ผลงานด้านยุทธศาสตร์และการจัดการเทคโนโลยีเชิงนโยบาย
โครงการจัดทำยุทธศาสตร์การเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยด้วยระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ (Manufacturing Automation System)
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรม กระทรวงอุตสาหกรรม เห็นความจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินโครงการจัดทำยุทธศาสตร์การเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยด้วยระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ (Manufacturing Automation System) ในปี 2558 เพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ส่วนใหญ่ยังอาศัยเครื่องจักรกลแบบธรรมดามาเป็นเครื่องจักรกลที่ควบคุมด้วยอิเล็กทรอนิกส์หรือคอมพิวเตอร์ เพื่อทำให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพรวดเร็ว แม่นยำ และเป็นไปโดยอัตโนมัติมากที่สุด เพื่อให้สามารถลดต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะต้นทุนที่เกิดจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมมีศักยภาพและประสิทธิภาพในการผลิตเพิ่มขึ้น ช่วยให้สินค้ามีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของลูกค้ารวมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก
สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม จึงได้รับมอบหมายให้เป็นที่ปรึกษาดำเนินงานโครงการในครั้งนี้ ภายใต้ วัตถุประสงค์โครงการ เพื่อศึกษาสถานการณ์และทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต และทำการวิเคราะห์ความต้องการใช้ระบบการผลิตอัตโนมัติ (Manufacturing Automation System) ในภาคอุตสาหกรรมทั้งในระดับภาพรวมและรายสาขาอุตสาหกรรมหลักของประเทศ รวมทั้งวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคในการยกระดับศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยด้วยระบบการผลิตแบบอัตโนมัติที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อกำหนดแนวทางการจัดทำยุทธศาสตร์การเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยด้วยระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ(Manufacturing Automation System) ทั้งในระดับภาพรวมและรายสาขาอุตสาหกรรมหลักให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมหลักของประเทศในระยะ 5 ปีข้างหน้า (2558-2662)
โครงการจัดทำแผนแม่บทสารสนเทศของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 4
ด้วยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีภารกิจสำคัญในการบริหารจัดการระบบบริการสุขภาพของ โดยใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสำคัญในการดำเนินงาน ดังนั้นจึงต้องกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านสารสนเทศ ให้สามารถรองรับภารกิจการดำเนินงานของ สปสช. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทางสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม จึงได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดทำแผนแม่บทสารสนเทศและการสื่อสารของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 4 ขึ้น โดยดำเนินการสำรวจ ศึกษาวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบ โดยศึกษาแนวปฏิบัติที่มีของระบบสารสนเทศที่ครอบคลุมขั้นตอน วิธีการในระบบประกันสุขภาพ เพื่อให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีแนวทางในการปรับปรุงระบบสารสนเทศของ สปสช. ในอนาคต สามารถกำหนดแผนการนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ได้อย่างสมเหตุผล และนำไปสู่การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ตรงกับวัตถุประสงค์ของ สปสช. โดยคำนึงถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และมองไปในอนาคตตามวิสัยทัศน์ และพันธกิจของ สปสช. โดยในการจัดทำแผนแม่บทสารสนเทศและการสื่อสารของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 4 นี้ ได้มุ่งเน้นไปที่การลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นและสร้างระบบงานสารสนเทศที่ทำงานแบบอัตโนมัติ เพื่อลดภาระงานของบุคลากรและเพิ่มความรวดเร็วในการดำเนินการตามภารกิจของ สปสช. ตามวิสัยทัศน์ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2555-2559 ของ สปสช.
