ผลการแข่งขัน RoboCup Humanoid League 2009
ในปีนี้ประเทศไทยประสบความสำเร็จอีกครั้งหนึ่งในการแข่งขัน RoboCup 2009 จัดที่เมืองแกรซ (Graz)ประเทศออสเตรีย ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ถึง 5 กรกฏาคม พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมา ไทยยังคงรักษาแชมป์ Rescue Robot (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ) และ Small-size Soccer Robot (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ผมขอขอบคุณน้องๆที่ได้สร้างชือ่เสียงให้กับประเทศไทยอย่างมาก และจะได้ขอให้ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ สรุปเนื้อหาการแข่งขันของทั้งสองลีคให้ท่านผู้อ่านทราบในโอกาสต่อไป วันนี้ คุณสาธิต วณิชชัยกิจ หนึ่งในทีม Humanoid League ของไทยได้เล่าให้ฟังว่าหุนยนต์ไทยมีสมรรถนะดีขึ้นมากจากปีที่แล้ว สามารถเอาชนะทีมคู่แข่งจากสิงคโปร์ได้ทั้งสองทีม คุณสาธิตได้ให้รายละเอียดดังนี้ครับ
RoboCup, Humanoid League ทีมที่เข้าทำการแข่งขันจะต้องประดิษฐ์หุ่นยนต์สองขาทีมีลักษณะคล้ายมนุษย์ (Humanoid Robot) ซึ่งมีความสามารถในการเล่นฟุตบอล เข้าทำการแข่งขันกับทีมฝ่ายตรงข้าม โดยในระหว่างการแข่งขันแต่ละนัด แต่ละทีมจะมีหุ่นยนต์ได้ไม่เกิน 3 ตัว และหุ่นยนต์จะต้องทำงานอย่างอัตโนมัติตลอดการแข่งขัน ทั้งการทำประตู การทำป้องกันประตู รวมถึงการทำงานสอดประสานระหว่างเพื่อนร่วมทีมหุ่นยนต์ด้วยกัน ทีมที่สามารถเตะลูกบอลเข้าประตูได้มากกว่าภายในเวลาที่กำหนดจะเป็นผู้ชนะการแข่งในนัดนั้น โดยรายละเอียดกติกาการแข่งขันจะอ้างอิงและดัดแปลงมาจากกติกาฟุตบอลของ FIFA ทำให้เกมการแข่งขันเข้าใจได้ง่าย และสนุกเหมือนกับในการแข่งขันฟุตบอลระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง
ในปีนี้มีนักวิจัยและนักศึกษามากมายจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกเข้าร่วม โดยสำหรับ Humanoid League นั้น มีทีมจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ จำนวน 22 ทีม จาก 11 ประเทศ เข้าร่วมทำการแข่งขัน ซึ่งทีม TeamKMUTT จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ก็เป็นหนึ่งในทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันด้วยเช่นกัน
ในช่วงสองวันแรกของการแข่งขัน (วันที่ 29-30 มิถุนายน) เป็นวันสำหรับให้ทุกทีมทำการซ้อมและปรับแต่งระบบหุ่นยนต์ของทีมตนเองให้เข้าเข้ากับสภาพแวดล้อมต่างๆ ของสนามแข่งขัน โดยการแข่งขันรอบคัดเลือกต่างๆ จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏาคม เป็นต้นไป และทำการแข่งรอบชิงชนะเลิศในวันที่ 5 กรกฎาคม
ในการแข่งขันรอบคัดเลือกรอบแรกนั้น ทีมทั้งหมดถูกแบ่งออกเป็น 8 กลุ่ม (A – H) โดยแต่ละกลุ่มจะมี 2 หรือ 3 ทีม ซึ่งทุกทีมในแต่ละกลุ่มจะต้องทำการแข่งขันแบบพบกันหมด โดยทีมที่ได้คะแนนเป็นลำดับที่ 1 ของกลุ่มจะผ่านเข้าไปรอแข่งต่อในรอบคัดเลือกที่ 2 สำหรับทีมลำดับที่ 2 และ 3 ของกลุ่มจะถูกนำไปจับคู่แข่งกับทีมลำดับที่ 2 และ 3 จากกลุ่มข้างเคียงอีกทีหนึ่งเพื่อหาผู้ชนะที่จะผ่านเข้ารอบคัดเลือกที่ 2 ต่อไป โดยทีม TeamKMUTT อยู่ในกลุ่ม G ซึ่งประกอบไปด้วยทีม TeamRope จากประเทศสิงคโปร์ และทีม Persia จากประเทศอิหร่าน โดย TeamRope นั้น เป็นทีมที่เคยได้ลำดับที่ 4 ของ Humanoid League ในการแข่งขัน RoboCup 2008 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศจีน ทำให้คาดกันว่าน่าจะเป็นทีมที่สร้างความลำบากให้กับ TeamKMUTT ได้มากที่สุดในการแข่งขันรอบคัดเลือกรอบแรก แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความพร้อมของระบบหุ่นยนต์และสมาชิกทีม ทำให้ TeamKMUTT สามารถชนะ TeamRope ไปได้ด้วยคะแนน 4 ต่อ 0 และชนะทีม Persia ไปด้วยคะแนน 6 ต่อ 0 ส่งผลให้ TeamKMUTT ผ่านเข้าเป็นลำดับที่ 1 ของกลุ่ม G ไปรอแข่งต่อในรอบคัดเลือกที่ 2 ต่อไป
