“โอม” น้องชายหุ่นยนต์นะโม
ในปัจจุบันการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้เพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าและการบริการยังมีอยู่น้อยมาในทางปฏิบัติ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ส่วนใหญ่ถูกจำกัดอยู่ในภาคการผลิตเช่นอุตสาหกรรมรถยนต์ หรืออุตสาหกรรมอิเลกทรอนิกส์ การนำหุ่นยนต์ไปใช้เพื่อการประชาสัมพันธ์ สร้างภาพลักษณ์ที่ทันสมัยให้กับผลิตภัณฑ์ หรือองค์กรถือเป็นเรื่องที่ใหม่มากในประเทศไทย ทั้งๆที่มูลค่าเพิ่มของการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ในงานบริการและการประชาสัมพันธ์นั้นมีสูงมาก
เนื่องในโอกาสวันครบรอบการสถาปนา 50 ปีของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เมื่อปี 2553 ทางสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) ได้รับบัญชาจากทางมหาวิทยาลัยให้พัฒนาหุ่นยนต์ต้อนรับซึ่งมีลักษณะคล้ายมนุษย์ขึ้น โดยมีชื่อว่า “นะโม” เพื่อรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีฯ เมื่อหุ่นยนต์นะโมได้ออกสู่สายตาของสาธารณชน ได้มีผู้ติดต่อทางสถาบันฯเพื่อขอนำหุ่นยนต์นะโมไปร่วมงานต่างๆของทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นจำนวนมาก ทำให้ทางฟีโบ้นั้นตระหนักถึงความต้องการในใช้งานหุ่นยนต์ในรูปแบบดังกล่าวว่ามีอยู่มากพอสมควร
อย่างไรก็ตามหุ่นยนต์นะโมต้นแบบที่ได้พัฒนาขึ้นในเบื้องต้นนั้น ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายประการในการนำไปใช้งานจริงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นฟีโบ้จึงเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาต่อยอดต่อไป เพื่อให้หุ่นยนต์มีความสามารถมากขึ้น ความทนทานสูงขึ้นในการใช้งานจริง
หุ่นยนต์ประชาสัมพันธ์ตัวที่สองของทางสถาบันฯ ได้รับทุนสนับสนุนวิจัยจาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ถูกวางรูปแบบให้เป็นน้องชายของหุ่นยนต์นะโม มีอายุประมาณ 12 ปี ซึ่งตอนนี้มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า “โอม” OHM (Original Humanoid Masterpiece) มีลักษณะนิสัยสนุกสนาน ร่าเริง ช่างสงสัย และชอบแสวงหาความรู้จากสิ่งต่างๆรอบตัว ซึ่งโอมจะแตกต่างกับนะโมที่เป็นพี่สาว หุ่นยนต์นะโมถูกวางให้เป็นเด็กผู้หญิง เรียบร้อยอ่อนโยน รอบรู้ ชอบเล่นดนตรี และชอบทำอาหาร
การวางอุปนิสัยที่ต่างกันนี้ ทำให้รูปทรงของหุ่นยนต์นั้นแตกต่างกันบ้าง ซึ่งโอมจะดูทะมัดทะแมงและดูคล่องตัวกว่า แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งหน้าตาที่ใกล้เคียงกัน เพื่อให้ดูว่าเป็นพี่น้องกัน ดังภาพร่างรูปแบบของหุ่นยนต์ ออกแบบโดย ศูนย์ศึกษาในเมือง (CODE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
โอมถูกปรับปรุงให้มีสมถนะสูงกว่านะโม ในเรื่องของกำลังมอเตอร์ ซึ่งจะส่งผลให้แขนสามารถรับน้ำหนักสิ่งของที่จะถือได้มากขึ้น การเคลื่อนที่ที่เร็วขึ้น ทั้งนี้ยังถูกปรับปรุงในเรื่องของเสถียรภาพของระบบต่างๆ และการปฏิสัมพันธ์ต่อผู้ควบคุมอีกด้วย ส่วนหัวของโอมถูกออกแบบให้หมุนหัวได้ในสามแกนองศาอิสระ ทำให้หุ่นยนต์สามารถที่จะหันซ้าย–ขวา พยักหน้า และเอียงหัวได้เหมือนกับนะโม แต่สิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาสำหรับในหุ่นยนต์ตัวนี้ก็คือ โอมสามารถที่จะกระพริบเปลือกตาได้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการแสดงอารมณ์ของหุ่นยนต์ได้มากขึ้นกว่าเดิม แขนของโอมถูกออกแบบให้หมุนได้ใน 7 แกนองศาอิสระ ซึ่งมีความใกล้เคียงกับข้อต่อของมนุษย์ ทำให้หุ่นยนต์สามารถที่จะเคลื่อนไหวขยับแขนได้ใกล้เคียงมนุษย์ทีเดียว โอมยังคงยกมือไหว้ สวัสดี แบบไทยๆได้สวยงาม เหมือนนะโมพี่สาว ซึ่งข้อนี้ทางผู้วิจัยค่อนข้างเน้นมาก ที่ต้องการให้หุ่นยนต์ไทยสามารถที่จะแสดงออกถึงวัฒนธรรมไทยได้อย่างชัดเจน นอกจากความอ่อนช้อยของแขนในท่าทางต่างๆ ที่จะแสดงได้แล้วนั้น หุ่นยนต์ยังสามารถที่จะยกของที่มีน้ำหนักได้มากขึ้น เนื่องจากกำลังมอเตอร์ที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะของเด็กผู้ชายที่มีความแข็งแกร่ง ระบบฐานถูกปรับปรุงขึ้นมาให้มีสมถนะในการขับเคลื่อนมากขึ้น จากเดิมที่นะโม จะใช้ล้อแบบ three-wheeled omnidirectional ซึ่งมีข้อเสียคือล้อชนิดนี้คือไม่สามารถเคลื่อนที่บนพื้นที่ต่างระดับได้ ดังนั้นจึงสามารถใช้ได้แต่ภายในบริเวณอาคารที่มีพื้นเรียบเท่านั้น โอมถูกปรับปรุงเป็นล้อให้มีการเคลื่อนที่แบบรถ 3 ล้อ มีระบบบังคับเลี้ยว โดยล้อทุกล้อจะสามารถขับเคลื่อนได้ ทำให้โอมสามารถที่เคลื่อนที่ในพื้นราบทั่วไปได้ไม่จำกัดเฉพาะในอาคาร และยังมีความสามารถในการข้ามสิ่งกีดขวางได้ เนื่องจากการการวางคาร์แรกเตอร์ของโอมที่มีลักษณะเป็นเด็กผู้ชายช่างสงสัย และชอบแสวงหาความรู้จากสิ่งต่างๆรอบตัวไว้เบื้องต้น โอมจึงมีกล้องที่ติดไว้บริเวณหัว เพื่อใช้บันทึกเรื่องราวของสิ่งที่ได้เห็นมา และยังสามารถถ่ายทอดเรื่องราวให้ผู้อื่นรับรู้ผ่านทางเครื่องฉายโปรเจคเตอร์ที่ติ้งตั้งอยู่บริเวณลำตัว ฉายเป็นภาพเข้าผนังและมีเสียงประกอบได้อีกด้วย หุ่นยนต์โอมพร้อมนะโมพี่สาว จะถูกเปิดตัวในงาน BOI FAIR 2011 ในวันที่ 10-25 พฤศจิกายน 2554 ณ อิมแพคเมืองทองธานี อย่าลืมไปชื่นชมความสามารถของหุ่นยนต์ไทย และให้กำลังใจโอมและนะโมนะครับ