วิศวกรรมหุ่นยนต์ฯ ตอบโจทย์การพัฒนากำลังคนเพื่อพัฒนาประเทศ - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • English
    • Thai

วิศวกรรมหุ่นยนต์ฯ ตอบโจทย์การพัฒนากำลังคนเพื่อพัฒนาประเทศ

4

     ในการก้าวสู่การเป็นประเทศผู้นำในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ประเทศไทยมีความต้องการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในหลายมิติ อาทิ การแก้ไขปัญหาและการพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ จะยังผลต่อการยกระดับความสามารถการแข่งขันของประเทศไทย ให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนได้

     หลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จึงเป็นหนึ่งใน 4 หลักสูตรเทคโนโลยีเพื่ออนาคตที่สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ภายใต้กำกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ และร่วมกับสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับความต้องการในการพัฒนาประเทศ

     รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการฟีโบ้ ให้ความเห็นถึงความต้องการบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติว่า จากการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมอย่างหนักหน่วงตลอดระยะเวลา 18 ปี ที่ผ่านมา ทำให้สถาบันฯ รับทราบถึงความต้องการบุคลากรระดับปริญญาตรีที่มีความรู้ความสามารถในการใช้ ดัดแปลง และคิดค้นเทคโนโลยีหุ่นยนต์อัตโนมัติ เพื่อใช้ในขบวนการผลิตอุปกรณ์ต่าง ๆ นอกจากนี้ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ มีความเกี่ยวข้องกับงานด้านสำรวจ การแพทย์ จราจร หรือแม้กระทั่งวงการบันเทิง ก็กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีนักธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ รวมถึงนักวิจัยและอาจารย์ด้านหุ่นยนต์หากพวกเขาเหล่านั้นศึกษาต่อเนื่องในชั้นที่สูงขึ้น

     ดร.อาบทิพย์ ธีรวงศ์กิจ ประธานหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ฟีโบ้ มจธ. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักสูตรว่า

“การเรียนการสอนด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของฟีโบ้นั้นจะเน้นการเรียนการสอนแบบ Active Learning ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ผ่านการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทั้งในและนอกห้องเรียน ในแต่ละภาคการศึกษา นักศึกษาจะได้ทำโครงงาน 1 – 2 โครงงานหลัก ซึ่งจะเป็นโครงงานร่วมกันระหว่างวิชาที่นักศึกษาเรียนในภาคการศึกษานั้น เน้นการแก้ปัญหาจากโจทย์จริง เพื่อให้นักศึกษาได้เห็นภาพรวมของการบูรณาการศาสตร์ทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้า เครื่องกล และคอมพิวเตอร์เข้าเป็นระบบอย่างเป็นรูปธรรม และยังเป็นการสร้างเสริมแรงผลักดันในการเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิตของนักศึกษาอีกด้วย”

หลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์ฯ เปิดโอกาสให้นักศึกษาชั้นปีที่ 3 และ 4 สามารถเลือกเรียนวิชาเลือกได้ตามความถนัด และความสนใจในเส้นทางอาชีพของตนเอง ใน 3 ด้าน ประกอบด้วย
1. นักศึกษาที่สนใจเรียนต่อทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในระดับ ป.โท และ เอก สามารถเลือกเรียนวิชาขั้นสูงทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติได้ ผ่านวิชา Special Topics
2. นักศึกษาที่สนใจต่อยอดเป็นผู้ประกอบการทางเทคโนโลยี ทางหลักสูตรมีความร่วมมือกับหลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยี เปิดวิชาเลือกเพื่อปูพื้นฐานทางด้านธุรกิจเทคโนโลยีให้แก่นักศึกษา
3. นักศึกษาที่สนใจทำงานในภาคอุตสาหกรรม หลักสูตรมีวิชา Work-integrated Learning เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสเข้าฝึกงานในบริษัทอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อทำโครงงานจากโจทย์อุตสาหกรรมจริง ดร.อาบทิพย์ กล่าวเพิ่มเติม

หลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งจะดำเนินการสอนโดยสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในปีการศึกษา 2557 ตั้งเป้ารับนักศึกษา จำนวน 80 คน ต่อปี และ สวทน.จะให้การสนับสนุนทุนให้เปล่า ปีละอย่างน้อย 20 ทุน เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความเข้าใจทางด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาในเชิงกระบวนการผลิตและสร้างนวัตกรรม พร้อมสนับสนุนการศึกษาต่อเนื่องเพื่อทำวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติระดับสูง อีกทั้งส่งเสริมให้สามารถเป็นผู้ประกอบการทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติได้

ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดการสมัครเข้าศึกษา โทร. 0-2470-9715-6 หรือทางอีเมล์ study@fibo.kmutt.ac.th และสามารถติดตามข่าวสารฟีโบ้ได้ทางเว็บไซต์ www.fibo.kmutt.ac.th และ facebook: fibokmutt

Categories: News