ผู้ประกอบการเทคโนโลยี - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • English
    • Thai

ผู้ประกอบการเทคโนโลยี

logo robot brain

ผู้ประกอบการเทคโนโลยี

อุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่นำเข้าเทคโนโลยีต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในขบวนการผลิต มาจากต่างประเทศ ฐานะผู้ใช้เทคโนโลยี (Technology users)โดยไม่คิดเองของไทยนี้เอง ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อประเทศในหลายๆ ด้าน นอกจากเงินตรารั่วไหลออกนอกประเทศสำหรับค่าเทคโนโลยีด้วยราคาสูงมาก เรายังขาดโครงสร้างอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่จำเป็นในการขยายฐานการผลิตทั้งแนวราบและแนวดิ่ง (Industrial broadening and deepening production infrastructure) ถึงเวลาแล้วครับที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต้องสนับสนุนให้คนไทยพัฒนาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีในระดับฐานราก ทั้งในแง่การวิจัยพัฒนาและการปรับปรุงตนเองเพื่อลดการพึ่งพาผู้ผลิตต่างชาติ อุตสาหกรรมไทยต้องสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ให้สูงขึ้นกว่าค่าแรงงานรับจ้างประกอบสินค้า ไม่มีใครปฏิเสธว่าความสามารถทางเทคโนโลยีนั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่ง ทำให้ไทยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมของประเทศ

2011-07-25 01

การเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมและเศรษฐกิจฐานความรู้นั้น ไม่ได้หมายความถึงการนำเอาความรู้มาสร้างให้เกิดเศรษฐกิจใหม่เท่านั้น ในภาคเศรษฐกิจดั้งเดิม ทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการ ก็จำเป็นต้องนำเอาความรู้และเทคโนโลยีระดับสูงจากภายนอกมาปรับใช้ตามความต้องการได้อย่างเหมาะสมและต่อยอดภูมิปัญญาดั้งเดิม เพื่อสนับสนุนให้นำนวัตกรรม (Innovation) ไปสู่ภาคการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ของภาคเศรษฐกิจ ในการบริหารจัดการและการให้บริการประชาชน และเพิ่มคุณภาพชีวิตในภาคสังคม ห้องปฎิบัติการพัฒนาและวิจัย ของมหาวิทยาลัยต่างๆ และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยแห่งชาติ มีผลงานวิจัยอยู่มากมาย เช่น ผลงานด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ด้านพลังงาน ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านนาโนและไบโอเทคโนโลยี เป็นต้น แต่เราขาดการจัดการระดับประเทศ เพื่อนำผลงานวิจัยเหล่านี้มาถ่ายทอดสู่สาธารณหรือเชิงพานิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนอเมริกันผมคนหนึ่งเป็นประธานบริหารบริษัทคอมพิวเตอร์รายใหญ่เคยกล่าวไว้ในวิชาสัมมนา หลักสูตรการจัดการเทคโนโลยี ที่ MIT Sloan School ว่าขบวนการและกลไกสร้างธุรกิจจากความรู้เทคโนโลยี มิได้เกิดเองโดยธรรมชาติ รัฐและเอกชนต้องร่วมกันสร้างขึ้นมา และผลิตผลที่สำคัญคือ “ผู้ประกอบการเทคโนโลยี” สำหรับผลวิจัยพื้นฐาน 100 ชิ้นนั้นอาจมีความเป็นไปได้เชิงพาณิชย์เพียง 10 ชิ้นจึงต้องทำงานวิจัยประยุกต์ต่อเนื่องไปอีก และภายใน 10 ชิ้นนี้ หากสำเร็จเชิงพาณิชย์แค่ชิ้นเดียว เขาถือว่าสอบผ่าน ผมเคยสอบถามอดีตอธิการบดีของ MIT เรื่องงบประมาณวิจัย ได้ความว่า ห้องวิจัยของรัฐ/มหาวิทยาลัยลงทุนงานวิจัยพื้นฐานสำหรับ 100 ชิ้น ส่วนภาคเอกชนลงทุนด้านวิจัยประยุกต์ 10 ชิ้น และเชิงพาณิชย์ 1 ชิ้น มีอัตรางบประมาณลงทุน งานวิจัยพื้นฐาน:ประยุกต์:พาณิชย์ เป็น 1:10:100 ต่อชิ้น ผมได้เช็คตัวเลขดังกล่าวกับบรรดาลูกศิษย์ที่จบไปแล้วจัดตั้งบริษัท 8-9 ราย พบว่าตัวเลขอัตราส่วนนี้จริง

2011-07-25 02

ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของไทยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มปลายน้ำของวงจรการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ได้แก่ รูปแบบการลงทุน (Investment Model), รูปแบบการปฏิบัติงาน (Operation Model) และ รูปแบบการสร้างกำไร (Profit Model) ซึ่งมีความสามารถในการเพิ่มมูลค่าของสินค้าต่ำมากเมื่อเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีครบวงจร หรือเป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ในส่วนของต้นน้ำ ได้แก่ รูปแบบการสร้างนวัตกรรม (Innovation Model) และรูปแบบธุรกิจ ม(Business Model)

– กลุ่มต้นน้ำ มีอัตราการสร้างมูลค่าสูง

– รูปแบบการสร้างนวัตกรรม (Innovation Model) หมายถึง กระบวนการในการสร้างนวัตกรรมใหม่ที่เป็นความคิดสร้างสรรค์ กรอบความคิด หรือกระบวนการใหม่ๆ ที่พร้อมจะผลักดันให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งในปัจจุบัน