โครงการที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาความต้องการบุคลากรและเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
ด้วยแนวคิดที่ว่า ในปัจจุบันวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมีบทบาทอย่างมากทั้งในด้านการเพิ่มศักยภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรม และการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของมนุษย์ให้ดียิ่งขึ้น จนสามารถนับได้ว่าวิทยาการหุ่นยนต์จะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลกในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งทำให้นานาประเทศได้เริ่มมีการวางยุทธศาสตร์ทางด้านหุ่นยนต์เพื่อเตรียมความพร้อมในการแข่งขัน และสิ่งที่เป็นพื้นฐานสำคัญคือการเตรียมบุคลาการและเทคโนโลยีที่จำเป็นเกี่ยวกับวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อรองรับความต้องการและการพัฒนาดังกล่าว ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญนี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) จึงมอบหมายให้ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม ดำเนินการศึกษาความต้องการบุคลากรและเทคโนโลยีด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของประเทศไทย เพื่อสำรวจความต้องการบุคลากรด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ตอบสนองต่อความต้องการของประเทศอย่างแท้จริง โดยเฉพาะภาคการผลิตและบริการ รวมทั้งศึกษาเทคโนโลยีที่สำคัญต่อการพัฒนาวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสำหรับภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษาของประเทศไทยให้มีศักยภาพที่ดียิ่งขึ้น เพื่อการเตรียมความพร้อมในการสร้างและพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ รวมทั้งเตรียมความรู้และเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่สอดคล้องกับสถานภาพปัจจุบันและแนวโน้มการพัฒนาในอนาคตของประเทศไทย
โครงการศึกษายุทธศาสตร์หุ่นยนต์ไทย
สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ตระหนักและให้ความสำคัญของการเรียนรู้และสร้างพื้นฐานขององค์ความรู้ในด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติอันจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมของประเทศ อีกทั้งช่วยให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ประเทศในอนาคต ได้มอบหมายให้สองหน่วยงานในสังกัดได้แก่ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ทำหน้าที่ประสานงานและจัดทำโครงการศึกษายุทธศาสตร์หุ่นยนต์ไทย โดยต่อมาได้คัดเลือกและมอบหมายให้ฟีโบ้ เป็นผู้เชี่ยวชาญของโครงการทำหน้าที่
(1) ศึกษาสถานภาพและแนวโน้มของวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ด้านต่างๆ
(2) ศึกษาเพื่อกำหนดทิศทาง เป้าหมาย กลยุทธ์ และกิจกรรม ในด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของประเทศไทยในระยะเวลา 1-5 ปี
(3) ศึกษามูลค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ที่คาดว่าจะได้รับตามกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการที่ได้นำเสนอ
โครงการอบรมด้านเทคนิคในกระบวนการผลิตอัตโนมัติเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซี่ยน
ศูนย์เทคโนโลยีขั้นสูงในกระบวนการผลิต (@M) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การดำเนินงานของสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม ได้เล็งเห็นว่าการเตรียมความพร้อมของอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2015 จำเป็นต้องมีการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมให้มีศักยภาพ ซึ่งการได้เรียนรู้และได้รับการอบรมทางด้านทฤษฎีและด้านปฏิบัติเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์สูงในเชิงปฏิบัติ เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่อุตสหากรรมได้ จึงจัดให้มีโครงการอบรมด้านเทคนิคในกระบวนการผลิตอัตโนมัติเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซี่ยน โดยนำผลจากการสำรวจหัวข้อด้านเทคนิคที่อุตสาหกรรมให้ความสนใจและต้องการรับการอบรมเพิ่มเติมประกอบด้วย ระบบแมชชีนวิชั่น (Machine vision) การวิเคราะห์แบบจำลองชิ้นส่วนทางกลด้วยวิธีไฟไนต์อิลิเมนต์ (Finite element analysis) และการใช้ไมโครคอนโทรลเลอร์ (Microcontroller) ในระบบควบคุมเพื่อการผลิต
โครงการศึกษาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ไทยเชิงสร้างสรรค์สู่ฐานการผลิตในอาเซี่ยน
สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการศึกษาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ไทยเชิงสร้างสรรค์ ภายใต้ภาระกิจในการกำหนดกรอบความคิด (Conceptual Framework) เพื่อกำหนดขอบเขตและนิยามของเศรษฐกิจสร้างสรรค์สำหรับอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อการวิเคราะห์การวิเคราะห์เชิงลึก (In-depth Analysis) ในสถานการณ์ปัจจุบัน (Situation Analysis) โดยศึกษาประเด็นด้านยุทธศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วยการเก็บข้อมูลเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ Value Chain Analysis หรือ SWOT เพื่อระบุประเด็นปัญหาสำคัญที่จะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ การวิเคราะห์เปรียบเทียบกับประเทศตัวอย่าง (Best Practice Analysis) การวิเคราะห์ระยะห่าง (Gap Analysis) และการกำหนดตำแหน่งของอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์เชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย เพื่อใช้ในการวางแผนกลยุทธ์และแนวทางขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ไทย
โครงการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหาร
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ในฐานะองค์กรชี้นำการพัฒนาอุตสาหกรรม ได้เล็งเห็นความจำเป็นในการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารขึ้น เพื่อกำหนดแนวนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารของประเทศที่ชัดเจน ซึ่งจะเป็นแนวทางให้ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องสามารถวางแผนการผลิตหรือกำหนดนโยบายและบทบาทในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารที่สอดประสานไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งเพื่อเป็นการสนับสนุนด้านการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารของไทย จึงได้มอบหมายให้สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม ดำเนินโครงการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหาร เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารให้มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน โดยในการศึกษานี้ได้รับการอนุเคราะห์ข้อมูลและระดมความคิดเห็นจาก ผู้ประกอบการ สถาบันและสมาคมต่างๆ ผู้บริหาร นักวิชาการทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
โครงการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ในฐานะองค์กรชี้นำการพัฒนาอุตสาหกรรมและเตือนภัยแก่ผู้ประกอบการ ได้เล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ ประกอบกับเป็นความต้องการของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมกระดาษและสิ่งพิมพ์อีกด้วย เพื่อเป็นแนวทางให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถกำหนดนโยบายและบทบาทด้านการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ของไทย ให้สามารถปรับตัวรองรับกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป จึงมอบหมายให้สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม ดำเนินโครงการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดให้ยั่งยืน โดยในการศึกษาได้รับการอนุเคราะห์ข้อมูลและระดมความเห็นจากสหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ ผู้ประกอบการ ผู้บริหาร นักวิชาการทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
โครงการวิจัยนำร่องการประยุกต์และบูรณาการคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต เพื่อการเรียนการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมาย สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นผู้ดำเนินงานโครงการนำร่องการประยุกต์และบูรณาการคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเพื่อการเรียนการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่1 โดยการดำเนินงานโครงการ มีเป้าหมายให้ได้ผลลัพธ์เป็นแนวทางการกำหนดทิศทางของรูปแบบการพัฒนาการเรียนการสอนที่นำคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมาใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมศักยภาพด้านการเรียนรู้อย่างเหมาะสม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ตั้งแต่ปีการศึกษา 2556 เป็นต้นไป โดยมีโรงเรียนที่เข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่อง 4 แห่ง ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย โรงเรียนวัดราชาธิวาส โรงเรียนทวีธาภิเศก และโรงเรียนหอวัง
โครงการศึกษาเพื่อจัดทำรูปแบบ (Model) การส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อนำไปปฏิบัติในอุตสาหกรรม
สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) รับดำเนินงานโครงการศึกษาเพื่อจัดทำรูปแบบ (Model) การส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อนำไปปฏิบัติในอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการวิจัย เพื่อจัดทำแบบจำลอง (Model) ในการนำนวัตกรรมต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม โดยสถาบันฯ เลือกอุตสาหกรรมเป้าหมายของโครงการคือ อุตสาหกรรมการผลิตสับปะรดกระป๋อง และมีการนำเสนอนวัตกรรม 4 เรื่อง ได้แก่ (1) เครื่องคัด-ตัดหัวท้าย-เจาะแกน-ปลอกเปลือก สับปะรดอัตโนมัติ (2) เครื่องคัดสีสับปะรดอัตโนมัติ (3) การนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ควบคุมกระบวนการผลิต เช่น หม้อฆ่าเชื้อ และ(4) การลดการสูญเสียทรัพยากร เช่น น้ำ และเนื้อสัปปะ
โครงการศึกษากลไกการส่งเสริมและสร้างผู้ประกอบการรองรับอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์
