ประเทศไทย-เจ้าภาพ การแข่งขันหุ่นยนต์โลก 2013 - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • English
    • Thai

ประเทศไทย-เจ้าภาพ การแข่งขันหุ่นยนต์โลก 2013

logo robot brain

ประเทศไทย-เจ้าภาพ

การแข่งขันหุ่นยนต์โลก 2013

คณะกรรมการสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย ได้หารือกันและพบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างสูงในเวทีการแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติหลายรายการ ดังนั้นประเทศไทยสมควรที่จะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในระดับโลก: RoboCup 2013 ที่จะส่งผลกิจกรรมต่อเนื่องก่อเกิดผลดีต่อไทยหลายประการ ความสำเร็จที่ผ่านมานั้นได้ทำให้ต่างชาติล่วงรู้ถึงความ่สามารถของคนไทยด้านเทคโนโลยี การแข่งขันหุ่นยนต์นี้ยังเป็นการพัฒนาเยาวชนไทยที่มีความสามารถได้มีเวทีแสดงออก ศิษย์เก่าส่วนใหญ่ของการแข่งขันเหล่านี้ได้เข้าทำงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประยุกใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ส่งผลให้ผลิตภัณท์ไทยมีคุณภาพสูง ต้นทุนต่ำ แข่งขันในตลาดโลกได้

2011-06-28 01

ผมเองกำลังเดินสายหาทุนสนับสนุนการแข่งขัน RoboCup 2013 at Bangkok Thailand ทั้งจากภาครัฐและเอกชน จึงต้องเตรียมรายละเอียดเพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้ที่สนใจให้การสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแข่งขัน RoboCup 2011 ในปีนี้ที่ประเทศตุรกี ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 7 วัน ผมจึงได้ขอให้ คุณ เอกลักษณ์ ศุภมณี วิศวกรระบบอัตโนมัติของสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม(ฟีโบ้) มจธ. และยังรับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย ช่วยสรุปข้อมูลทีมไทย ที่เตรียมเข้าแข่งขัน RoboCup 2011 ดังนี้ครับ

RoboCup 2011 ปีนี้โดยมีประเทศตุรกีรับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน จะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 5 และไปสิ้นสุดในวันที่ 11 กรกฎาคม กับการแข่งขัน หุ่นยนต์ 4 ประเภท คือ

  • การแข่งขันหุ่นยนต์เตะฟุตบอล RoboCupSoccer
  • การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย Robocup Rescue
  • การแข่งขันหุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะ RoboCup@Home
  • การแข่งขันหุ่นยนต์เยาวชน RoboCupJunior

การแข่งขันแต่ละประเภทก็จะมีการแข่งขันย่อยๆ ภายในประเภทของตัวเอง ซึ่งการแข่งขันแต่ละประเภทนั้นจะมุ่งเน้นไปในด้านของเทคโนโลยีที่แตกต่างกันไป

  • การแข่งขันหุ่นยนต์เตะฟุตบอล RoboCupSoccer จะเน้นที่การพัฒนาระบบการมองเห็น การวางแผนทักษะด้านเกมการเล่นฟุตบอล และการพัฒนาด้านฮาร์ดแวร์ของหุ่นยนต์เหมือนมนุษย์ ในการแข่งขันนี้ทาง RoboCup ตั้งเป้าหมายไว้ชัดเจนก็คือในปี ค.ศ.2550 จะต้องนำทีมหุ่นยนต์ที่อัตโนมัติทั้งทีม มาแข่งกับทีมของมนุษย์ให้ได้
  • การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย Robocup Rescue จะเน้นที่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี การสร้างหุ่นยนต์ที่มีสภาพทนสมบุกสมบัน เพื่อนำไปใช้ในงานค้นหาและกู้ภัยในสถานการณ์ภัยพิบัติขนาดใหญ่
  • การแข่งขันหุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะ RoboCup @ Home เป็นลีกใหม่ภายในการแข่งขัน RoboCup ที่มุ่งเน้นในการใช้งานจริงของโลก และสร้างปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์กับหุ่นยนต์ มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาการใช้งานหุ่นยนต์ในชีวิตประจำวัน
  • การแข่งขันหุ่นยนต์เยาวชน RoboCupJunior เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์ที่มุ่งเน้นความคิดริเริ่ม การศึกษาเรื่องหุ่นยนต์สำหรับเยาวชนนักเรียนที่อายุต่ำกว่า 19 ปี เป็นการแข่งขันที่จะกระตุ้นให้เยาวชนเข้าใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานเป็นทีมการแบ่งปันความคิดกับเพื่อนๆ

ในปีนี้ประเทศไทย โดยสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย TRS ได้ส่งทีมตัวแทนพัฒนาหุ่นยนต์ไปร่วมชิงชัยทั้งหมด 2 ประเภทการแข่งขันด้วยกันคือ

  1. การแข่งขันหุ่นยนต์เตะฟุตบอล ซึ่งในการแข่งขันประเภทนี้ มีไปด้วยกัน 3 ทีม คือ ทีม Scuba จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งจะทำการป้องกันแชมป์สมัยที่ 4 ของประเทศไทย ในการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ขนาดเล็ก ทีม Phoenix จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งได้แชมป์ในประเทศและเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ขนาดเล็ก และอีก 1 ทีมสุดท้ายคือทีม KMUTT Kicker ทีมน้องใหม่จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ไปแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ขนาดกลาง
  2. การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย ทีม iRAP_ Judy จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งได้แชมป์ในประเทศและเป็นตัวแทนประเทศไทย จะไปป้องกันแชมป์โลกสมัยที่ 6 สมัย นอกจากนี้ยังมี ทีม successfully@RMUTR จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตศาลายา ซึ่งได้อันดับที่ 2 ในประเทศไทยเดินทางไปแข่งขันด้วยครับ

ผมขอให้ทุกทีมที่ไปประสบความสำเร็จในการแข่งขัน และนำชื่อเสียงกลับสู่ประเทศไทยครับ

สำหรับในประเทศไทยเองตอนนี้มีการแข่งขันหุ่นยนต์น้องใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทยครับ คือการแข่งขันหุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2554 หรือ Thailand Robot@Home Championship 2011 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมุ่งส่งเสริมเยาวชนไทยในการพัฒนาหุ่นยนต์ให้สามารถติดต่อปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ได้ เพื่อให้บริการและช่วยเหลืองานต่าง ๆ ในบ้านและที่พักอาศัย เพื่อการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วย หรือผู้ทุพพลภาพ นอกจากนี้ ยังเป็นการเฟ้นหาตัวแทนประเทศไทยไปเข้าร่วมแข่งขันในเวทีระดับโลก World RoboCup : Robot@Home League ที่ประเทศเม็กซิโก ในปี 2012 อีกด้วย ซึ่งจะชี้แจงกติกา และอบรมสัมนาเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 1 เรื่อง

  • Image Processing
  • Face Recognition
  • Speech Recognition

ในวันที่ 30 มิถุนายน 2554 เวลา 8.00-17.00 น. ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 1 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ซึ่งไม่เสียค่าใช้จ่ายในการอบรม ติดตามรายละเอียดได้ที่ http://thailandrobotathome.org

2011-06-28 02

หน่วยงานรับผิดชอบ

ผู้จัดการแข่งขันฯ

สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย

เจ้าภาพจัดการแข่งขันฯ

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ผู้สนับสนุนหลักการแข่งขันฯ

เครือซีเมนต์ไทย (SCG)

 

Categories: Post from Dr.Jiit