ชื่อผลงาน | การจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์ มุ่งไปสู่เมืองลดคาร์บอน |
Carbon Footprint Tacking towards Low-carbon Society | |
ชื่อผู้วิจัย | ดร.วรพจน์ อังคสิทธิ์ |
แหล่งให้ทุน | องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) |
ปีที่เผยแพร่ผลงาน | พ.ศ. 2554 |
คำสำคัญ | คาร์บอนฟุตพรินต์ |
บทคัดย่อ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสังคมโลกปัจจุบันอย่างรุนแรงและต่อเนื่องเรื่อยๆ ซึ่งสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกิดสภาวะโลกร้อนคือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศที่มีปริมาณมากเกินความสมดุล เป็นผลต่อเนื่องมาจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของมนุษย์ที่มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานอย่างสิ้นเปลืองและฟุ่มเฟือย ไม่ว่าจะเป็นการเผาไหม้เชื้อเพลิงในการคมนาคมขนส่ง การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน ปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกร้อนเป็นประเด็นสำคัญและเร่งด่วนที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกคนเพื่อช่วยกันรับมือและแก้ไขปัญหา โดยแนวทางในการรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นมี 2 แนวทางคือ การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ (Mitigation) และการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) โดยทั้งสองแนวทางนี้อาจช่วยแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่รูปแบบการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคน เพราะสามารถส่งผลที่ดีในระยะยาว
ดังนั้นการหาค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint Organization) เป็นแนวคิดในการวัดค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีการใช้เทคนิคทางด้านวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยเพื่อให้เข้าใจถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่แฝงอยู่ในผลิตภัณฑ์ บริการ หรือกิจกรรมต่างๆ และเป็นการวัดผลกระทบที่ปล่อยจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานของแต่ละหน่วยงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละวัน และคำนวณออกมาให้อยู่ในหน่วย “คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2 equivalent) ซึ่งจะทำให้ทราบว่าการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ บริการ หรือกิจกรรมต่างๆ นั้นมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณเท่าใด และจะทำให้เราหาแนวทางเพื่อลดขนาดผลกระทบทางด้านนี้ที่เกิดขึ้น