจากการปฎิบัติงานต่างๆ ของการรถไฟ และหลังจากนั้นจึงได้ทำการออกแบบระบบสารสนเทศสำหรับ CMMs, Inventory และ Train Tracking รวมถึงการวางแผนงานการติดตั้งระบบ ตลอดจนการปฎิบัติการวางแผนการปฎิบัติการใช้และดูแลรักษาระบบ อีกทั้งยังนำเสนอรายละเอียดของงบประมาณของระบบสารสนเทศ CMMs, Inventory และ Train Tracking ไทยในการพัฒนาระบบสารสนเทศต่อไปในอนาคต

การรถไฟแห่งประเทศไทย
เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ ภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ดำเนินการและนำมาซึ่งความเจริญของกิจการรถไฟเพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชนและดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับการขนส่งของรถไฟและธุรกิจอื่นซึ่งเป็นประโยชน์แก่กิจการรถไฟ โดยให้บริการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า มีโครงข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ (47 จังหวัด) ระยะทางกว่า 4,000 กิโลเมตร

ภารกิจหลักของการรถไฟแห่งประเทศไทย มีหลากหลายลักษณะทั้งด้านจัดดำเนินการและนำมาซึ่งความเจริญของกิจการรถไฟเพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ ที่มีหลักการสำคัญในการปรับบทบาทการทำงาน ปรับระบบงบประมาณ ปรับระบบการบริหารงานบุคคล ปรับกฎหมายรวมทั้งปรับวัฒนธรรมและค่านิยม โดยมีรายละเอียดภารกิจหลักและอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ พ.ศ.2494 มาตรา 9 ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยในรอบปีที่ผ่านมา การรถไฟฯ ได้ให้บริการด้านการโดยสารกว่า 46 ล้านคน ระยะการเดินทางกว่า 8,200 คน/กม. มีรายได้จากการโดยสารประมาณ 4,200 ล้านบาท สำหรับในด้านการขนส่งสินค้านั้น การรถไฟฯ สามารถให้บริการได้ประมาณ 14 ล้านตัน โดยมีน้ำหนักการขนส่ง/ระยะทางรวมกว่า 3,200 ล้านตัน/กม. และมีรายได้ด้านการสินค้าประมาณ 2,400 ล้านบาท ทั้งนี้การขนส่งทางรถไฟฯ มีจุดแข็งและข้อได้เปรียบที่สามารถขนส่งสินค้าได้ปริมาณมาก ประหยัดพลังงาน ดังนั้นหากการรถไฟฯ ปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้มีข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว ทันเวลา การรถไฟฯ จะมีบทบาทด้านการขนส่งสินค้าซึ่งช่วยในการประหยัดเชื้อเพลิงของชาติและการพัฒนาระบบ Logistics เพื่อการลดต้นทุนของประเทศอย่างมาก

2010 11 22 02

การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ มีจำนวนพนักงาน 12,483 คน และลูกจ้างเฉพาะงาน 3,907 คน (ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2552) มีการแบ่งโครงสร้างตามลักษณะหน้าที่ความรับผิดชอบในการดำเนินงาน ซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานระดับฝ่าย และสำนักงานกว่า 20 หน่วยงาน ประกอบด้วย ฝ่ายบริหารงานบุคคล ฝ่ายการเงินและการบัญชี ฝ่ายการเดินรถ ฝ่ายการพาณิชย์ ฝ่ายการช่างกล ฝ่ายการช่างโยธา ฝ่ายการอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม ฝ่ายระบบข้อมูล ฝ่ายการพัสดุ ฝ่ายบริหารทรัพย์สิน ฝ่ายตรวจสอบภายใน ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง สำนักผู้ว่าการ สำนักงานอาณาบาล สำนักงานแพทย์ สำนักนโยบายแผน วิจัย และพัฒนา สำนักงานขนส่งคอนเทนเนอร์ สำนักบริหารโครงการระบบรถไฟฟ้า สำนักจัดการทรัพย์สิน ฯลฯ โดยมีการแบ่งระดับชั้นของพนักงาน เป็น 15 ระดับ มีสายการบังคับบัญชา ตั้งแต่ระดับ หมวด แผนก กอง ศูนย์ สำนัก ฝ่าย ผู้ช่วยผู้ว่าการ รองผู้ว่าการ และ ผู้ว่าการ ซึ่งทำให้การดำเนินงานมีขั้นตอนมาก ใช้เวลานาน และมีความซ้ำซ้อนตามธรรมชาติขององค์กรขนาดใหญ่