จากการศึกษาในเรื่องอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟของประเทศไทย โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (ศอ.) ในปีงบประมาณ 2548 ที่ผ่านมา พบว่าอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ส่วนใหญ่ในประเทศไทยเป็นโรงงานลงทุนโดยต่างชาติเกือบทั้งหมด และยังมีความขาดแคลนผู้ประกอบการต้นน้ำภายในประเทศไทยอยู่ ซึ่งทางรัฐบาลก็ยังไม่มีการวางแผนยุทธศาสตร์และแผนแม่บทในการพัฒนาผู้ประกอบการภายในประเทศไทยอย่างชัดเจน ประกอบกับประเทศคู่แข่งได้มีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่องอีกทั้งภาครัฐของประเทศคู่แข่งมีเงื่อนไขการส่งเสริมที่ก่อให้เกิดแรงจูงใจ เป็นผลให้ผู้ประกอบการในประเทศไทยต้องมีการปรับตัวให้มีศักยภาพการผลิตที่สูงขึ้น ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องมีการส่งเสริมและพัฒนาห่วงโช่อุตสาหกรรมภายในประเทศเพื่อลดความเสี่ยงต่อการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ
สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม จึงได้รับมอบหมายจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ให้ดำเนินการศึกษากลไกการส่งเสริมและสร้างผู้ประกอบการรองรับอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ โดยในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ มีเป้าหมายที่จะศึกษาการพัฒนาส่งเสริมและสร้างผู้ประกอบการรองรับอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ในประเทศไทย ในการศึกษาขั้นต้นนั้น จะคำนึงถึงกฎหมายและระเบียบปฏิบัติต่างๆ แผนงาน แนวนโยบายและกลไกที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ โดยคำนึงถึงความสอดคล้องและความเป็นไปได้ในด้านการปฏิบัติการ เพื่อใช้เป็นองค์ประกอบในการศึกษาด้วย ดังนั้น ในการดำเนินการศึกษาวิจัยของทางสถาบันฯ จึงได้ศึกษาถึงสถานภาพความต้องการของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ โดยครอบคลุมทั้งด้านอุปสงค์ และอุปทาน ตลอดจนศึกษาปัจจัยต่าง ๆ อันเป็นอุปสรรคต่อการจูงใจให้เกิดการลงทุนในส่วนอุตสาหกรรมสนับสนุนในกลุ่มอุตสาหกรรมย่อยซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่ม Precision tooling and Plastic 2.กลุ่ม Automation equipment 3.กลุ่ม Indirect Material และนำผลจากการศึกษามาช่วยในการกำหนดแนวทางปรับปรุงแก้ไขกลไกส่งเสริมผู้ประกอบการเดิมที่มีอยู่ พร้อมทั้งนำเสนอกลไกและกิจกรรมริเริ่ม เพื่อให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมการผลิตและอุตสาหกรรมสนับสนุนชิ้นส่วนฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และให้สอดคล้องกับการส่งเสริมการพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมภายในประเทศได้ต่อไป
โครงการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันธุรกิจแฟชั่น สาขาอุตสาหกรรมรองเท้าและวัตถุดิบสนับสนุน
สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม(FIBO) ร่วมกับศูนย์บริการออกแบบและวิจัย (REDEK) และบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม (GMI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานโครงการกรุงเทพฯเมืองแฟชั่น กระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการโครงการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันธุรกิจแฟชั่น สาขาอุตสาหกรรมรองเท้าและวัตถุดิบสนับสนุน รูปแบบการดำเนินงานของโครงการคือ การอบรมความรู้พื้นฐานและให้คำปรึกษาเพื่อรองรับและเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขันของสถานประกอบการที่สมัครเข้าร่วมโครงการ 120 แห่ง มีโปรแกรมการให้คำปรึกษารวม 3 โปรแกรม ดังนี้
โปรแกรม 1 : การสร้างตราสินค้าและพัฒนาตราสินค้าเดิมให้เป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
โปรแกรม 2 : การพัฒนารูปแบบ และออกแบบสินค้าให้มีรูปลักษณ์ที่ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับของตลาด
โปรแกรม 3 : การพัฒนาวัตถุดิบและอุปกรณ์ตกแต่ง ทั้งด้านคุณภาพและรูปแบบ เพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมรองเท้า และสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบเดิม
โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน (MDICP) รุ่นที่ 13
เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมให้มีความตระหนักและตื่นตัวในการพัฒนาสมรรถนะทางเทคโนโลยีเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาความรู้ของผู้บริหารธุรกิจอุตสาหกรรมในการวางแผนและการจัดการเทคโนโลยี พัฒนาบุคลากรของสถานประกอบการให้มีความคิดริเริ่มในการแก้ไขปัญหาเชิงเทคโนโลยี และเพื่อช่วยให้ธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมที่ร่วมโครงการฯ มีความสามารถในการวิเคราะห์ความต้องการทางเทคโนโลยี และกำหนดยุทธศาสตร์ทางเทคโนโลยี เพื่อยกระดับสมรรถนะทางเทคโนโลยีในด้านต่างๆ
สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) ได้ดำเนินงานให้คำปรึกษาการเพิ่มขีดความสามารถและการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีนำไปสู่นวัตกรรมให้กับสถานประกอบการตลอดระยะเวลา 9 ปี นับตั้งแต่ MDICP รุ่นที่ 5 ถึง รุ่นที่ 13 โดยมีผลงานเป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากสถานประกอบการเข้ารับคำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง