สังคมข้อมูลข่าวสาร - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • English
    • Thai

สังคมข้อมูลข่าวสาร

logo robot brain

สังคมข้อมูลข่าวสาร

ผมรื้อเอกสารในตู้หนังสือ พบเอกสารเก่าในงานประชุมเชิงปฎิบัติการของเนคเทคในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสังคมข้อมูลข่าวสาร ผมเห็นว่าสาระยังมีความทันสมัยอีกทั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้ระบุสิทธิในข้อมูลข่าวสารไว้ในมาตรา ๕๖ ไว้อย่างชัดเจนอีกด้วย จึงขอนำประเด็นสำคัญเท่าที่เนื้อที่จะอำนวยมาเสนอดังนี้ครับ

ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทำให้ข้อมูลและข่าวสารมีการเชื่อมโยง ติดต่อสื่อสารได้รวดเร็วและกว้างขวางทั่วโลก สารสนเทศนี้หากไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องถือว่าขาด “คุณภาพ”และเป็นอันตรายต่อการพัฒนาสังคมโดยรวม ประเทศไทยจึงต้องนำเทคโนโลยีการสื่อสาร สารสนเทศ อิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์มาใช้ในชีวิตประจำวันและการประกอบธุรกิจมากขึ้น โดยมีการพัฒนาทั้งทางด้านกายภาพให้มีศักยภาพและประสิทธิภาพสูงเพียงพอที่จะรองรับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย และต้องใช้ความละเอียดและสติปัญญาในการสร้างฐานข้อมูลความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสมกับรากฐานทางสังคมไทย สร้างโอกาสการรับรู้และการกระจายข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัยอย่างทั่วถึงทัดเทียมกันในทุกระดับ รวมทั้งการพัฒนาข้อมูลข่าวสารให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ

 

 

(1) โครงสร้างพื้นฐานทางด้านกายภาพ (Physical Infrastructure)

  • เร่งรัดการพัฒนาเครือข่ายโทรคมนาคมบรอดแบรนด์และข้อมูลข่าวสารให้มีประสิทธิภาพความเร็วสูง ที่อยู่ในระดับต้นทุนที่เหมาะสมคืออย่านำเข้าอย่างเดียว ต้องส่งเสริมบริษัทคนไทยให้เติบโตในธุรกิจเหล่านี้ดังเช่นที่ประเทศจีนกระทำอยู่อย่างต่อเนื่อง
  • ส่งเสริมให้พื้นที่ที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างทั่วถึง โดยการจัดเก็บค่าบริการที่เป็นธรรมและให้อยู่ในระดับที่ประชาชนทั่วไปสามารถรับได้
  • สนับสนุนบทบาทการลงทุนของภาคเอกชนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดภาระต้นทุนของภาครัฐ
  • นำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าไปปรับใช้ในระบบการบริหารสาธารณะ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องมือทั้งในระดับรัฐบาลส่วนกลางและท้องถิ่นผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร และการบริการสาธารณะ

 

 

(2) ระบบกฎหมายและกฎระเบียบ (Legal Infrastructure) จะต้องมีการแก้ไขหรือปรับปรุงให้ทันต่อภาวะการณ์ปัจจุบันเพื่อ

  • เสริมสร้างกฎหมายและกฎระเบียบที่มีความยืดหยุ่นและเปิดกว้างต่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ การคิดค้น (Innovation) และการวิจัยและพัฒนา
  • ส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉพาะการทำธุรกิจต่อธุรกิจ (Business to Business: B-B) และธุรกิจต่อผู้บริโภค (Business to Consumer: B-C )
  • ป้องกันไม่ให้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง อาทิ การลักลอบนำข้อมูลข่าวสารอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในทางที่ผิด หรือการลอกเลียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์
  • ปรับปรุงระเบียบราชการเพื่อให้ภาครัฐสามารถบริการประชาชนได้ดีขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ

 

 

(3) นโยบายเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic Infrastructure)

  • นโยบายภาษี (Tax Policy) ที่มุ่งสนับสนุนและส่งเสริมในด้านต่างๆ ดังนี้

– การคิดค้นทางวิทยาศาสตร์และการใช้เทคโนโลยีได้อย่างทั่วถึงและกว้างขวาง

– การดูดซับเทคโนโลยีและการร่วมพัฒนาเทคโนโลยีระหว่างคนไทยกับต่างประเทศ

– การใช้เครื่องมือฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่มีประสิทธิภาพ

  • นโยบายการลงทุน (Investment policy) จะต้องส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในภาคเอกชน โดยการเร่งให้มีการประยุกต์ใช้ทั้งในภาคอุตสาหกรรม การเกษตร และการบริการ เพื่อสนับสนุนให้มีการจัดการที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นในด้านการผลิต การตลาด การบริหารสินค้าคงเหลือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การบริหารการเงิน และการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น

 

 

(4) นโยบายพัฒนาและเปิดเผยระบบข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัยซึ่งสามารถนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ หลักการที่สำคัญคือข้อมูลต้องมี “คุณภาพ” และความถูกต้อง มีความน่าเชื่อถือและใช้อ้างอิงได้ดังที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น และที่สำคัญคือจะต้องมีชีวิตหรือมีความทันสมัย ตลอดจนให้ประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ

 

 

Categories: Post from Dr.Jiit