2010 11 22 031

การรถไฟแห่งประเทศไทย นับเป็นหน่วยงานภาครัฐอันดับต้น ๆ ที่ได้นำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว หากแต่ขาดการพัฒนาที่ต่อเนื่อง ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ล้าสมัย และไม่ครอบคลุมการปฏิบัติงานด้านต่าง ๆ คงมีเพียงระบบขายตั๋วโดยสารและสำรองที่นั่งขั้นที่ 2 (Seat Ticketing and Reservation System Stage 2: STARS-2) และระบบงานเงินเดือน ที่มีการพัฒนาสามารถใช้งานได้ดีในระดับหนึ่ง แต่สำหรับระบบงานอื่น ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่นระบบงานซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน ระบบงานจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุ ยังคงอาศัยการปฏิบัติงานด้วยคนเป็นหลัก ทำให้กระบวนการทำงานไม่เป็นมาตรฐาน และประสิทธิภาพการทำงานลดต่ำลง เป็นเหตุให้ค่าใช้จ่ายดำเนินการสูงขึ้นถึงระดับ 10,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่มีรายได้ประมาณ 9,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งกล่าวได้ว่าการรถไฟฯ ประสบปัญหาด้านระบบสารสนเทศดังนี้

  1. การขาดการประสานรวมกันของระบบงาน
    ระบบข้อมูลสารสนเทศที่มีมาแต่เดิมนั้น ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาในแต่ละหน่วยงานแยกกันไป โดยมุ่งเน้นความสะดวกของผู้ใช้งานระดับปฏิบัติการในหน่วยงานนั้น ซึ่งยึดติดกับการปฏิบัติงานแบบดั้งเดิม ผลที่ตามมาก็คือ ระบบข้อมูลสารสนเทศที่สร้างขึ้นมาจะแตกต่างกันไปตามหน่วยงานต่าง ๆ ที่เป็นเอกเทศต่อกัน ทำให้เกิดความล่าช้าของการไหลหรือการเชื่อมต่อของข้อมูลระหว่างระบบงานที่ต่างกัน ซึ่งจะเป็นอุปสรรคทำให้ไม่สามารถสร้างระบบงานที่รวดเร็วได้
  2. การขาดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของข้อมูล
    เนื่องจากมีการกระจัดกระจายของข้อมูลอยู่ตามหน่วยงานต่าง ๆ และมีระบบข้อมูลสารสนเทศแยกหน่วยตามหน่วยงานต่าง ๆ กัน ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนของข้อมูล และการที่จะให้หน่วยงานต่าง ๆ ใช้ข้อมูลร่วมกันนั้นเป็นไปได้ยาก ทำให้เป็นอุปสรรคกีดขวางการทำงานประสานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ไม่สามารถทำให้แต่ละหน่วยงานจะใช้ความสามารถของตนเองอย่างเต็มประสิทธิภาพในการช่วยกันแก้ปัญหาและบริหารงานบนฐานข้อมูลที่ถูกต้องตรงกัน
  3. การขาดความรวดเร็วในการตอบสนอง
    ระบบข้อมูลสารสนเทศในปัจจุบัน ข้อมูลจะถูกประมวลผลแบบ Batch Processing เป็นช่วง ๆ เช่น เดือนละครั้ง ฯลฯ ทำให้ข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน ถูกส่งรวบรวมไปประมวลผลล่าช้าไม่ทันต่อการใช้งานของฝ่ายบริหาร ดังนั้นการบริหารที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ ณ เวลานั้น (Real Time) เพื่อการตัดสินใจได้ทันท่วงที (Timely Decision) เป็นไปไม่ได้และเกิดขึ้นได้ยาก
  4. ความไม่ยืดหยุ่นของระบบข้อมูลสารสนเทศ
    จากการที่ระบบข้อมูลสารสนเทศถูกพัฒนาขึ้นมาใช้เฉพาะงานและบางส่วนพัฒนากันขึ้นมาเอง ระบบจึงประกอบด้วยโปรแกรมที่มีขนาดใหญ่ ขาดมาตรฐานและเอกสารคู่มือ ทำให้การดูแลและแก้ไขเพิ่มเติมเป็นไปด้วยความลำบาก จึงเป็นการยากต่อการปรับปรุงเพื่อให้สามารถรับมือกับการบริหารเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันในเชิงธุรกิจที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้

ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th

 

Categories: Post from Dr.Jiit