บทความโดย ดร.อรพดี จูฉิม
หลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยี สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
จากบทความที่แล้วได้กล่าวถึง Digital Economy หรือเศรษฐกิจแบบดิจิตอลคืออะไร และผู้ประกอบการ SMEs จะหาโอกาสทางธุรกิจจากระบบเศรษฐกิจแบบดิจิตอลได้อย่างไร ในบทความนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึง รูปแบบของธุรกิจ SMEs ที่อาจต้องประสบกับวิกฤติเมื่อเข้าสู่ยุคของระบบเศรษฐกิจแบบดิจิตอล
สำหรับในบ้านเรา ทิศทางตลาดออนไลน์มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตามการเติบโตของโลกสื่อสาร สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ในยุคดิจิตอลที่เน้นความสะดวกและรวดเร็ว การซื้อขายสินค้าและบริการผ่านระบบอินเตอร์เน็ต เพียงแค่คลิกบนสมาร์ทโฟน แทบเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ ก็สามารถซื้อขายได้อย่างง่ายดาย ทุกที่ทุกเวลา ดังนั้นธุรกิจ SMEs ก็สามารถตั้งตัวได้โดยไม่ต้องเปิดหน้าร้าน คนเข้าถึงได้ง่าย มีราคาประหยัด และสามารถเสนอการขายที่น่าสนใจกว่า ซึ่งก็เป็นความจริง แต่เป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว สาเหตุง่าย ๆ ก็คือ การทำธุรกิจออนไลน์ มีจุดเด่นที่ทำให้ผู้ซื้อได้ติดต่อเลือกสินค้าจากผู้ผลิตโดยตรง ราคาสินค้าถูกลงเนื่องจากไม่มีพ่อค้าคนกลาง ดังนั้นผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็คงไม่พ้นผู้ประกอบการที่รับสินค้าจากโรงงานผลิตมาขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานผลิตในจีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน ซึ่งโรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้รุกเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์แล้ว
ดังนั้น SMEs ที่ทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลางในยุคดิจิตอล ควรต้องปรับปรุงและพัฒนาสินค้าและบริการให้มีความแตกต่าง ซึ่งก็คือ สามารถเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการได้ เช่น นำสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากจีนมาปรับปรุงให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย หรือสร้างตลาดและหาแหล่งตลาดใหม่ เช่น การบุกตลาดในประเทศพม่า เนื่องจากอยู่ในระยะเริ่มแรกของการเปิดประเทศ จึงมีข้อจำกัดในการผลิตสินค้าและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ซึ่งไทยมีความได้เปรียบในเรื่องของการมีพรมแดนที่ติดกับพม่า
โอกาสของ SMEs ไทยกับ “Digital Economy” ตอนที่ 1
ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาธุรกิจเทคโนโลยี
สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
โทร. 0-2470-9715-6
http://fibo.kmut.ac.th/
Facebook: FIBOKMUTT และ TEPKMUTT