การขอทุนวิจัย - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • English
    • Thai

การขอทุนวิจัย

ลักษณะของทุน
1. โครงการวิจัยที่เป็นการร่วมสนับสนุนงบประมาณระหว่างศูนย์ฯ และภาค อุตสาหกรรม
2. โครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด

เงื่อนไขการรับทุน
1. เป็นโครงการวิจัยเชิงประยุกต์
    • โครงการวิจัยต้องเป็นโจทย์ที่เสนอโดยภาคอุตสาหกรรม หรือเป็นโจทย์ที่ภาคอุตสาหกรรมเห็นชอบด้วย โดยมีหนังสือแสดงความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรม
2. เป็นโจทย์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีขั้นสูงในอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมการ ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ หรืออุตสาหกรรมอื่นๆและเหมาะสมกับขอบเขตงานวิจัยของศูนย์ฯ
3. ระยะเวลาของโครงการไม่เกิน 12 เดือนหลังจากวันที่ลงนามในสัญญาหรือขึ้นอยู่กับการ พิจารณาของคณะกรรมการ
4. งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ฯ ของแต่ละโครงการต้องเหมาะสมกับเนื้องาน
5. ผู้รับทุนจะต้องตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานและนำส่งสำเนาบทความ หรือจะต้องนำส่งหลักฐานการตอบรับการยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตร (Filing) ภายในระยะเวลาที่กำหนดดังต่อไปนี้
    • 180 วันหลังจากส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ หากโครงการวิจัยเป็นไปตามข้อ 1 ทั้งนี้การเผยแพร่บทความจะต้องให้ภาคอุตสาหกรรมที่ให้ความร่วมมือหรือ เกี่ยวข้องในโครงการ (ถ้ามี) เป็นผู้พิจารณากลั่นกรองก่อนหรือ
    • 180 วันหลังจากระยะเวลาปกปิด หากโครงการวิจัยเป็นไปตามข้อ 1 หรือข้อ 2 และทั้งนี้การเผยแพร่บทความจะต้องให้ภาคอุตสาหกรรมผู้ให้หรือร่วมให้ทุนเป็น ผู้พิจารณากลั่นกรองก่อน
6. งบประมาณของแต่ละโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ฯ ต้องเหมาะสมกับเนื้อหาและผลงานที่ได้รับจากโครงการ โดยใช้หลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
    • งบประมาณโครงการที่ไม่เกิน 500,000 บาท จะต้องมีผลงานตีพิมพ์บทความในงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติอย่างน้อย 1 บทความ
    • งบประมาณโครงการมากกว่า 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 1,000,000 บาท จะต้องมีผลงานตีพิมพ์ในงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ อย่างน้อย 2 บทความ
    • งบประมาณโครงการมากกว่า 1,000,000 บาท จะต้องมีผลงานตีพิมพ์บทความในวารสารระดับนานาชาติที่ปรากฎอยู่ในฐานข้อมูล ISI และมี Impact Factor อย่างน้อย 1 บทความ
    • ให้ผลงานที่ได้รับการจดสิทธิบัตร 1 สิทธิบัตร เทียบเท่ากับผลงานที่ตีพิมพ์บทความในวารสารระดับนานาชาติที่ปรากฎอยู่ในฐาน ข้อมูล ISI และมี Impact Factor
    • ให้ผลงานที่ได้รับการพิจารณาเป็นต้นแบบระดับอุตสาหกรรมเทียบเท่ากับผลงานที่ ตีพิมพ์บทความในวารสารระดับนานาชาติที่ปรากฎอยู่ในฐานข้อมูล ISI และมี Impact Factor
    • หากข้อเสนอโครงการวิจัยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้างต้นให้คณะกรรมการ เป็นผู้พิจารณา

 คุณสมบัติของผู้รับทุน
1. เป็นข้าราชการหรือพนักงานของมหาวิทยาลัย/สถาบันอุดมศึกษา หรือหน่วยงานของภาครัฐอื่นๆ ซึ่งไม่อยู่ระหว่างลาศึกษาต่อ หรือลาฝึกอบรมเกินกว่า 6 เดือน และเป็นนักวิจัยเครือข่ายของศูนย์ฯ
2. สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก หรือดำรงตำแหน่งทางวิชาการตั้งแต่ระดับรองศาสตราจารย์ขึ้นไป
3. ไม่เคยเป็นผู้ถูกระงับโครงการวิจัย จากเหตุละทิ้งโครงการวิจัยโดยขาดเหตุผลอันสมควร
4. ไม่เป็นหัวหน้าโครงการที่ผิดสัญญารับทุนจากโครงการอื่นๆ กล่าวคือการค้างส่งรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ หลังจากได้รับทุนแล้วเป็นเวลามากกว่า 2 ปี
5. ไม่เป็นผู้ที่เคยผิดจรรยาบรรณนักวิจัย กำหนดวันส่งข้อเสนอโครงการ ตลอดปี

 

Categories: uncat