สำหรับการแข่งขันในรอบคัดเลือกที่ 2 นั้น เหลือทีมทั้งหมด 16 ทีม ซึ่งได้ถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม (I – L) กลุ่มละ 4 ทีม และทุกทีมในแต่ละกลุ่มจะต้องทำการแข่งขันแบบพบกันหมดเช่นเดียวกับในรอบแรก ยกเว้นเพียงว่าทีมที่ทำคะแนนได้เป็นลำดับที่ 1 และ 2 ของกลุ่มเท่านั้น ที่จะสามารถผ่านเข้าไปแข่งขันในรอบ 8 ทีมสุดท้ายได้ ซึ่งในรอบนี้นั้น TeamKMUTT อยู่ในกลุ่ม K ซึ่งประกอบไปด้วยทีม Darmstadt Dribblers จากประเทศเยอรมันนี, ทีม Robo-Erectus Jr. จากประเทศสิงคโปร์ และทีม UofM Humanoids Kid จากประเทศแคนาดา โดยนัดแรกของการแข่งขันในรอบนี้ TeamKMUTT ได้แข่งกับทีม Darmstadt Dribblers ซึ่งเป็นทีมตัวเต็งของการแข่งขันนี้ โดย TeamKMUTT ได้พยายามอย่างสุดความสามารถในการปรับแต่งระบบและหุ่นยนต์เพื่อต่อสู้กับ Dribblers แต่เนื่องจากความล้มเหลวของระบบเครือข่ายไร้สาย ทำให้หุ่นยนต์ของ TeamKMUTT ไม่สามารถดำเนินการสื่อสารกันอย่างปกติได้ ส่งผลให้ประสิทธิภาพของการทำงานประสานกันของหุ่นยนต์ในทีมลดลงไปมาก ทำให้ TeamKMUTT แพ้ทีม Darmstadt Dribblers ไปด้วยคะแนน 10 ต่อ 0 ก่อนหมดเวลาการแข่งครึ่งเวลาหลังเพียง 2 นาที อย่างไรก็ตามด้วยความพยายามในการปรับแต่งระบบสื่อสารให้กลับมาใช้งานได้ ทำให้การแข่งขัน 2 นัดที่เหลือกับทีม UofM Humanoids Kid และทีม Robo-Erectus Jr. นั้น ทีม TeamKMUTT สามารถเอาชนะไปได้ด้วยคะแนน 8 ต่อ 0 และ 3 ต่อ 0 ตามลำดับ และผ่านเข้าเป็นที่ 2 ของกลุ่ม K เข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้าย
ในรอบ 8 ทีมสุดท้ายนั้น TeamKMUTT ได้แข่งกับทีม CIT Brains จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเคยได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากการแข่งขันในปีก่อน และเป็นหนึ่งในตัวเต็งของการแข่งขันในปีนี้เช่นกัน ซึ่งหุ่นยนต์ของ CIT Brains นั้น มีความสามารถที่จะยิงประตูจากระยะไกลเกินครึ่งสนามได้ หุ่นยนต์ทุกตัวสามารถที่จะสื่อสารและทำงานสอดประสานกันได้ และหุ่นยนต์ผู้รักษาประตูสามารถที่จะพุ่งรับลูกยิงได้ด้วย ในขณะที่ TeamKMUTT ได้เปรียบกว่าในเรื่องประสิทธิภาพของระบบจับตำแหน่งวัตถุด้วยภาพ ซึ่งทำให้หุ่นยนต์ของ TeamKMUTT สามารถตรวจจับลูกบอลที่อยู่ไกลออกไปมากๆ ได้ดีกว่า ทำให้สามารถเข้าถึงลูกบอลได้เร็วและช่วยป้องกันการยิงไกลของทีม CIT Brains ได้ การแข่งขันผลัดกันรุกรับอย่างดุเดือด โดยทีม CIT Brains ทำประตูไปก่อน 1 ประตู และจากนั้นไม่นานนัก TeamKMUTT ก็ทำประตูตีเสมอได้ การแข่งขันดำเนินสูสี จนกระทั่งคอมพิวเตอร์บนหุ่นยนต์ของ TeamKMUTT ได้รับความเสียหายจากการล้ม จึงต้องเปลี่ยนตัวหุ่นยนต์ผู้เล่นสำรองลงแข่งแทน ทำให้ทีม CIT Brains ยิงลูกบอลจากระยะไกลได้ และทำคะแนนนำไปเป็น 2 ต่อ 1 ประตู จากนั้น หุ่นยนต์ผู้เล่นสำรองของ TeamKMUTT ที่เปลี่ยนลงไปเกิดความเสียหายจากบอร์ดคอมพิวเตอร์เช่นกัน ทำให้ตลอดเกมที่เหลือ มีหุ่นยนต์ผู้เล่นเหลือเพียง 2 ตัวเท่านั้น ส่งผลให้เสียประตูเพิ่มอีก 3 ประตู จากการยิงไกลของทีม CIT Brains แต่ทาง TeamKMUTT ก็ยังสู้ต่ออย่างเต็มที่จนสามารถทำประตูเพิ่มได้อีก 1 ประตูในช่วง 5 วินาทีสุดท้ายของการแข่งขัน ทำให้จบเกมไปโดยที่ทีม CIT Brains ชนะ TeamKMUTT ไปด้วยคะแนน 5 ต่อ 2 ประตู
สำหรับผลการแข่งขันของ RoboCup Humanoid League 2009 มีดังนี้
รางวัลชนะเลิศ: Darmstadt Dribblers จากประเทศเยอรมันนี
รองชนะเลิศอันดับ 1: FUmanoids จากประเทศเยอรมันนี
รองชนะเลิศอันดับ 2: CIT Brains จากประเทศญี่ปุ่น
ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th