เรืออัตโนมัติ
ควบคุมการเคลื่อนที่ด้วย GPS สำหรับงานทางด้านสิ่งแวดล้อม
วันนี้ผมได้พบกับนักวิจัยทางด้านหุ่นยนต์สามท่านคือ ดร. ปาษาณ กุลวานิช ผู้ซึ่งบุกเบิก Rocup Humanoid Contest ให้กับประเทศไทยขณะศึกษาระดับปริญญาเอกที่ฟีโบ้ ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ กรมวิทยาศาสตร์บริการ และ ดร. ปรัชญา เปรมปราณีรัชต์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญญบุรี และเป็น Visiting Researcher ที่ M.I.T นักวิจัยเหล่านี้ได้รวมตัวกันเพื่อออกแบบสร้าง เรืออัตโนมัติ ควบคุมการเคลื่อนที่ด้วย GPS สำหรับงานตรวจสอบสภาวะสิ่งแวดล้อมใต้พื้นผิวของแม่น้ำและลำคลองทั่วไป เรืออัตโนมัตินี้มีลักษณะคล้ายกับ “หุ่นยนต์ดำน้ำ” :Remotely Operated Underwater Robotic Vehicles ที่นักวิจัยอเมริกันออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้ในการสำรวจใต้ท้องทะเลมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาลกว่าผืนแผ่นดิน อุดมสิ่งมีชีวิตต่างๆที่มนุษย์เรายังมิได้พบเห็นเลย ตลอดจนแร่ธาตุและก๊าซธรรมชาติยังมีอยู่มากมาย
หุ่นยนต์ดำน้ำประเภทนี้ใช้การควบคุมระยะไกล (Teleoperation) เป็นหุ่นยนต์ที่มีความชาญฉลาดต่ำสุดเพราะต้องอาศัยการตัดสินใจของมนุษย์เป็นหลัก ทั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่จำเป็นเพราะการสำรวจใต้ทะเล ส่วนใหญ่เราไม่ทราบว่าต้องเผชิญกับอะไรบ้าง? จะปล่อยให้หุ่นยนต์กระทำอะไรลงไปโดยพละการไม่ได้ อย่างไรก็ตามในระยะหลังนักวิจัยได้ใส่ความสามารถในการคำนวณทำให้หุ่นยนต์สามารถว่ายหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้บ้าง โดยติดตั้งระบบการรับรู้ (Perception) เช่น Video Camera, Sonar, Inertial sensor, Magnetometer และ GPS แต่เรายังใจไม่ถึงพอไม่กล้าปล่อยให้เขาว่ายไปตามลำพังหรอกครับ จึงต้องมีสายควบคุม (Tether) เชื่อมต่อสัณญาณระหว่างหุ่นยนต์กับศูนย์บังคับการบนเรือที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ ทั้งนี้เนื่องจากระบบสัณญาณไร้สายยังทำงานผ่านน้ำได้ไม่ดีนัก สายดังกล่าวยังรวมเอาสายไฟฟ้าส่ง กำลัง หุ่นยนต์ดำน้ำถือกำเนิดขึ้นเช่นเดียวกับเทคโนโลยีอื่นๆ คือมาจากวงการทหารตั้งแต่ ปี 1960 จนพัฒนาเรื่อยมาสู่อุตสาหกกรรมการสำรวจน้ำมันใต้ทะเล หุ่นยนต์ดำน้ำในปัจจุบันมีระยะทำงานลึกถึง 3,000 เมตร นอกจากเรื่องสำรวจแล้ว หุ่นยนต์เหล่านี้ยังมีหน้าที่ดูแลและบำรุงรักษา (O&M: Operation and Maintenance) ระบบท่อส่งแก๊ส-น้ำมันใต้ทะเลอีกด้วยครับ
โครงการวิจัยและพัฒนา “เรืออัตโนมัติ” นี้มุ่งเน้นงานวิจัยเรื่องระบบควบคุมการเคลื่อนที่แบบ Podded Propulsion สำหรับใช้ในเรือขนาดเล็ก ระบบดังกล่าวเป็นระบบหุ่นยนต์ภาคสนามที่ต้องปฏิบัติการภายใต้สภาวะที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติหน้าที่โดยมนุษย์โดยต้องคงความแม่นยำ เที่ยงตรงและทนทานต่อการใช้งานและสภาพแวดล้อม งานวิจัยนี้ยังมุ่งเน้นการพัฒนาระบบเรืออัตโนมัติให้เหมาะสมและสามารถใช้งานได้จริงตอบสนองต่อความต้องการใช้งานทางด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งมุ่งเน้นการจัดการทรัพยากรน้ำ เรืออัตโนมัติสามารถเคลื่อนที่ไปตามจุดที่กำหนดโดยใช้คนบังคับจากระยะไกลผ่านคลื่นวิทยุแบบ 2.4 GHz หรือสามารถเคลื่อนที่แบบอัตโนมัติโดยใช้อุปกรณ์ GPS และ Inertial Measurement Unit ควบคู่กันในการนำร่อง โดยที่ผู้ใช้กำหนดจุดที่ต้องการให้เรือผ่านหรือแวะได้ล่วงหน้าจากนั้นระบบปัญญาประดิษฐ์ของเรือและระบบเซนเซอร์สำหรับการเคลื่อนที่จะบังคับให้เรือแวะผ่านจุดหมายที่กำหนดทุกจุดได้อย่างแม่นยำ อนึ่งระบบ GPS เมื่อใช้ในแบบ Real-time Kinematic (RTK) ผ่านระบบเครือข่าย Virtual Reference Station (VRS) ของกรมที่ดินจะมีความคลาดเคลื่อน ไม่เกิน +/- 10 เซ็นติเมตร เรืออัตโนมัติจะใช้โครงสร้างแบบเรือคายัคพร้อมระบบขับเคลื่อนแบบ Podded Propulsion ซึ่งเป็นระบบขับเคลื่อนที่รวมมอเตอร์ส่วนขับดัน (Thruster) และมอเตอร์บังคับทิศทางไว้เป็นชุดเดียวกันส่งผลให้เรือมีความคล่องตัวในการเคลื่อนที่สูงเช่นสามารถบังคับรัศมีการเลี้ยวได้ในวงแคบหรือเท่ากับศูนย์ เรือสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ประมาณ 3 เมตรต่อวินาทีและปล่อยเสียงดังรบกวนจากมอเตอร์น้อยมาก เรือมีระวางบรรทุกน้อยกว่าหรือเท่ากับ 90 กิโลกรัมสามารถติดตั้งระบบตรวจวัดสำหรับงานทางด้านสิ่งแวดล้อมได้เช่นเครื่องวัดระดับความลึกใต้น้ำ (Echo Sounder) หัววัดคุณภาพน้ำ ระบบเก็บตัวอย่างน้ำอัตโนมัติ
ภาระกิจที่กำหนดไว้สำหรับเรืออัตโนมัติแบ่งได้เป็นสามภาระกิจหลักคือ
- ภาระกิจที่ 1 เก็บตัวอย่างน้ำที่ระดับความลึกต่างๆกันเพื่อนำมาให้ห้องปฏิบัติการทางสิ่งแวดล้อมของกรมวิทยาศาสตร์บริการวิเคราะห์หาพารามิเตอร์ต่างๆที่มีผลต่อคุณภาพน้ำโดยใช้อุปกรณ์เก็บตัวอย่างน้ำอัตโนมัติ
- ภาระกิจที่ 2 ปฏิบัติการสำรวจความลึก ณ จุดต่างๆในอ่างเก็บน้ำด้วยอุปกรณ์ Echo Sounder เพื่อประโยชน์ในการสร้างแบบจำลองอ่างเก็บน้ำเพื่อการคำนวณหาปริมาตรที่ถูกต้องแม่นยำ
- ภาระกิจที่ 3 เฝ้าระวังคุณภาพน้ำแบบ ณ เวลาจริงโดยใช้อุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพน้ำแบบ ณ จุด พร้อมระบบรับส่งข้อมูลระยะไกลผ่านเครือข่ายสื่อสารแบบ GPRS/GSM
โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง กรมวิทยาศาสตร์บริการ, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญญบุรี, สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) และ ฟีโบ้ ครับ
ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th