เนื่องด้วยสภาวะอุทกภัยที่ถึงขั้นวิกฤตในปี 2554 ทางสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.) จึงได้ขอความร่วมมือมาทางสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้), กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.), และบริษัท สยามยูเอวี อินดัสตรีส์ จำกัด ในการพัฒนาและนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ไปช่วยในการสำรวจพื้นที่น้ำท่วม ทั้งนี้เพื่อให้หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ ในการประเมินสถานการณ์ และวางแผนการจัดการน้ำ รวมถึงให้ข้อมูลที่ถูกต้องในเชิงวิทยาศาสตร์แก่ประชาชนต่อไป
โดยข้อมูลการสำรวจแบ่งได้เป็น 2 ชนิดหลัก ได้แก่
1. การใช้ Echo Sounder และ GPS เพื่อสำรวจความลึกตามแนวคลอง
ผู้รับผิดชอบ: กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.)
หลักการทำงาน: Echo Sounder คืออุปกรณ์ที่ใช้ในการวัดความลึกโดยใช้หลักการสะท้อนของเสียง เมื่อใช้ร่วมกับ GPS จะทำให้สามารถทราบความลึกที่พิกัดที่ต้องการได้ ในการสำรวจ เจ้าหน้าที่จะนั่งเรือไปตามคลองที่ต้องการสำรวจและทำการวัดตลอดแนวที่เรือ วิ่งผ่าน ข้อมูลที่ได้ในการ Sampling แต่ละครั้งเป็นค่า “ความลึกและพิกัด GPS” ซึ่งสามารถนำมา Plot บนแผนที่ Digital (เช่น Google Earth) เพื่อให้มองเห็นภาพรวมได้ง่ายขึ้น
2. การใช้เครื่องบินไร้คนขับ (UAV) เพื่อเก็บภาพถ่ายหรือวีดีโอจากมุมสูง
ผู้รับผิดชอบ: สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้), บริษัท สยามยูเอวี อินดัสตรีส์ จำกัด
หลักการทำงาน: ติดกล้องวีดีโอขนาดเล็กขึ้นไปกับ UAV เพื่อบันทึกภาพจากมุมสูง โดย UAV จะมีการบินอัตโนมัติไปยังพิกัด GPS ที่ต้องการ ซึ่งมีการวางแผนไว้ก่อนทำการขึ้นบิน ส่วนกล้องจะทำหน้าที่บันทึกภาพไปเรื่ือยๆ ในขณะบิน และค่อยนำภาพออกมาจากกล้องหลังเครื่องลงจอดแล้ว รัศมีที่เครื่องสามารถบินไปได้ไกลสุดคือ 1 – 5 กม. (ขึ้นอยู่กับชนิดของเครื่อง ซึ่งขณะนี้มีใช้งานอยู่หลายลำ)
รายงานและวิเคราะห์สถานการณ์ (จัดทำโดย สสนก.)