FACO พร้อมปฏิบัติงานสนับสนุนแพทย์ดูแลผู้ป่วย COVID-19 - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • ไทย
    • อังกฤษ

FACO พร้อมปฏิบัติงานสนับสนุนแพทย์ดูแลผู้ป่วย COVID-19

FACO พร้อมปฏิบัติงานสนับสนุนแพทย์ดูแลผู้ป่วย COVID-19

 

วันที่ 8 เมษายน 2563 คณะแพทย์และผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ นำโดย นพ.สิทธาคม ผู้สันติ คุณชนสรณ์ ทวีลาภพูนผล และคุณปกรณ์ สินพัฒน์ และโรงพยาบาลตำรวจ นำโดย พล.ต.ต. ธนา ธุระเจน พ.ต.อ.หญิง ฐานิศรา เมืองนารถ และคุณปิยพรรณ หันนาคินทร์ ร่วมชมการสาธิตการทำงานของชุดระบบหุ่นยนต์ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา “FIBO AGAINST COVID-19: FACO” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา หัวหน้าโครงการ FACO คุณวุฒิชัย วิศาลคุณา รองผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภชัย วงศ์บุณย์ยง รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ และทีมพัฒนาหุ่นยนต์ ฯ ของสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ให้การต้อนรับ

จากการชมการสาธิตโดยจำลองการทำงานของระบบหุ่นยนต์และระบบควบคุมส่วนกลางในสภาวะเสมือนจริง คณะแพทย์ต่างแสดงความพึงพอใจในรูปแบบการทำงานของหุ่นยนต์ที่สามารถช่วยสนับสนุนการดูแลผู้ป่วย COVID-19 ตอบโจทย์ความต้องการในการใช้งานในโรงพยาบาลได้เป็นอย่างดี ในการนี้ ได้ร่วมประชุมหารือถึงแนวทางและช่วงเวลาในการเข้าติดตั้งระบบ เพื่อพร้อมปฏิบัติงานจริงในโรงพยาบาลต่อไป

ต้นแบบชุดระบบหุ่นยนต์บนแพลตฟอร์มการควบคุม “FACO” ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยโรค COVID-19 รวมทั้งลดการปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงแพร่เชื้อ หุ่นยนต์ในชุดระบบฯ มีด้วยกัน 3 รูปแบบ ประกอบด้วย

(1) CARVER-Cab 2020a หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ (Free Navigate) ขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ สำหรับผู้ป่วยในหอผู้ป่วย สามารถบรรจุถาดอาหาร ได้ถึง 20 ถาดในคราวเดียว พร้อมฟังก์ชั่นฟอกอากาศและฆ่าเชื้อไวรัสตลอดการปฏิบัติงานผ่านอุปกรณ์ Hydroxyl Generator

(2) SOFA หุ่นยนต์บริการที่ติดตั้งจอแสดงผลที่สามารถแสดงข้อมูลการรักษาหรือผลการตรวจที่เชื่อมโยงข้อมูลกับระบบของโรงพยาบาล โดยแพทย์สามารถควบคุมทางไกลจากห้องควบคุมส่วนกลางให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งเป้าหมาย มีกล้องถ่ายความร้อน (Thermal Camera) เพื่อจับอุณหภูมิร่างกาย กล้องความละเอียดสูงที่สามารถขยายได้ถึง 20 เท่า ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจอาการจากสภาพภายนอกของผู้ป่วย อาทิ ตา ลิ้น ได้จากระยะไกล รวมถึงสามารถสนทนาโต้ตอบกับผู้ป่วยได้แบบวิดีโอคอล

(3) Service Robot หุ่นยนต์ส่งยาและอาหารเฉพาะจุด สำหรับผู้ป่วยที่มีความต้องการพิเศษ สามารถเคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งเป้าหมายได้อัตโนมัติโดยการควบคุมทางไกลจากห้องควบคุมส่วนกลาง ผู้ป่วยสามารถพูดกับหุ่นยนต์เพื่อเรียกแพทย์หรือพยาบาลได้

หุ่นยนต์ทั้งหมดเชื่อมต่อผ่านระบบไวไฟหลักของโรงพยาบาล และในอนาคตจะนำเทคโนโลยี 5G 2600 MHz มาเสริมความสามารถให้กับหุ่นยนต์ และข้อมูลส่งผ่านขึ้นคลาวน์ด้วย 5G 26-28 GHz

 

Categories: กิจกรรมฟีโบ้,ข่าวและกิจกรรม