เรียนรู้จากอดีตเพื่อสร้างอนาคต(1)
ผมเชื่อว่าเทคโนโลยีเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญสำหรับการสร้างอนาคตของชาติไทย เทคโนโลยีไทยจะแข็งแกร่งและใช้งานได้ดีนั้นล้วนมีพื้นฐานจากระบบการศึกษาที่รู้ซึ้งถึงรากเง้า ชาติภูมิ ตลอดจนวัฒนธรรมของชาติ ผมได้รับข้อเขียนที่น่าสนใจ หกสิบปี(แรก)ของเรา ของท่านอาจารย์กฤษณพงศ์ กีรติกร อดีตอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เด็กต่างจังหวัดเช่นผมนี้อยู่ในหลายเหตุการณ์ของบทความนี้ และยอมรับว่าเหตุการณ์เหล่านั้นเป็นแรงผลักสำคัญทำให้ผมและเพื่อนร่วมรุ่นอีกหลายคนสนใจการเรียนจนกระทั่งมาทำงานด้านพัฒนาเทคโนโลยี
ผมขอเผยแพร่บทความนี้เพื่อประโยชน์ในวงผู้อ่านที่กว้างขวางขึ้นเพื่อ ลับ คมความคิดให้สามารถสร้าง สมองกลอัจฉริยะ ที่ใช้งานได้เหมาะสมสำหรับสังคมไทยครับ |
||
หกสิบปีของชีวิตเราอยู่ในแผ่นดินพระมหากษัตริย์พระองค์เดียว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ทรงเป็นพลังของแผ่นดินในหกสิบปีของชีวิตเราที่มีการเปลี่ยนแปลงนานัปการ เราเกิดมาเมื่อสงครามโลกสงบลง เติมโตมาในครอบครัวขยาย นอกจากพ่อแม่แล้ว ครอบครัวเรามีปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ลูกพี่ลูกน้อง ในบ้านเดียวกันหรือหมู่บ้านเดียวกัน เราได้รับความรัก การดูแลขัดเกลา และการสั่งสอนจากบุพการีหลายคน ชีวิตเด็กของเราไม่มีความสะดวกทางวัตถุ ถ้าเราเกิดบ้านนอกเราก็ต้องไปอาบน้ำที่บ่อน้ำของหมู่บ้านหรือขนน้ำตักน้ำมาใช้ แกว่งสารส้มให้สะอาด ถ้าเราอยู่ในเมืองก็ต้องตื่นมารองน้ำก๊อกกลางคืนเพราะน้ำประปาไหลกะปริบกะปรอย เรากินน้ำฝน ล้างตุ่มน้ำให้สะอาดทุกหน้าฝน รอจนฝนตกไปแล้วสักหนึ่งเดือนจึงเก็บน้ำฝนไว้ใช้ พ่อแม่เราสอนให้เรารู้คุณค่าน้ำ ไม่เทน้ำทิ้ง ในชนบทเราใช้ตะเกียงน้ำมันกาด น้ำมันมะพร้าว เวลามีงานก็ใช้ตะเกียงลานเจ้าพายุ ในเมืองไฟฟ้าก็ติด ๆ ดับ ๆ และไฟตกหัวค่ำ ต้องใช้หม้อแปลงไฟและมีเทียนไขติดบ้าน อาหารการกินของเรายังเป็นข้าว หมูพื้นเมือง ไก่พื้นเมือง ปลาที่ยังจับตามแหล่งน้ำได้ รวมทั้งสัตว์ทั้งหลายที่จับกินได้ ผักเก็บเอาได้จากหัวไร่ปลายนาหรือปลูกเอง ในน้ำยังมีปลาในนายังมีข้าว ชีวิตเราในวัยเด็กจึงไม่มีอาหารขยะให้กินเหมือนรุ่นหลานของเรา เราถูกสอนให้รู้จักแม่โพสพซึ่งเป็นตัวแทนของชาวนา เราไม่กินข้าวกินกับข่าวแล้วเหลือทิ้งเหลือขว้าง เราถูกสอนให้รักษาธรรมชาติ ป่าไม้ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเคารพเจ้าที่เจ้าทางเจ้าป่าเจ้าเขา พ่อแม่สอนให้เรามีความรับผิดชอบ มีหน้าที่ มีวินัย มีระเบียบ ลูกหลานต้องช่วยทำงานบ้าน ช่วยทำมาค้าขาย รู้จักค่าของเงิน จะได้เงินพิเศษก็ต้องช่วยทำงานพิเศษ ทั้งหลายทั้งปวงนี้เมื่อถึงรุ่นลูกรุ่นหลานเราได้จะหายไป เราคงไม่โทษลูกหลาน แต่ต้องมาดูตัวเราในฐานะเป็นพ่อแม่ เป็นปู่ย่าตายาย เป็นครูอาจารย์ ว่าเราสอนลูกหลาน สอนลูกศิษย์กันอย่างไร เราอาจต้องกลับไปเรียนรู้จากอดีตเพื่อสร้างอนาคต (Back to the Future) |