– รูปแบบธุรกิจ (Business Model) หมายถึง กระบวนการในการนำรูปแบบนวัตกรรม ไปสร้างประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยสร้างโอกาศทางธุรกิจ เช่น วิธีการกระจายสินค้า, โครงสร้างต้นทุน, รูปแบบสร้างรายได้ และอื่นๆ

– กลุ่มปลายน้ำ มีอัตราการสร้างมูลค่าต่ำ

– รูปแบบการลงทุน (Investment Model) หมายถึง การลงทุน ภายใต้กรอบและแนวคิดที่พัฒนาขึ้นในโมเดลธุรกิจ

– รูปแบบการปฏิบัติงาน (Operation Model) หมายถึง การดำเนินงาน เพื่อผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ตามเป้า ซึ่งเป็นส่วนของการนำนวัตกรรมไปทำในเชิงพาณิชย์ เป็นการเน้นที่กระบวนการผลิตเพื่อควบคุมต้นทุน ให้สามารถแข่งขันได้

– รูปแบบการสร้างกำไร (Profit Model) วิเคราะห์โครงสร้างต้นทุน ระดับยอดขายที่จุดคุ้มทุน โอกาสในการทำกำไรในอัตราที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว แล้วนำไปลงทุนใน Innovation Model

จากปัญหาที่อุตสาหกรรมของประเทศไทยอยู่ปลายน้ำของวงจรการสร้างมูลค่า ซึ่งมีระดับราคาที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งการลดต้นทุนทำได้ยาก เพราะฉะนั้นกำไรส่วนต่างที่เกิดขึ้นจะต่ำมาก หรือประสิทธิภาพการเพิ่ม Value Added ของสินค้าต่ำ เนื่องจากในกลุ่มนี้ใช้ราคาเป็นจุดขายในการแข่งขัน โดยเน้นตลาดในประเทศเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้อุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็น OEM หรือรับจ้างผลิตและงานประกอบ ดังนั้นสามารถสรุปได้ว่า รูปแบบการทำงานของอุตสาหกรรมไทยเป็นแบบทำมาก แต่ได้ผลตอบแทนน้อย เนื่องจากอยู่ปลายน้ำของวงจรการสร้างมูลค่า

สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) เป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robotics and Automations Technology) มีการสะสมองค์ความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้ร่วมพัฒนากับกลุ่มอุตสาหกรรมตั้งแต่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ไปจนถึงบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ (Multi-national companies) ที่มีการจ้างงานมากกว่า 30,000 คนและมีมูลค่ามากกว่าแสนล้านบาท ได้เล็งเห็นความสำคัญในการสร้างผู้ประกอบการเทคโนโลยีของไทย มีกลไกการสร้างผู้ประกอบการให้ออกไปรับงานจาก Multi-national companies รวมทั้งการเข้าไปพัฒนาอุตสาหกรรมที่ทางสถาบันได้ดำเนินการมาตลอด 15 ปี เป็นการบูรณาการระหว่าง Research-Engineering-Prototyping-Industry Involvement เพื่อเข้าไปแก้ปัญหาให้กับอุตสาหกรรมการผลิต การสร้างผู้ประกอบการเทคโนโลยีเป็นการนำความรู้ การจัดการความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ หรือผลงานวิจัยมาพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ กระบวนการผลิตใหม่ หรือบริการใหม่ที่ออกสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผู้ประกอบการเทคโนโลยีเหล่านี้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงในด้านการลงทุนและการนำออกสู่ตลาด ที่ผ่านมานักลงทุนจึงไม่สนใจที่จะลงทุน แต่ยังคงนิยมที่จะรับจ้างผลิตสินค้าหรือพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศที่ไม่ต้องลงทุนพัฒนาเอง

2011-07-25 03

การพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีนั้นมุ่งเน้นในการพัฒนาสินค้าใหม่อันเป็นที่ต้องการของตลาด (New Product Development) และการสนองตอบความต้องการของตลาดอย่างรวดเร็ว (Consumer Responsiveness) องค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญในการพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันเหล่านี้คือเทคโนโลยี เทคโนโลยีนั้นมีแฝงอยู่ทั้งในตัวผลิตภัณฑ์ (Product Technology) และกระบวนการผลิต (Process Technology) เช่น กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต การกระจายสินค้าสู่ตลาด การบริหารจัดการ เป็นต้น การใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมจะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จต้องสามารถจัดการเทคโนโลยีในส่วนต่างๆได้ดี การกำหนดเทคโนโลยีที่ต้องการ (Identification) การเลือกใช้เทคโนโลยี (Selection) การรับถ่ายทอดหรือการพัฒนาเทคโนโลยี (Acquisition/ Development) การใช้เทคโนโลยี (Exploitation) และการป้องกันเทคโนโลยี/ องค์ความรู้/ทรัพย์สินทางปัญญา (Protection) การวางแผนกลยุทธ์ทางด้านเทคโนโลยี เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการจัดการเทคโนโลยีในสถานประกอบการ ผู้ประกอบการที่มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนในโลกปัจจุบันจะต้องมีกลยุทธ์ทางด้านเทคโนโลยีที่สอดรับกับแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องรู้ว่าเทคโนโลยีใดเป็นหัวใจหลักของการดำเนินกิจการของตน เทคโนโลยีใดที่เกี่ยวข้องและจะนำมาซึ่งโอกาส หรือเทคโนโลยีใดจะเป็นอุปสรรคต่อกิจการในอนาคต เข้าใจถึงประโยชน์และผลกระทบของเทคโนโลยีนั้นๆ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ผู้ประกอบการจำต้องเข้าใจเทคโนโลยีและนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสมและทันต่อเหตุการณ์ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน

 

Categories: Post from Dr.Jiit