หุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ขนาดเล็ก - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • ไทย
    • อังกฤษ

หุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ขนาดเล็ก

หุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ขนาดเล็ก

SmallHumanoid

 

ชื่อผลงาน หุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ขนาดเล็ก
Humanoid (Kid Size)
ชื่อผู้วิจัย  ดร.ถวิดามณีวรรณ์
  ฝ่ายวิจัย สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม
แหล่งให้ทุน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด
บริษัทเอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์  จำกัด
บริษัทแอดวานซ์  อินโฟร์  เซอร์วิส  จำกัด
บริษัทยูโนแคล ไทยแลนด์ จำกัด
ปีที่เผยแพร่ผลงาน พ.ศ.2543 – ปัจจุบัน
คำสำคัญ หุ่นยนต์ฮิวมานอยด์

 

บทคัดย่อ

หุ่นยนต์เดินสองขาขนาดเท่ามนุษย์

P124

เริ่มจากปี 2543  “ส้มจุก” หุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ตัวแรกและตัวเดียวในประเทศไทยที่มีขนาดเท่าคนจริง (แต่มีเฉพาะส่วนล่างคือเฉพาะท่อนขา) น้ำหนักกว่า 50 กิโลกรัม ซึ่งทางสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามสร้างขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบในการศึกษาเรื่องการเดิน ซึ่งมีองศาอิสระ (degree of freedom) ทั้งหมด 12 ข้อ ส้มจุกถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนสามารถเดินได้และทรงตัวได้ด้วยตนเอง แต่การพัฒนาในระดับที่สูงขึ้นก็ต้องประสบปัญหาเนื่องจากน้ำหนักของอุปกรณ์ต่างๆ มีน้ำหนักมาก ทำให้การพัฒนาเป็นไปได้ช้า ทางทีมผู้วิจัยจึงตัดสินใจเปลี่ยนไปพัฒนาหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ขนาดเล็กแทนก่อนเพื่อความสะดวกในการศึกษา และวิจัย และจะได้นำความรู้ที่ได้มาปรับใช้กับส้มจุกต่อไป


ต้นแบบหุ่นยนต์เดินสองขาขนาดเล็ก

P123
ปี 2546 หุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ขนาดเล็กตัวแรก ในรุ่นที่ 1 ผู้วิจัยออกแบบให้หุ่นยนต์เดินสองขาสูง 50 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 2 กิโลกรัมกรัม มี 14 องศาอิสระ เพื่อที่จะให้น้าหนักเบาโครงสร้างของหุ่นยนต์จึงผลิตมาจาก NYLON และอลูมิเนียมอัลลอยด์ มอเตอร์ที่ใช้เป็นแบบ R/C servomotor เหมือนที่นิยมใช้กับเครื่องบินบังคับ ที่หุ่นยนต์จะติดเซนเซอร์อยู่สองชนิดคือเซนเซอร์ตรวจจับความดัน 16 ตัว ซึ่งมีไว้วัดแรงที่กระทำที่เท้าทั้งสองและ เซนเซอร์วัดความเอียงของลำตัวใน 3 แกน


ใจดี : หุ่นยนต์เดินสองขาขนาดเล็ก

P118
ปี 2548 ในขณะนั้น การแข่งขัน World Robocup ซึ่งเป็นการแข่งขันหุ่นยนต์ในระดับนานาชาติ ก็มีการแข่งขันฟุตบอลของหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ขนาด “ใจดี” หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ขนาดเล็กในรุ่นที่ 2  ก็ได้ถูกสร้างขึ้น สำหรับการแข่งขันในรายการ Robocup Soccer (Humanoid league) ในปี 2548 ใจดีได้สร้างปรากฏการณ์ในการเข้าแข่งขันครั้งแรก โดยเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้าย ก่อนที่จะพัฒนาได้ดีขึ้นอย่างมากและคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ได้สำเร็จในการแข่งขันที่เบรเมน ประเทศเยอรมนี ในปี 2549 ใจดีเป็นหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ขนาดเล็กที่มีน้ำหนัก 3.3 กิโลกรัม สูง 38 เซนติเมตร สามารถเดินได้เร็ว 2 เมตรต่อนาที วางแผนการวางเท้าในการหลบหลีกสิ่งกีดขวาง และเข้าหาลูกบอลเพื่อเตะได้ แถมเมื่อล้มลงใจดียังสามารถลุกขึ้นยืนเองได้อีกด้วย สามารถทำความเร็วในการเดินได้ 1 เมตร/นาที


