สร้างอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทย - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • English
    • Thai

สร้างอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทย

 logo robot brain

สร้างอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทย

2011-06-07 03

     เสาร์-อาทิตย์ 10-11 มิถุนายนนี้ ที่ เมืองทองธานี ได้ถึงกำหนดเวลาอีกครั้งหนึ่งของการแข่งขันหุ่นยนต์ ในการคัดเลือกหาแชมป์ทีมชาติไทยจาก 16 ทีมอาชีวะศึกษา และ 16 ทีมอุดมศึกษา เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันกับทีมชาติอื่นๆ อีก 19 ประเทศจากภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ในงาน ABU RoboCon ครั้งที่ 10 วันที่ 28 สิงหาคม ศกนี้  ซึ่งประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการแข่งขัน งานระดับนานาชาตินี้เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งที่ร่วมเฉลิมฉลองปีมหามมงคลในวาระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจริญพระชมมายุครบ 84 พรรษา ผมในฐานะประธานคณะกรรมการตัดสิน ขอเรียนเชิญท่านผูอ่านไปให้กำลังใจทีมไทยและแสดงมิตรภาพต่อเพื่อนๆต่างชาติครับ

     เช่นเดียวกันกับการแข่งขันหุ่นยนต์ประเภทอื่นๆ เด็กไทยก็เคยเป็นแชมป์ ABU RoboCon มาแล้ว บ่อยครั้งที่ผู้หลักผู้ใหญ่ได้สอบถามผมว่า เหตุใดประเทศไทยไม่มี “อุตสาหกรรมหุ่นยนต์” ทั้งๆที่เยาวชนไทยไม่แพ้ใครเลยในเรื่องเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ผมขอเรียนว่าการที่ประเทศไทยมีคนเก่งเทคโนโลยีนั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ต้องอาศัยการบริหารจัดการ “ระดับชาติ” เข้ามาสนับสนุนให้นักธุรกิจเชิงเทคโนโลยี(Technoprenuers) สร้างอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตขึ้นมา กลไกที่สำคัญยิ่งในการรดน้ำ พรวนดินให้ ความคิดและต้นแบบจากห้องปฎิบัติการได้รับการพัฒนาต่อเนื่องเป็นผลิตภัณฑ์พาณิชย์ได้คือ เวนเจอร์แคปปิตอลส์ (Venture Capitals) จากสถาบันการเงิน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวต้องเสี่ยงต่อเงินหาย กำไรหดได้ กลไกนี้เป็นกลไกหลักที่ สถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาซูเซสต์ สามารถขับเคลื่อน (Spin-off) ทรัพย์สินทางปัญญาของตนไปสร้างบริษัทเทคโนโลยีกว่า 9,000 แห่ง ตลอดสามสิบปีที่ผ่านมา

     วันก่อนนักธุรกิจไทยที่เคยทำงานให้กับ บริษัท แอพเปิล ได้มาเยี่ยมชมหุ่นยนต์ต้นแบบที่สถาบันพัฒนาหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี   ฟีโบ้ออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ตัวนี้ให้กับ บริษัทนิวสมไทย จำกัด  ต้นแบบตัวแรกที่ได้นั้น สมรรถนะสู้หุ่นยนต์จากประเทศญี่ปุ่นไม่ได้เลยครับ อีกทั้งต้นทุนในการพัฒนาสูงกว่าที่จะซื้อเขามาใช้  เรื่องนี้เป็นข้อเท็จจริงทางเศรษฐศาสตร์วิศวกรรมครับ  เนื่องจากเราสร้างขึ้นมาตัวเดียว  หากมี economy of scale  ราคาจะลดลงเหลือประมาณ 50% ของหุ่นยนต์ที่นำเข้ามา  แน่นอนครับการพัฒนาสมรรถนะของต้นแบบให้ดีขึ้นนั้น บริษัทเอกชนต้องเข้ามาร่วมกับมหาวิทยาลัย การทำตลาดให้ขายได้เป็นเรื่องจำเป็นเพื่อหาทุนต่อเนื่องมาพัฒนาให้ดี  รถญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 1940 มีแต่คนดูถูก แต่ปัจจุบันรถญี่ปุ่นขายดีทั่วโลกจนมีกำลังทุนทรัพย์ไปออกแบบสร้างรถฟอร์มูลาไปลงสนามแข่งกับชาติตะวันตกได้อย่างสบาย  เรื่องการตลาดและการค้าขายให้ร่ำรวยนั้น กรุณาอย่าไปหวังพึ่งอาจารย์ ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนๆก็ตาม พวกเราทำไม่เป็นครับ

     นักธุรกิจท่านนี้ผิดหวังกับกลไกเวนเจอร์แคปปิตอลส์ของสถาบันการเงินไทยที่ไม่ยอมเสี่ยงให้สมกับคำว่าเวนเจอร์  เพราะจะลงเงินทุนเฉพาะต้นแบบที่พร้อมจะขายได้  อย่างไรก็ตามผมมองในแง่ดีเกี่ยวกับเรื่องการลงทุนด้านเทคโนโลยีในประเทศไทย ยิ่งไม่มีคนทำยิ่งน่าสนใจในเรื่องผลตอบแทน  ประเทศที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้สวมรองเท้าแตะ จะบอกว่าไม่มีตลาดก็ถูก  จะบอกว่าตลาดใหญ่มากก็ยิ่งถูกครับ  เรื่องตลาดนั้น รัฐบาลสามารถใช้ความต้องการภายในประเทศมาช่วยกระตุ้นได้ ผมอยากเห็นเมกะโปรเจคใหญ่ๆ อาทิ รถลอยฟ้า ระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (Water Grid)  ที่กำลังถูกนำมาใช้รณรงค์หาเสียงกันนั้น มี local content เพื่อให้ธุรกิจอุตสาหกรรมไทยเติบโตได้   มิใช่ตั้งโครงการขึ้นมาเพื่อซื้อของต่างประเทศอย่างเดียว  ดูตัวอย่าง ประเทศจีนที่ใช้การขยายตัวของสาธารณูปโภคด้านการสื่อสารภายในประเทศเขา สร้างบริษัทชั้นนำระดับโลก อย่าง บริษัทหัวเว่ยขึ้นมาได้ภายในเวลา 5 ปี

     ที่ผ่านมา งานบริการวิชาการของฟีโบ้มีเงื่อนไขว่า ต้องเป็นงานที่ (1) มีความยุ่งยากทางเทคนิคที่เอกชนไม่พร้อมที่จะลงทุนความคิดและวิจัย (2) ราคาตลาดแพงเกินไปโดยไม่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ และ (3) งานที่เกี่ยวข้องกับ National Security  อย่างไรก็ตาม  ผมรับข้อเสนอของนักธุรกิจท่านนี้ในการสร้างอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในประเทศไทยในส่วนของการผลักดันให้มีต้นแบบหุ่นยนต์อุตสาหกรรมราคาถูก ทั้งนี้ภาครัฐบาลและเอกชนต้องรับบทบาทที่ผมได้กล่าวไว้คร่าวๆในบทความนี้

Categories: Post from Dr.Jiit