GT-200
เมื่อประมาณ 3-4 เดือนก่อน ผมได้รับการขอร้องให้ทีมฟีโบ้ทำการศึกษาอุปกรณ์ GT-200 เพื่อหาแนวทางทำวิศวกรรมย้อนรอย ได้ยินว่ากองทัพไทยจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์นี้มากในการตรวจหาระเบิด ผมได้ถามผู้เชี่ยวชาญทหารที่มาสาธิตอุปกรณ์นี้ที่ฟีโบ้ เกี่ยวกับหลักการทางเทคนิค ได้รับคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่ค่อยชัดเจนมากนัก ผมอนุมาณว่าบริษัทผุ้ผลิตต่างชาติคงไม่อยากแบไต๋ Knowhow ของเขาให้ทหารเรารู้ กลัวว่าเราสามารถทำวิศวกรรมย้อนรอยได้เร็วเกินไป
วันนี้มีการโต้เถียงระหว่างนักวิชาการ และทหารผู้ปฏิบัติงาน โดยฝ่ายหนึ่งเชื่อว่า GT-200 ไม่มีความสามารถทางเทคนิคดังกล่าวอ้าง ประจุไฟฟ้าสถิตย์ไม่สามารถขับเคลื่อนให้วงจรอิเลกทรอนิคทำงานได้ ในบางครั้งกลับทำลายชิ้นส่วนในแผงอิเลกทรอนิคส์เสียอีก ดังเช่นในขบวนการผลิตฮาร์ดดิสค์นั้นที่เราจำเป็นต้องกำจัดประจุไฟฟ้าสถิตย์ทิ้งไปเสีย ผมเชื่อว่าหาก GT-200 เป็นอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์จริงต้องทำเหตุการณ์ซ้ำๆได้โดยให้ผลเหมือนเดิม (Repeatability) ผมรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ทั้งสองฝ่ายตกลงจะทำการทดสอบเพื่อให้ความจริงปรากฎ ซึงจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย รวมทั้งเยาวชนไทยที่ได้รับการปลูกฝังให้มีความคิดวิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์ วันก่อนผมได้หารือกับท่านผู้อำนวยการเนคเทค ว่า เราควรใช้ Testing Facility ที่มีอยู่เพื่อการทดสอบในครั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรม ต้องทดสอบทั้งหลักการวิชาการที่ยอมรับกันทั่วไป และหลักการทางวิทยาศาสตร์จากผู้ผลิตด้วย
ลูกศิษย์ผมคนหนึ่งได้เขียนบทความลงในเวปไซด์เรื่อง “อุปกรณ์ตรวจจับสารพัดสารวิเศษ (dowsing)” ผมเห็นว่ามีข้อมูลที่มาที่ไปหลายอย่างที่น่าสนใจ จึงขอนำมาเผยแพร่ให้สาธารณะชนได้รับรู้ แต่ขออนุญาติตัดชื่อบุคคลที่ถูกเอ่ยถึงในบทความ และละเว้นบางข้อความที่กระตุ้นอารมณ์ออกไป แม้ว่าผู้เขียนจะมีเจตนาดีก็ตาม เนื่องจากผมเกรงว่าอรรถรสทางวิชาการจะลดน้อยไป ขอเริ่มเลยนะครับ
………คน ในรุ่น generation X คงไม่มีใครไม่รู้จักแท่งดาวซิ่ง (dowsing rod) ที่โนบิตะและไจแอนท์นำมาใช้ค้นหาของมีค่าที่ซุกซ่อนอยู่ในสนามหญ้าในการ์ตูน ชื่อดัง “โดราเอมอน” แท่งดาวซิ่งนี้สืบต้นกำเนิดย้อนไปได้ถึงสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 15 ในประเทศเยอรมัน มีคนที่อ้างตัวเป็นผู้วิเศษ ผู้พยากรณ์ หรือเรียกตามศัพท์เฉพาะของเขาว่า “ดาวเซอร์” (dowser) คนเหล่านี้อ้างว่ามีความสามารถในการค้นหาแหล่งน้ำใต้ดิน หรือทรัพย์สมบัติมีค่าที่ฝังอยู่ใต้ดิน รวมถึงสายแร่ต่างๆ โดยอาศัยพลังพิเศษของตนทำงานร่วมกับแท่งดาวซิ่ง สมัยก่อนแท่งดาวซิ่งจะเป็นกิ่งไม้ที่แตกแขนงเป็นรูปร่างเหมือนตัว Y ผู้พยากรณ์ถือกิ่งไม้นี้ในแนวราบเดินไปสำรวจดินแดน หากพบของมีค่าใต้ดินตามที่ค้นหา กิ่งไม้จะเคลื่อนขึ้นสูงเป็นสัญญาณ
ต่อมาแท่งดาวซิ่งมีวิวัฒนาการมาเป็นแท่งเหล็กรูปตัว L จำนวน 2 ก้าน ถือด้วยมือซ้ายและขวา ก็คือแบบเดียวกับที่เราเห็นในการ์ตูนโดราเอมอนนั่นเอง เทคนิคของผู้พยากรณ์ก็มีมากขึ้น มีการอธิบายถึงการเคลื่อนที่ของแท่งดาวซิ่งทั้ง 2 ก้านนี้ว่า หากหันออกจากกัน หรือหันเข้าหากัน จะตีความหมายอย่างไร การอธิบายความหมายการเคลื่อนที่ของแท่งดาวซิ่งนี้ถือเป็นความสามารถพิเศษ ประมาณว่า ผู้พยากรณ์เป็นผู้มีพลังจิตอันสูงส่ง หรือมิฉะนั้นก็สามารถเชื่อมต่อกับวิญญาณธรรมชาติได้ คนใช้งานแท่งดาวซิ่งได้จึงไม่ใช่คนทั่วไป ต้องเป็นคนที่มีความสามารถพิเศษเท่านั้น และคนเหล่านี้ก็ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำจากผู้ที่มีความศรัทธาเชื่อถือ
นักวิทยาศาสตร์เคยพยายามค้นหาเหตุผลมาอธิบายหลักการทำงานของดาวซิ่งว่า เป็นอย่างไร แต่ก็ไม่สามารถหาได้ และเมื่อนำมาทำการทดสอบวัดผลอย่างจริงจัง เก็บค่าสถิติการทำงานตามหลักเกณฑ์วิชาการแล้ว ก็พบว่า การทำนายของแท่ง ดาวซิ่งได้ผลลัพธ์ไม่ต่างจากการเดาสุ่ม บางคนเข้าใจว่าได้ผลลัพธ์เท่ากับการโยนหัวก้อย ขอบอกว่า “ไม่ใช่” เพราะการโยนหัวก้อยยังได้ผลประมาณ 50-50 แต่การเดาสุ่มได้ผลลัพธ์ที่ต่ำกว่านั้น หากต้องการอ้างอิงขอให้ดูผลการทดสอบของ Sandia National Lab ที่ได้ผลการทำงานของอุปกรณ์ลักษณะคล้ายดาวซิ่ง ใช้ชื่อทางการค้าว่า “MOLE” ได้ผลลัพธ์ถูกต้องประมาณ 33% ซึ่งทางห้องทดลองสรุปผลว่า “ไม่ได้ดีไปกว่าการเดาสุ่มเลย” ว่าไปแล้ว มันก็เหมือนกับการเล่นผีถ้วยแก้ว หรือการทำนายทางโหราศาสตร์ ดาวซิ่งถูกจัดประเภทว่าเป็น “เรื่องเหนือธรรมชาติ” ซึ่งวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถอธิบายได้ การดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับดาวซิ่งจึงเป็นด้วยความเชื่อ ความศรัทธา เท่านั้น ไม่ต่างอะไรกับการปลุกเสกเครื่องรางของขลัง ความเชื่อในอิทธิปาฏิหาริย์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ดาวซิ่งยุคใหม่สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำเสียยิ่งกว่าที่ดาวเซอร์คน ไหนๆ เคยทำมา เมื่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการด้านตำรวจ ทหาร และความมั่นคงของชาติ คราวนี้แทนที่จะตรวจหาแหล่งน้ำ สายแร่ หลุมฝังศพ ดาวซิ่งยุคใหม่สามารถค้นหาวัตถุระเบิด สารเสพติด หรือศพ ทว่าหลักการค้นหายังคงเหมือนเดิม คือ ใช้แท่งดาวซิ่งที่เป็นก้านยาวๆ มีการเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ ทำงานร่วมกับพลังความสามารถหรือพลังจิตของผู้พยากรณ์ ที่แปรสภาพมาเป็นเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกฝนหลักสูตรขั้นสูง ดาวซิ่งยุคใหม่มีชื่อทางการค้ามากมาย สร้างขึ้นโดยบริษัทต่างๆ กัน เช่น MOLE และ GT200 ของ Global Technical, ADE หลากหลายหมายเลขของ ATSC, PSD22 ของ ISCC, Alpha 6 ของ Comstrac และอื่นๆ อีกมากมายเช่น Quodro Tracker, SNIFFEX, H3Tec, HEDD1 แม้จะมีชื่อที่แตกต่างกัน แต่หลักการทำงานจะคล้ายคลึงกันทั้งสิ้น หน่วยงานของรัฐบาลประเทศโลกตะวันตกเอง (เช่นสหรัฐอเมริกา) ยังเคยหลงเชื่อและซื้อเอาดาวซิ่งแปลงโฉมเหล่านี้ไปใช้งาน แต่ต่อมาก็มีการตั้งข้อสงสัยและตรวจสอบประสิทธิภาพอย่างจริงจัง ดังตัวอย่างหนึ่งที่ยกไปข้างต้นแล้วคือการทดสอบของ Sandia Lab จนกระทั่ง FBI ต้องออกประกาศเตือนหน่วยงานต่างๆ อย่าได้หลงเชื่อและจัดซื้ออุปกรณ์ตรวจจับระเบิดเทียมเหล่านี้ ประกาศครั้งแรกในปี ค.ศ. 1995 และประกาศซ้ำปี ค.ศ. 1999 มีการระบุถึงลักษณะของอุปกรณ์หลอกลวงเหล่านี้ในภาพรวม ดังนี้
“… เป็น “เทคโนโลยีใหม่” ที่คล้ายดาวซิ่ง แต่จะอ้างถึงการแยกแยะความถี่โมเลกุลหรือการเหนี่ยวนำสนามพลังงาน มักอ้างว่าสามารถตรวจจับวัตถุขนาดเล็กๆ ได้ในระยะทางไกลมากๆ และส่วนมากไม่มีแหล่งพลังงาน ให้สงสัยไว้ก่อนหากพบเครื่องมือที่ใช้แท่งเหล็กเคลื่อนที่อิสระที่ถือในแนว ระนาบ สามารถระบุตำแหน่งของที่ค้นหาด้วยการชี้ ให้ระวังเครื่องมือลักษณะคล้ายลูกตุ้มที่แกว่งไปมาเพื่อแสดงการตอบสนองต่อ สิ่งที่ค้นหา ให้ระวังการโฆษณาที่มักกล่าวอ้างถึงพยานบุคคลผู้เคยใช้งานแล้วและ “พึงพอใจ” แต่ไม่สามารถแสดงหลักฐานการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้ ให้ระวังอุปกรณ์ที่ต้องถือโดยคนและมีรูปร่างเหมือนแท่งดาวซิ่ง ให้ระวังอุปกรณ์ที่บอกว่าต้องมีการฝึกอบรมพิเศษ ใช้งานยาก ไม่ใช่ทุกคนจะใช้ได้ ทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุให้ผู้ผลิตกล่าวโทษทางผู้ใช้งานเองในกรณีที่ ใช้งานไม่ได้จริง…”
หลักการพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ที่เราร่ำเรียนกันมาตั้งแต่เด็กๆ (เด็กๆ! ไม่ใช่ระดับมหาวิทยาลัย) คือการสงสัยใคร่รู้ และการสร้างการทดลองเพื่อหาข้อสรุปในสิ่งที่เราสงสัยนั้น เรากำหนดหัวข้อการทดลอง ขอบเขตการทดลอง สมมุติฐาน วิธีการทดลอง วิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง แล้วทำการสรุปผล วิทยาศาสตร์สอนให้เรารู้จักการลำดับเหตุและผล รู้จักการใช้ตรรกะ รู้จักการพิสูจน์ นี่ไม่ต่างอะไรกับหลักกาลามสูตรในพระพุทธศาสนา ซึ่งไม่เคยสอนเรื่องการเชื่องมงายในสิ่งที่อธิบายไม่ได้……..
โต้เถียงอย่างมีสัมมาสติ แม้จะมีความ “สูญเสีย” บ้างแต่สังคมไทยจะไม่ “เสียศูนย์” ครับ
ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th
——————————————————————————————