ชื่อผลงาน | โครงการจ้างพัฒนาชิ้นงานนิทรรศการ ROBOT จักรกลทรงปัญญา |
The Exhibition “ROBOT” Machine Intelligence | |
ชื่อผู้วิจัย | ดร.ถวิดา มณีวรรณ์ นายทศพร บุญแท้ นายคมกฤช ทิพย์เกษร นายบุญเลิศ มณีฉาย |
นายเอกลักษณ์ ศุภมณี นายพงศกร พลจันทร์ขจร นายอำนาจ บุตรสงกา | |
นายนาถพงศ์ แก้วเหล็ก นายธัญญ์นิธิ ขุนนิธิวราวัฒน์ | |
แหล่งให้ทุน | องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ |
ปีที่เผยแพร่ผลงาน | พฤศจิกายน 2555 |
คำสำคัญ | หุ่นยนต์ |
บทคัดย่อ
หุ่นยนต์นับเป็นนวัตกรรมที่รวบรวมองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอีกหลายๆศาสตร์เข้าด้วยกันอย่างมีระบบ อีกทั้งยังสามารถทำให้มีรูปลักษณ์ที่โดดเด่น และน่าสนใจต่อผู้พบเห็นได้ง่าย หุ่นยนต์จึงเป็นตัวอย่างที่ดีและน่าสนใจในการที่จะนำมาสอนเด็กๆ ให้ได้รู้จักระบบกลไกต่างๆ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่มีอยู่ในตัวหุ่นยนต์ได้อย่างสนุกสนาน ดังนั้นองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานในการพัฒนาและบริหารพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการถ่ายทอดความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีผ่านทางหุ่นยนต์ จึงได้มีแนวความคิดที่จะจัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับหุ่นยนต์ โดยใช้ชื่อว่า“โครงการนิทรรศการ ROBOT จักรกลทรงปัญญา” ที่จัดแสดงให้เห็นโครงสร้างภายในของหุ่นยนต์ การทำงานของกลไกต่างๆ ระบบควบคุม ความแม่นยำ และความชาญฉลาดของหุ่นยนต์
สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม จึงได้รับมอบหมายให้ดำเนินการออกแบบ และจัดสร้างหุ่นยนต์เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี ให้กับผู้ที่เข้าชมนิทรรศการ โดยทางคณะวิจัยมีการดำเนินการออกแบบและจัดสร้างหุ่นยนต์ 5 ตัวในโครงการนี้ โดยมีรายละเอียดดังนี้
หุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ เป็นหุ่นยนต์ที่มีการแสดงให้เห็นโครงสร้างภายในของหุ่นยนต์ ซึ่งสามารถมองเห็นอุปกรณ์ต่างๆของหุ่นยนต์ได้อย่างชัดเจน เพื่อประโยชน์ในการศึกษาการทำงานของอุปกรณ์ทางกล ที่ใช้ในการขับเคลื่อนชิ้นส่วนต่างๆของหุ่นยนต์ โดยหุ่นยนต์จะมีรูปลักษณะเหมือนมนุษย์ สามารถขยับเคลื่อนไหวตามท่าทางพร้อมเสียงประกอบ มีท่าทางทั้งหมด 10 ท่าด้วยกัน ตามที่ได้โปรแกรมไว้ล่วงหน้า
หุ่นยนต์ต้อนรับ เป็นหุ่นยนต์ใช้ในการประชาสัมพันธ์พื้นที่การจัดแสดงหุ่นยนต์ สามารถที่จะเคลื่อนที่ไปในทิศทางที่บังคับ ทักทายและมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้เข้าร่วมชมนิทรรศการได้ มีการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับเสียงพูด มีหลอดไฟ LED สำหรับแสดงอารมณ์ที่ตาของหุ่นยนต์ ที่ลำตัวมีหน้าจอแสดงผล เพื่อใช้ประกอบการแนะนำประชาสัมพันธ์ของหุ่นยนต์ ส่วนหัวของหุ่นยนต์จะมีกล้อง Webcam ติดอยู่ และสามารถส่งภาพไปแสดงผลที่จอแสดงผลบนลำตัวได้
หุ่นยนต์แขนกลแบบอัตโนมัติ เป็นหุ่นยนต์ที่แสดงให้เห็นถึงถึงความสามารถของหุ่นยนต์ในเรื่องของความแม่นยำในการทำงาน (Accuracy) และความสามารถในการทำซ้ำ (Repeatability) ซึ่งนับเป็นจุดเด่นและข้อได้เปรียบหลักของหุ่นยนต์ ที่ทำให้เกิดความนิยมในการนำหุ่นยนต์ไปประยุกต์ใช้ในงานอุตสาหกรรมกันอย่างกว้างขวาง หุ่นยนต์จะถูกจัดแสดงในรูปแบบของกีฬาบาสเกตบอล ซึ่งจะทำให้ผู้ที่เข้ามาชมสามารถเข้าใจและเข้าถึงได้โดยง่าย โดยรูปแบบที่กำหนดไว้จะเป็นการแสดงการโยนลูกบาสเกตบอลลงสู่ห่วง ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความแม่นยำเป็นอย่างมากทั้งในเรื่องของตำแหน่งและทิศทางรวมถึงปริมาณของแรงที่ใช้ในการโยน ทำให้ผู้ที่มาชมสามารถรับรู้และเข้าใจในความสามารถของหุ่นยนต์ได้เป็นอย่างดี
หุ่นยนต์แขนกลแบบบังคับมือ เป็นหุ่นยนต์ที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการควบคุมการทำงานหรือการสั่งการหุ่นยนต์ให้ทำงานที่กำหนดได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง รวมถึงแสดงความสามารถในการคิดและตัดสินใจในการทำงานของหุ่นยนต์ หุ่นยนต์สามารถที่จะคิดแผนการเล่นเกม OX โต้ตอบกับผู้เข้าร่วมชมนิทรรศการเองได้ โดยหุ่นยนต์จะหยิบหมากมาวางบนกระดานโดยอัตโนมัติ สลับกับการสั่งงานให้หุ่นยนต์วางหมากไปยังตำแหน่งที่ต้องการจากผู้เข้าร่วม ชมนิทรรศการ
หุ่นยนต์กู้ภัย เป็นหุ่นยนต์ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการเคลื่อนที่ผ่านสิ่งกีดขวาง และการประยุกต์ใช้งานเซนเซอร์ต่างๆ ในการตรวจวัดค่า หุ่นยนต์จะถูกจัดแสดงในรูปแบบของการออกเดินทางสำรวจ เคลื่อนที่ไปยังจุดเป้าหมายที่วางไว้ สามารถใช้กล้อง และเซนเซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิในการสำรวจสิ่งต่างๆ รอบตัวได้