HDD Expo 2010
สถาบันฮาร์ดดิสค์ไดรฟ์ รัฐบาลไทย ให้การสนับสนุน วิทยาลัยร่วมด้านเทคโนโลยีการบันทึกข้อมูลและการประยุกต์ใช้งาน (สจล) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยร่วมเฉพาะทางด้านส่วนประกอบฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (ม.ขอนแก่น) ศูนย์วิจัยร่วมเฉพาะทางด้านการผลิตขั้นสูง (ฟีโบ้¬-มจธ) และภาคอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (เวสต์เทอร์นดิจิตอล ซีเกทเทคโนโลยี ฮิตาชิ และ โตชิบา) ในฐานะกลุ่มผู้ผลิตฮาร์ดดิสค์ใหญ่ที่สุดของโลก จัดงาน HDD Expo 2010 ครั้งแรกในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 26-28 พฤษภาคม 2553 ที่ไบเทคบางนา มีการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ Data Storage Technology Conference ครั้งที่ 3 (DST-CON 2010) เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และเผยแพร่ผลงานวิชาการและวิจัยด้านฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และเทคโนโลยีการบันทึกข้อมูล กิจกรรมสร้างเครือข่ายวิชาการและวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม ตามยุทธศาสตร์ของภาครัฐในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ในประเทศไทย ซึ่งมีเป้าหมาย เพื่อพัฒนาบุคลากร และถ่ายทอดเทคโนโลยี และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจภาคการผลิตและส่งออกของอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ประเทศให้ขยายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงาน เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่สนใจทั่วไปได้เห็นความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และการบันทึกข้อมูล กิจกรรมส่วนต่างๆ มีดังต่อไปนี้ครับ
– กิจกรรมประชุมวิชาการนานาชาติ DST-CON 2010 เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทาง
วิชาการ จากทั้งภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม
– กิจกรรมส่งเสริมการลงทุน ให้คำปรึกษาด้านการลงทุนโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
– กิจกรรมการแสดงของผู้ผลิต และการเจรจาธุรกิจ แสดงเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ใหม่ และเปิดขยายช่องทางและ
โอกาสทางการตลาดให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้มีโอกาสพบปะเจรจากับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม
โดย BOI ร่วมประสาน
– กิจกรรมแสดงสินค้า จัดแสดงและจำหน่ายสินค้า ทางด้านเทคโนโลยีการบันทึกข้อมูล หรือ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์
– กิจกรรมตลาดแรงงาน จัดรับสมัครงานโดยภาคอุตสาหกรรม หรือวิสาหกิจ หรือธุรกิจอื่นที่สนใจ
– กิจกรรมประกวดผลงาน สิ่งประดิษฐ์ของนักศึกษา
ในปี พ.ศ. 2548 ที่ผ่านมาไทยสามารถส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ทั้งที่สำเร็จรูปและที่เป็นชิ้นส่วนได้สูงถึง 415,711 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 29 ของการส่งออกสินค้าไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด และคิดเป็นร้อยละ 10 ของการส่งออกโดยรวมของทั้งประเทศ นอกจากนั้นในปีเดียวกันประเทศไทยได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตและส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์อันดับ 1 ของโลกเป็นปีแรกโดยมีส่วนแบ่งถึงร้อยละ 42 ของตลาดโลก การที่การผลิตและส่งออกจากประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์รายใหญ่ของโลกถึง 4 บริษัท คือ Seagate, Hitachi Global Storage Technology (HGST), Western Digital (WD), และ Fujitsu/Toshiba ได้เข้ามาตั้งฐานการผลิตอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะภายหลังรัฐบาลประกาศให้มีการส่งเสริมการลงทุนเป็นการเฉพาะสำหรับกิจการประกอบฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2547 บริษัทเหล่านี้ต่างขยายกำลังการผลิตจนทำให้ประเทศไทยถูกจัดว่าเป็นฐานการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่สำคัญของโลกอีกประเทศหนึ่ง นอกเหนือจากสิงคโปร์ มาเลเซีย และจีน
อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ไม่เพียงก่อให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศและสร้างรายได้แก่ประเทศในฐานะของสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศถึง100,000 อัตรา และสร้างอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ อีกจำนวนมาก
การผลิต และการส่งออกของอุตสาหกรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ของไทย
ในเอกสารที่ผมได้นำเรียนทีมงานของ พณฯ รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เพื่อของบประมาณมาช่วยสนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสค์ ผมเสนอว่าการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยต้องชนะแรงจูงใจจากรัฐบาลสิงคโปร์และมาเลเซียจนทำให้ผู้ผลิตรายใหญ่ยังคงลงทุนอยู่ในประเทศไทย และประเทศไทยสามารถดึงสัดส่วนมูลค่า (Value Added) ให้ตกอยู่ในกับผู้ประกอบการไทยได้มากที่สุด จากการวิเคราะห์ถึงความสามารถและศักยภาพของคลัสเตอร์ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ในประเทศไทย ทั้งในด้านจุดแข็ง จุดอ่อน อุปสรรค และโอกาส รวมทั้งเป้าหมายของการพัฒนาคลัสเตอร์ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ พบว่ายุทธศาสตร์สำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถครองความเป็นอันดับหนึ่งในด้านการผลิตของโลกไปจนถึงปี 2553 (5 ปี) โดยการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในระยะสั้นและระยะกลางนั้น ในส่วนที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควรเร่งดำเนินการ ได้แก่ กลยุทธศาสตร์สำคัญ 6 กลยุทธ์ที่ภาครัฐและภาคเอกชนควรช่วยกันดำเนินการเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและลดจุดอ่อนของคลัสเตอร์ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ของประเทศไทย มีดังนี้
กลยุทธ์ที่ 1: การรักษาการลงทุนเดิมและขยายฐานการลงทุนในอนาคต
การรักษาผู้ประกอบฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์รายเดิมที่มีอยู่จำเป็นต้องมีนโยบายและมาตรการส่งเสริมให้เกิดความมั่นใจในการลงทุนระยะยาว เช่น นโยบายสนับสนุนสำหรับผู้ที่ขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง หรือผู้ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการใช้นโยบายการส่งเสริมการลงทุนและการสร้างบรรยากาศในการลงทุน เพื่อดึงผู้ประกอบฮาร์ดดิสก์รายใหม่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย
กลยุทธ์ที่ 2: พัฒนาแรงงานไทยให้มีจำนวนมากขึ้นและมีคุณภาพดีขึ้น
ในปัจจุบัน บุคลากรในด้านการผลิตของไทยที่มีทักษะสูงยังมีปริมาณไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับปริมาณการผลิตที่จะขยายตัวสูงขึ้นในอนาคต ถึงแม้ทางบริษัทจะมีการฝึกอบรมอย่างสม่ำเสมอให้กับพนักงานก็ยังไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการบุคลากรที่มีทักษะสูงได้ ดังนั้น ระบบการศึกษาทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและระดับอาชีวศึกษา จำเป็นจะต้องมีหลักสูตรการผลิตบุคลากรในด้านการผลิตเพื่อรองรับความต้องการที่จะขยายตัวในอนาคต
กลยุทธ์ที่ 3: พัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนและชิ้นส่วนที่เข้มแข็งในประเทศไทย
โครงสร้างของอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ในประเทศไทยยังเป็นการกระจุกตัวของบริษัทต่างชาติ และเชื่อมโยงกับผู้ผลิตชิ้นส่วนในภูมิภาคมากกว่ากับผู้ประกอบการในประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสนับสนุน เช่น งานโลหะ งานแม่พิมพ์ งานพลาสติก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ clean room, metal finishing, heat treatment, equipment repair ซึ่งยังไม่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับการผลิตอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาและยกระดับความสามารถทางธุรกิจและเทคโนโลยีของผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศให้สามารถทำงานร่วมกับบริษัทต่างชาติที่อยู่ในประเทศและเป็นที่ยอมรับให้ได้
กลยุทธ์ที่ 4: พัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมด้านการผลิต รวมทั้งเทคโนโลยีเกี่ยวข้องการบริการและสนับสนุนการผลิต
การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ HDD ในอนาคต ทำให้ผู้ผลิตจำเป็นต้องยกระดับเทคโนโลยีกระบวนการผลิตในประเทศไทย ดังนั้น การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการผลิตที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต เช่น เทคโนโลยีเครื่องจักรกลอัตโนมัติ (automation) การตรวจวัดความแม่นยำ การกำจัดสิ่งสกปรกและ ESD และเทคโนโลยีด้านการออกแบบทั้งในส่วน process design และ product design จึงเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการพัฒนาขึ้นมาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์
ผมขอยกตัวอย่างโครงการวิจัยใน ปีงบประมาณ 2552 มีแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น 1.โครงการการจัดตั้งห้องบริการทดสอบ ESD ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่าง WD และ NECTEC ในการจัดตั้งศูนย์ทดสอบไฟฟ้าสถิตย์เพื่อส่งเสริมให้เกิดความรู้ความเข้าใจในการทดสอบ ESD โดยกลุ่มเป้าหมายมีทั้งนักวิจัยจากสวทช.(MTEC,NECTEC) และนักวิจัยภายนอก(ม.เทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง) เพื่อใช้ทดสอบในโครงการวิจัยพัฒนา (RDE) และบริษัท/ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และ 2.โครงการสนับสนุนการผลิตเครื่องจักรAutomation ซึ่งเป็นการทำโครงการวิจัยพัฒนาร่วมกับ HGST และ มหาวิทยาลัยสุรนารี เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEsไทยสามารถผลิตและเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิต HDDได้ เป็นการร่วมลงทุนเพื่อทำการพัฒนาต้นแบบจาก HGST และ HDDI ร่วมลงทเพื่อพัฒนาและสนับสนุนการผลิตHDD (Jig fixture,Indirect Material and Automation) นอกจากนี้ HDDI ยังร่วมมือกับ WD ให้โอกาส SME ไทย 5 บริษัทให้ออกแบบและขบวนการผลิต HAS โดยสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ) เป็นหน่วยงานสนับสนุนด้านเทคโนโลยี
กลยุทธ์ที่ 5: สร้างตลาดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ภายในประเทศ
ในการสร้างตลาดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ในประเทศจำเป็นต้องทำให้เกิด forward linkage ไปยังอุตสาหกรรมปลายน้ำ เช่น อุตสาหกรรม ICT และ consumer electronics โดยอาศัยมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงดังกล่าว
กลยุทธ์ที่ 6: ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ (logistics)
การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเป็นช่องทางการไหลของข้อมูลสารสนเทศ และพัฒนากระบวนการในการเชื่อมต่อการโอนถ่ายข้อมูลและสารสนเทศระหว่างสมาชิกในโซ่อุปทานด้วยกัน รวมทั้งพัฒนามาตรฐานการเชื่อมต่อข้อมูลสารสนเทศในมุมมองของกระบวนการธุรกิจซึ่งจะทำให้เกิดมาตรฐานของการเชื่อมต่อ เพื่อนำมาใช้พัฒนาระบบลอจิสติกส์ (logistics) เพื่อสนับสนุนการจัดการด้านการผลิตและการจัดส่งสินค้า รวมทั้งใช้ในขั้นตอนทางภาษี และศุลกากร
ผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อ สถาบันฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ HDDI ที่เบอร์โทรศัพท์ 025646957-9 ครับ
ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th
——————————————————————————————
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน
ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา
ภายหลังจบการศึกษา ดร.ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูงและการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ดร.ชิต ยังผู้รับผิดชอบโครงการ Hard Disk Cluster ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติในการประสานงานนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆกับ มืออาชีพจากบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสค์เพื่องานวิจัยและพัฒนา การอบรมบุคลากรตลอดจนการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานจนเกิดบริษัทคนไทยที่มีความแข็งแกร่งทางเทคโนโลยีสามารถทำธุรกิจร่วมกับบริษัทข้ามชาติได้
Dr. Laowattana’s research interest is primarily in fundamental areas of robotic dexterity, design for manufacturing / assembly of high precision systems. He was awarded an honor with his B.Eng. from King Mongkut’s University of Technology Thonburi (KMUTT). Under the Monbusho Program, he received a certificate in Precision Mechanics and Robotics at Kyoto University. He subsequently obtained his PhD. in 1994 from Carnegie Mellon University, USA under financial support from the Fulbright Fellowship Program and the AT&T Advanced Research Program. In 1996, he also received a certificate in Management of Technology from Massachusetts Institute of Technology (MIT) USA. He holds two US patents for robotic devices. He is the founding director of the Institute of Field Robotics Development (FIBO) and the first President of Thai Robotics Society (TRS). He served as an executive board member of TOT, the largest telecom public company. Presently, he is director of Hard disk Cluster Program at National Science and Technology Development Agency (NSTDA). His responsibility is to strengthen hard disk industry in Thailand by formulating critical collaborative networks in the areas of R&D, HRD and Supply Chain Development among professionals from 30 national universities/laboratories and four multi-national companies, producing one of the highest annual turnover of 500 billions baht.