UWV ของกองทัพเรือไทย
ผมเห็นว่าการพัฒนาเทคโนโลยีให้สำเร็จนั้น จำเป็นต้องอาศัยภาคปฏิบัติ (Hands on) อย่างต่อเนื่อง บนพื้นฐานที่แข่งแกร่งในการออกแบบและวิเคราะห์ทางทฤษฎี ประเทศที่กำลังพัฒนาจึงพยายามแทรก “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ของตนในโครงการพื้นฐานต่างๆ เช่น โทรคมนาคมของจีน ทำให้เกิด บริษัทหัวเหว่ย และ บริษัทแซททีอี ที่ปัจจุบันเจริญเติบโตจนสามารถแข่งขันกับบริษัทชั้นนำของค่ายตะวันตก ผมยังเคยได้ยินมาว่าโครงการรถไฟ้ฟ้าความเร็วสูงของเกาหลีใต้ มีการกำหนดเงื่อนไข (TOR: Term of References) ให้ผู้ประมูลต่างชาติที่ได้งานต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกาหลีใต้ จนกระทั่งมีภูมิปัญญาดำเนินงานในระยะต่อไปได้เอง ด้วยความขยันและใฝ่รู้ของคนเกาหลีผมขอคาดเดาเลยว่า สักวันหนึ่งเกาหลีใต้จะพัฒนาขึ้นเป็นผู้นำเทคโนโลยีนี้ของโลกครับ ประเทศไทยเราเอง ในขณะนี้ก็มีอยู่หลายอภิมหาโครงการ ผมหวังว่าเม็ดเงินงบประมาณตกอยู่กับบริษัทคนไทยมากๆนะครับ ลูกหลานจะได้มีกำลังไปแข่งขันในตลาดโลกได้ “ไทยต้องเชื่อไทยว่า ไทยทำได้” เสียก่อนค่อยหวังว่าคนอื่นจะมาเชื่อเราครับ
สัปดาห์ที่แล้ว ผมได้เล่าถึง เรืออัตโนมัติเพื่องานสำรวจสิ่งแวดล้อม ที่ทีมนักวิจัยไทยสามหน่วยงานได้หารือเตรียมออกแบบสร้างขึ้นมา อันที่จริงองค์ความรู้เรื่อง “ยานกลใต้น้ำไร้คนขับ” (UWV: Under Water Vehiocle) นั้น กองทัพเรือไทยได้ริเริ่มศึกษาแล้วอย่างมีเป้าหมายชัดเจน ท่านพลเรือเอกวีรวัฒน์ วงษ์ดนตรี ได้กรุณาให้ข้อมูลดังต่อไปนี้ครับ
“เรียน ดร.ชิต ที่รักครับ
ภาพถ่ายที่ส่งมาให้ในครั้งนี้ เป็นภาพการทดลองยานใต้น้ำที่ คณะนักวิจัยของกองทัพเรือที่ผมเป็นหัวหน้าได้ทำการวิจัยและพัฒนาขึ้น ยานใต้น้ำลำนี้เป็นประเภทไม่มีคนขับ (Unmanned) มีคอมพิวเตอร์เป็นตัวควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ โดยผู้ใช้สามารถกำหนดรูปแบบของการเคลื่อนที่ใต้น้ำได้ ๑๐ รูปแบบ แต่ละรูปแบบสามารถแปรเปลี่ยน ทิศทาง ความลึก และความเร็วของยานได้อย่างไม่จำกัด ยานใช้พลังงานจากแบตเตอรี และสามารถอยู่ในน้ำได้ไม่น้อยกว่า ๔ ชั่วโมง เมื่อแบตเตอรีมีพลังงานเต็มที่
ท่านอาจมีคำถามว่า คณะของเราวิจัยและสร้างยานที่กล่าวถึงนี้เพื่ออะไร ยานนี้มีคุณสมบัติทางทหารเป็นเรือดำน้ำขนาดเล็ก มีประโยชน์สำหรับใช้ในการฝึกปราบเรือดำน้ำเนื่องจากยานนี้จะเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องมีการควบคุมจากเรืออื่น และจะมีอุปกรณ์ที่ส่งเสียงในน้ำให้มาปรากฏบนจอโซนาร์ของเรือผิวน้ำ ในลักษณะเดียวกับสัญญานเมื่อโซนาร์ค้นพบเรือดำน้ำในสถานการณ์จริง เราจึงสามารถใช้ยานนี้เป็นเป้า (Target) แทนเรือดำน้ำจริง
การฝึกปราบเรือดำน้ำนั้น มีความจำเป็นต้องทำบ่อยๆ เหตุผลก็คือ แม้ว่าเรือผิวน้ำจะมีโซนาร์ซึ่งเป็นอุปกรณ์ค้นหาเรือดำน้ำที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมากแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ง่ายเลยที่จะค้นพบเรือดำน้ำได้แต่เนิ่นๆ ในลักษณะที่เรือผิวน้ำได้เปรียบ ดังนั้นทางการจึงต้องพยายามฝึกเจ้าหน้าที่ของเรือผิวน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานโซนาร์ให้เกิดความชำนาญ การฝึกที่ดีที่สุดคือการใช้เรือดำน้ำจริงมาเป็นเป้าในการค้นหา การที่กองทัพเรือไม่มีเรือดำน้ำในประจำการ จึงเป็นข้อขัดข้องที่จะทำการฝึกให้ได้ผล ยานใต้น้ำที่มีคุณลักษณะคล้ายเรือดำน้ำจึงเป็นคำตอบของปํญหาประการนี้ ยานใต้น้ำเพื่อการนี้ที่มีจำหน่ายใต่างประเทศมีราคาสูงมาก การวิจัยและพัฒนายานนี้ขึ้นมา จึงเป็นความพยายามที่จะยืนบนขาตนเอง และได้มาซึ่งองค์ความรู้ด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง
ขอขอบคุณสำนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหมที่เป็นผู้ให้ความสนับสนุนงบประมาณทั้งหมดของโครงการวิจัยนี้ /พลเรือเอก วีรวัฒน์ วงษ์ดนตรี”
ทุกครั้งที่ผมรับเชิญไปบรรยาย จะพบเสมอว่ามีคนเก่งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำงานอยู่ที่กองทัพไทยเป็นจำนวนมาก โครงการส่วนใหญ่มีความชัดเจนในเป้าหมาย ผมขอวิงวอนรัฐบาลไทยโปรดให้การสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง งบประมาณด้านยุทโธปกรณ์ ย่อมลดลงอย่างมาก และที่สำคัญยิ่งคือภูมิปัญญาหลายอย่างนั้นยังสามารถถูกประยุกต์ใช้ในภาค อุตสาหกรรมและงานบริการ ดังที่ผมและนักวิจัยไทยหลายท่านที่ผ่านการศึกษาและทำงานที่สหรัฐอเมริกาได้เคยเห็นเทคโนโลยีสำคัญๆมาจากงานวิจัยทางการทหารครับ
ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th