บรอดแบนด์สารสนเทศ
และระบบการศึกษา
(บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการหารือระหว่างผู้เขียนกับ ศาตราจารย์เฟดเดอริก โมเวนซาเดห์ แห่งสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาซูเซส–เอ็มไอที)
สมัยก่อนโรงละครเป็นสถานที่สำคัญที่บรรดาเหล่าศิลปินใช้แสดงบทบาท ส่งผ่านอารมณ์และความคิดไปยังผู้ชมที่อยู่ตรงหน้า นักแสดงมืออาชีพเหล่านี้ต้องท่องจำบทให้แม่นยำ กระทั่งสร้างบรรยากาศเสมือนหนึ่งตนเองเป็นตัวละครนั้นจริงๆน้ำเสียงต้องหนักแน่น คุณดุ๊ก–ภาณุเดช แห่งสมรภูมิไอเดีย ช่อง 3 เคยให้ความรู้ผมว่าการแสดงละครบนเวทีมีความยุ่งยากกว่าแอ๊กชั่นภาพยนต์เสียอีก นักแสดงต้องสามารถเปล่งเสียงจากท้องได้ตอนจังหวะสมควร เพื่อความจริงจังและต่อเนื่อง
เมื่อเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ได้รับการพัฒนาในวงการบันเทิง Animation และ Movie Effects ได้มีส่วนช่วยให้การแสดงง่ายขึ้น บทภาพยนต์ทดแทนบทละคร โรงละครกลายเป็นโรงภาพยนต์ที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ด้วยเครือข่ายบรอดแบนด์สารสนเทศ ผู้ชมทั่วโลกสามารถเพลิดเพลินรายการสำคัญๆพร้อมกันได้อย่างง่ายดาย
ผมเห็นว่าวงการอุดมศึกษาและการทำงานวิจัยหลายแห่งทั่วโลก กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ (Transformation) เช่นเดียวกันกับวงการละครข้างต้นเมื่อ 100 ปีที่แล้ว อรรถรสบางอย่างที่มีอยู่ในละครเวที อาจหายไปและถูกทดแทนด้วยสิ่งใหม่ในภาพยนต์ที่มีมิติแตกต่างกันไป เด็กวัยรุ่น หากเดินทางกลับไปอดีตได้คงทนไม่ได้กับบทละครที่เชื่องช้าและบางตอนก็ “พูดเยิ่นเย้อ” พิรี้พิไรเกินไป ในขณะที่หากชวนคุณทวดนั่ง Time Machine จากอดีตมาชมภาพยนต์ปัจจุบัน ท่านคงดูไม่รู้เรื่องและคงตำหนิพวกเราอย่างมากที่ภาพยนต์ปัจจุบันเน้นการฆ่าฟันให้ตายเร็วๆตายมากๆ ทั่งๆที่ความจริงคนเราทุกคนหากปล่อยไปตามธรรมชาติก็ต้องตายเองสักวันหนึ่ง ไม่เห็นเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ หากไม่อยากตายก็อย่าเกิด
มุมมองที่เปลี่ยนไป (Paradigm Shift) ในแวดวงอุดมศึกษาโลกนั้นเกิดขึ้นเมื่อสองสามปีที่ผ่านมานี้เอง ในโอกาสที่เทคโนโลยีการสื่อสารหลอมรวมกับเทคโนโลยีสารสนเทศ แน่นอนครับว่าสิ่งดีๆของการเรียนการสอนในห้องเรียนเช่น ปฏิสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ ย่อมลดลงอย่างมาก แต่ย่อมมีสิ่งอื่นทดแทนขึ้นมา ระบบใหม่นี้สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) ตอบสนองความต้องการ “เฉพาะเรื่องเฉพาะตอน” ของแต่ละบุคคล ทั้งองค์ความรู้และเวลาในการถ่ายทอด อีกทั้งรองรับนักศึกษาได้คราวละมากๆทั้งประเภทมีและไม่มีวุฒิบัตร