||
เราเรียนหนังสือประถมศึกษาในกลางทศวรรษ 2490 มัธยมศึกษาและอุดมศึกษาในทศวรรษ 2500 เมื่อเราเรียนประถมศึกษา ระบบการศึกษาของเราเป็น 4-3-3-2 และเปลี่ยนเป็น 7-3-2 ต่อมา ครูของเราทั้งประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเป็นนักเรียนที่เรียนดีของจังหวัด ถูกคัดเลือก ถูกเคี่ยว ถูกฝึกให้มาเป็นครู เพื่อเป็นผู้แบกภาระอันหนักหรือ คุรุ ในชนบทครูของเราจะอยู่บ้านพักโรงเรียนถ้ามาจากถิ่นอื่น ถ้าโรงเรียนของเราอยู่ในวัด เราเรียนบนศาลาวัด เมื่อถึงวันโกนเราต้องหยุดเรียนครึ่งวันเพื่อล้างศาลาวัดเตรียมทำบุญ วันพระเราหยุดทั้งวัน ครูของเราและพระจะใกล้ชิดกัน เราจึงได้พระเป็นครูด้วยและได้รับการขัดเกลาทางศาสนา ครูโรงเรียนเรามีเวลาให้เราเต็มที่ทั้งความรู้ การขัดเกลามารยาทและความประพฤติ ครูเป็นพ่อแม่คนที่สองของเราจริงๆ ถ้าเราซนหรือทำผิด ครูจะตีและสอนให้หลาบจำ ครูสอนพิเศษเพิ่มเติมให้เราหรือเพื่อนของเราที่เรียนอ่อนโดยไม่ต้องมีเงินตอบแทน ครูรู้จักพ่อแม่ของเราอย่างดี ครูเขียนสมุดพกบอกพ่อแม่เราว่าเราเอาใจใส่การเรียนและประพฤติตัวอย่างไรที่โรงเรียน เราถูกสอนให้อ่านเขียน ย่อความและเรียงความภาษาไทย อ่านตัว ร ตัว ล ตัวควบตัวกล้ำ ทำให้ภาษาไทยของเราแตกฉานและพูดภาษาไทยชัดเจนจนทุกวันนี้ |
||
ถูกสอนให้คัดลายมือ รู้จักช่องไฟ รู้จักวรรคตอน ภาษาไทยของเราจึงอ่านรู้เรื่องมากกว่าภาษาไทยของลูกหลานเราที่ใช้คอมพิวเตอร์แบ่งวรรคตอนอัตโนมัติ เราถูกสอนให้คิดเลขในใจห้าข้อสิบข้อทุกเช้าก่อนเริ่มเรียน ทำให้เรามีทักษะคิดเลข บวก ลบ คูณ หาร บัญญัติไตรยางศ์ ในชีวิตประจำวัน เราไม่จำนนถ้าไม่มีเครื่องคิดเลขหรือแบตเตอรี่หมด หลังจากเราเรียนไม่กี่ปี เมื่อน้องเราเรียนหนังสือ โรงเรียนของน้องเราทิ้งการอ่าน การเขียน การคิดเลข (4R reading, writing, articulation, arithmetic ) เปลี่ยนมาเป็นระบบเติมคำในช่องว่าง กาคำตอบถูกผิด เลือกคำตอบที่ถูก น้องเราเลยใช้ภาษาไทยไม่ได้ เขียนเรียงความ ย่อความไม่เป็น คิดเลขไม่เป็น ระบบคิด ระบบตรรกะมีปัญหา ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th —————————————————————————————— ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม ฟีโบ้ (FIBO) เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ |