ถ่ายทอดเทคโนโลยีหุ่นยนต์ผ่านการแข่งขัน Robocup Soccer
สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยเตรียมการถ่ายทอดเทคโนโลยีหุ่นยนต์ให้กับเยาวชนไทยผ่านการแข่งขัน Robocup Soccer ในปีนี้ทางสมาคมได้เชิญมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน อาจารย์ ปัญญา เหล่าอนันตน์ กรรมการของสมาคมและอาจารย์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ ได้วางแผนดำเนินการอย่างละเอียดไว้ดังต่อไปนี้ครับ
เป้าหมายสำคัญคือการพัฒนาความสามารถของเยาวชนที่สนใจงานด้านหุ่นยนต์ ให้มีความสามารถสูงขึ้น เพื่อก้าวเข้าสู่การแข่งขันในเวทีระดับโลก ตลอดจนการต่อยอดไปสู่สิ่งประดิษฐ์อื่น ๆ ที่ใช้ฐานเทคโนโลยีจากการแข่งขันหุ่นยนต์
อาจารย์ปัญญา จะใช้การแข่งขัน RoboCup Soccer กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ความก้าวหน้าด้านวิทยาการหุ่นยนต์สนับสนุนการเปิดเผย source code ,ขั้นตอนการออกแบบหุ่นยนต์ เป็น เอกสารหรือสื่อที่เผยแพร่สู่สาธารณะได้ นอกจากนี้ยังสนับสนุนการเปิด Web site Robocup ประเทศไทย เพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ เปิดให้มีการ download ข้อมูลหรือโปรแกรมหรือเครื่องมือพัฒนาที่เป็นแบบ open source และตลอดจนการรายงานผลการแข่งขัน
กิจกรรมที่สำคัญอีกอย่างคือการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดความรู้ไปสู่เยาวชนรุ่นใหม่ เพื่อเป็นการสะสมองค์ความรู้ที่ได้จากการแข่งขันหุ่นยนต์ไปสู่คนรุ่นต่อไป อย่างเป็นระบบ โดยมีการจัดอบรมทั้งแบบเริ่มต้น และ แบบขั้นสูง เพื่อตอบสนองผู้สนใจในหลากหลายระดับความสามารถ
ผลจาการทำงานอย่างมีระบบข้างต้นทำให้สมาคมฯ สามารถเพิ่มความถี่การจัดการแข่งขันให้มากขึ้น เพื่อเป็นการเปิดโอกาสในการทดสอบความสามารถ และ เป็นการช่วยกระตุ้นเยาวชนให้เกิดการพัฒนาการด้านความสามารถของหุ่นยนต์ให้สูงขึ้นโดยผ่านระบบการแข่งขัน
สนับสนุนการแชร์ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อลดต้นทุนการพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับการแข่งขัน
ผมขอเชิญชวนภาครัฐและเอกชนมาช่วยให้การสนับสนุน กิจกรรมเหล่านี้ที่มีความหมายต่อการพัฒนาความสามารถทางเทคโนโลยีของเยาวชนไทยด้วยครับ
การดำเนินการแบ่งเป็น 2 แนวทาง ที่ทำควบคู่กัน คือ
1. การจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ
2. การจัดการแข่งขันแบบสะสมคะแนนแบบ Premier League และ การจัดแบ่งสายการแข่งขันแบบอิงการจัดอันดับผลงานของทีมต่าง ๆ ในรูปแบบ Division
การจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ
จัดอบรมอย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง
แบ่งการอบรมเป็น 2 แบบ คือ แบบสำหรับผู้เริ่มต้น กับ แบบขั้นสูง
เนื้อหาหลักสูตร ได้แก่ ระบบอิเลคทรอนิกส์ในหุ่นยนต์ , ระบบเครือข่ายการสื่อสารในหุ่นยนต์ , ระบบจักรกลในหุ่นยนต์ ระบบการมองเห็น และ ระบบปัญญาประดิษฐ์ นอกจากนี้ นักศึกษาจะต้องเรียนรู้การค้นคว้าจากแหล่งความรู้ที่เป็น Open source ที่ต่างประเทศเขามีแจก ซึ่งไม่ง่ายที่จะ Copy แล้วจะทำได้เลย ต้องมีความรู้มากและต้องเอาไปต่อยอดด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดดได้เร็วขึ้น ถ้าจะให้ทันกับต่างประเทศในเวทีการแข่งขันระดับโลก
วิทยากร ได้แก่ อาจารย์ หรือ นักศึกษาที่มีประสบการณ์จากทีมต่าง ๆ
วัสดุและอุปกรณ์จัดอบรม ควรจะฟรีสำหรับผู้เข้าอบรม ถ้าแจกฟรีได้ก็ยิ่งดี เพื่อเอาไปทำต่อได้ หลักจากอบรมเสร็จ
การคัดเลือกผู้เข้าอบรม อาจให้สถาบันต่าง ๆ จัดส่งคนเข้าร่วมอบรม และ มีข้อกำหนดว่า ต้องเข้าร่วมการแข่งขัน นักศึกษาต้องมีสถานที่สำหรับทำงานในสถาบัน มีเงินทุนสนับสนุนจากสถาบัน และ มีอาจารย์ที่ปรึกษามาคอยดูแล นอกจากนี้ก็อาจมีการกำหนดจำนวนผู้เข้าอบรมให้เหมาะสม
สถานที่จัดอบรม อาจใช้สถานที่ของสถาบันต่าง ๆ เวียนจัดกัน ไป หรือ เลือกสถานที่ตามความพร้อมของห้อง Lab หรือ Shop และ ห้องจัดฝึกอบรม ห้องคอมพิวเตอร์ ซึ่งควรจะมีควบคู่กัน
งบประมาณ ขอสนับสนุนจากสปอนเซอร์ต่าง ๆ
เผยแพร่เอกสาร บันทึก VDO และสื่อที่ใช้ในการอบรมลงบน Web site เพื่อเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะ และตลอดจนการถาม-ตอบ ปัญหาในระหว่างการพัฒนาหุ่นยนต์
การจัดการแข่งขันแบบสะสมคะแนนแบบ Premier League (คล้าย ๆ ฟุตบอลอังกฤษ) และ การจัดแบ่งสายการแข่งขันแบบอิงการจัดอันดับผลงานของทีมต่าง ๆ ในรูปแบบ Division
จัดแข่งขันเดือนละ 1 ครั้ง หรือ จัดแทรกอยู่ในงาน Event ต่าง ๆ
เพื่อลดจำนวน match การแข่งขันที่แต่ละทีมจะต้องลงแข่ง ก็ให้ใช้วิธีแบ่งสายการแข่งขันเป็นแบบอิงการจัดอันดับผลงานของทีมต่าง ๆ ในรูปแบบ Division
ต่อ 1 Division ควรจะมีจำนวนทีมมากสุดไม่เกิน 4 ทีม
การจัดแบ่ง Division อาจมีซัก 2 ส่วนในระยะเริ่มต้น คือ Division 1 และ Division 2 (หรือจะมีการแบ่งที่มากขึ้นก็ได้ ถ้ามีทีมผู้สนใจมาสมัครมากขึ้น)
โดยทีม Division 1 ถือว่ามีความสามารถสูงกว่า ทีมใน Division 2
ปัจจุบันเรามีตัวเลขการจัดอันดับผลงานการแข่งขันเก็บไว้แล้วจากการแข่งขันในช่วงต้นปี 2008 ที่ผ่านมา
การแข่งขันในแต่ละ Division จะเป็นการแข่งแบบพบกันหมด และมีการจัดอันดับแต้มคะแนนสะสม
เพื่อการแข่งขันครบหมด ทีมที่อยู่บนสุดของตารางจัดอันดับใน Division ก็จะได้รับการเลื่อนตำแหน่งไปสู่ Division ที่สูงกว่า ส่วนทีมที่อยู่ท้ายสุดของตารางจัดอันดับใน Division ก็จะตกชั้นไปอยู่ใน Division ที่ต่ำกว่า
ทีมที่ได้เลื่อนชั้นไปสู่ Division ที่สูงกว่า ก็น่าจะมีรางวัลตอบแทน
ถ้าจัดการแข่งขันเดือนละครั้ง (แต่มีหลาย match แบบพบกันหมดในแต่ละ Division) ก็จะมีการปรับตารางอันดับกันใหม่ และ แน่นอนว่า ทีมที่ได้เลื่อนชั้นขึ้นไปสู่ Division ที่สูงกว่า ก็จะได้รับรางวัลสนับสนุน (การแจกรางวัลมีเดือนละครั้ง)
อนุญาตให้แต่ละทีมมีสปอนเซอร์สนับสนุนทีม
การขึ้น-ลงของอันดับในแต่ละทีม จะทำให้เกิดความตื่นเต้นเร้าใจ การลุ้นระทึก และเกิดแฟนคลับ (ซึ่งจริง ๆ ก็คือ สถาบันในสังกัดนั่นเอง) ที่จะต้องมาติดตามเชียร์ผลงานของทีมในสังกัด และ คาดหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากสถาบันในสังกัด ทั้งนี้อาจมีแรงกดดันทั้งจากเรื่องชื่อเสียง มาเป็นส่วนประกอบด้วย
การแข่งขันแบบนี้ จะเกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและต่อเนื่อง ไม่ใช่แข่งเสร็จแล้วก็ทิ้งขว้างไป ปีหน้าค่อยเริ่มใหม่
แต่ส่วนสำคัญก็คือ ทุกครั้งที่จัดการแข่งขัน จะต้องกำหนดให้ทุกทีมเผยแพร่ Open source ด้วยเสมอ เพื่อจะได้เกิดการต่อยอด เร่งการพัฒนาให้เร็วขึ้นได้
การประชาสัมพันธ์การแข่งขัน จะเกิดขึ้นถี่ตามธรรมชาติ และ ถ้าเป็นไปได้ อาจจะเกิด คอลัมม์เฉพาะในหนังสือพิมพ์หรือวารสารก็ได้ โดยเฉพาะการใส่ตารางผลการแข่งขันในแต่ละเดือนผ่านทางสื่อต่าง ๆ
มีการจัดรายการหรือคอลัมม์รายงานผล หรือวิเคราะห์ผลของแต่ละทีม ทั้งในด้านศักยภาพ เทคโนโลยีที่ใช้ หรือ ผลงานของทีม ในแต่ละครั้งที่จะมีการแข่งขัน
ทางสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยขอเชิญน้องๆ วิทยาลัยและมหาวิทยาลัยที่สนใจเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้าร่วมโครงการนี้ อาจารย์ปัญญาได้เตรียมรายละเอียดเพิ่มเติมเผยแพร่ต่อสาธารณะในไม่ช้านี้ครับ
ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th
ข้อมูลจำเพาะของผู้เขียน
ดร. ชิต เหล่าวัฒนา จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา
ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม ฟีโบ้ (FIBO) เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