การเรียนรู้ด้วยตนเองไม่ว่าจะเป็นกรอบคิดเดิมหรือในแนวของ Constructionism ล้วนต้องการช่องทาง (Access) เพื่อทบทวน “เฉพาะเรื่องเฉพาะตอน” จนทำให้ผู้เรียนรู้สามารถขยายฐานความรู้ทั้งแนวราบและแนวดิ่ง (Broader and Deeper)ในระบบ Technology-Enabled Education ที่ผมกล่าวถึงนี้ ประกอบด้วยการเปลียนแปลงสามส่วนสำคัญ คือ (1) Expression of Content: บทบรรยายที่ถูกเตรียมก่อนสอนนั้นมีข้อจำกัดที่อาจารย์ผู้สอนได้กำหนดขอบเขตไว้ล่วงหน้า ระบบใหม่จักผสมผสานข้อมูลหลายสื่อหลายแหล่งกำเนิดผ่าน Semantics Module ซึ่งพัฒนาขึ้นภายใต้ซอฟท์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ทำหน้าที่ค้นหาทั้ง “ข้อความ” และ “ความหมาย” ทั้งนี้แนวทางการค้นหาอาจนำมาจากผู้เชียวชาญ/อาจารย์หรือจะใช้โมเดลทางสถิติของการค้นหาในอดีตช่วยก็ได้ (2) Communication: การสือสารทางคำพูดช่วยแบ่งปันความคิดเชิงโน้มน้าวในแต่ละกลุ่มคนได้ดีกว่าการเขียนแล่ะอ่านทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะแสดงออกด้านอารมณ์ได้ชัดเจนกว่า เทคโนโลยีด้าน Telepresence ในห้าปีข้างหน้าจะมีบทบาทสำคัญในการสือสารอย่างมาก (3) Assessment: การวัดผลด้วยการสอบไล่ปลายภาคแล้วให้ปริญญานั้นในปัจจุบันถูกมองว่าเป็นการวัดผลของหลักสูตรที่เขียนขึ้นในอดีตแม้จะมีการปรับปรุงหลักสูตรอย่างต่อเนื่องก็ตาม ยังถือว่ายึดมั่นองค์ความรู้ในอดีต คำวิจารณ์ที่รุนแรงนั้นถึงกับกล่าวโทษว่าการวัดผลแบบเดิมนั้นเป็นอุปสรรคสำคัญยิ่งต่อการเรียนรู้ แม้ว่าการได้รับวุฒิบัตรและปริญญายังคงต้องมีอยู่ต่อไป แต่ขั้นตอนที่พิสูจน์ความรู้ตนเองว่าเหมาะสมกับปริญญานั้นอาจแตกต่างออกไประบบใหม่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนกำหนด (Define) หลักสูตรได้เองในระดับหนึ่งและการวัดผลด้วยการแก้ปัญหาที่ประสบอยู่ในปัจจุบันมาเป็นเครื่องทดสอบว่ารู้จริงหรือไม่ ในระบบใหม่นี้ การสอบผ่านเสมือนเป็นรางวัลในการเอาชนะปัญหา หากสอบตกถือว่าเป็นบทเรียนและประสบการณ์
ทั้งสามส่วนนี้เกิดขึ้นเป็นจริงได้ต้องอาศัยโครงสร้างโครงข่ายพื้นฐานบรอดแบนด์ เป็นที่ยินดีอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้ กำหนดเป็นแผนแม่บทบรอดแบรนแห่งชาติขึ้น เทคโนโลยีเชื่อมต่อบรอดแบรนด์ระบบสาย: Digital Subscriber, Hybrid Fibre Coaxial, Fibre Based Broadband (FTTx) และ Power Line Communication (PLC).บริษัทีโอที จำกัด และ บริษัทการสื่อสาร จำกัด ได้มีการวางแผนร่วมกัน สำหรับระบบ FTTx ในเมืองและปริมณฑลเพื่อป้องกันการลงทุนที่ซ้ำซ้อน ส่วนการไฟฟ้าภูมิภาคมีการทดลองต้นแบบของ PLC. สำหรับเทคโนโลยีบรอดแบนด์ระบบไร้สายมีดังนี้ Cellular, Mobile WiMAX, Wi-Fi, Satelliete และ Wireless Mesh Network
ในบทความหน้าผมจะกล่าวถึงอุปสรรคขวางกั้น (Barriers) เมื่อต้องประยุกต์ใช้เทคโนโลยี่เหล่านี้เพื่อเป็นฐานการพัฒนา Technology-Enabled Education ครับ
ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th
http://th.wikipedia.org/wiki/ชิต_เหล่าวัฒนา