“จี๊ด” และ ”“กาละแม” : หุ่นยนต์เดินสองขาขนาดเล็ก

P119
“จี๊ด” และ ”“กาละแม” เป็นหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ขนาดเล็กรุ่นที่ 3 ของทางสถาบันฯ ที่ถูกพัฒนาในปี 2550 หุ่นยนต์รุ่นที่ 3 นี้ มีจุดเด่นที่มีความคล่องตัวสูงในการเดิน มีความทนทานต่อแรงกระแทกเหมาะสำหรับใช้ในการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์  หุ่นยนต์ถูกสร้างให้มีความสามารถในการสร้างสมดุลในการเดินให้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หุ่นยนต์จึงมีความสมดุลในการเดินสูง และล้มยากกว่าหุ่นยนต์รุ่นเก่า   สามารถทำความเร็วในการเดินได้ 15 เมตร/นาที

พอดี  : หุ่นยนต์เดินสองขาขนาดเล็ก

P121
หุ่นยนต์ในรุ่นที่ 4 ได้ถูกปรับปรุงหุ่นยนต์ใหม่ให้มีสมรรถนะดียิ่งขึ้น ในระบบการมองเห็น : เปลี่ยนจากระบบการรับแสงของกล้องแบบ CMOS มาเป็นแบบ CCD เพื่อความคมชัดของสีรวมถึงความละเอียดที่เพิ่มขึ้นทำให้สามารถมองเห็นได้ไกลขึ้นจากระบบกล้องแบบเก่า ระบบการประมวล : เปลี่ยนจากระบบ Microcontroller  มาเป็น ระบบประมวลผลโดยใช้ PC-104 พร้อมระบบปฏิบัติการ Window XP embedded  เพื่อความยืดหยุ่นในการรองรับฮาร์ดแวร์ที่จะนำมาเชื่อมต่อกับหุ่นยนต์ นอกจากนี้ระบบปฏิบัติการยังช่วยให้การเขียนชุดคำสั่งเป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ระบบการเดิน : ออกแบบข้อเข่าแบบใหม่โดยใช้มอเตอร์ 2  ตัวต่อหนึ่งข้อเข่าเพื่อเพิ่มความเร็วในการเปิดเข่ามีผลทำให้หุ่นยนต์เดินได้เร็วขึ้น


KM : หุ่นยนต์เดินสองขาขนาดเล็ก

P120
KM Series เป็นหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์รุ่นที่ 5 ถูกสร้างขึ้นในปี 2551 ความเร็วในการเดินเฉลี่ย ~0.25 เมตรต่อวินาที จำนวนองศาอิสระ 22 โดยได้รับการปรับปรุงขึ้นจากในรุ่นที่ 4 ดังนี้ ระบบการมองเห็น : ยกระดับกล้องซึ่งมีจำนวนพิกเซลมากกว่ารวมไปถึงมีความเร็วในการจับภาพสูงกว่าเดิม ระบบการประมวลผล: เปลี่ยนจากระบบปฏิบัติการ Window XP embedded มาเป็นระบบปฏิบัติการ LINUX ช่วยให้การเขียนชุดคำสั่งเป็นไปได้อย่าง สะดวกรวดเร็วและเป็นระบบรวมไปถึงการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหุ่นยนต์ก็สามารถ ทำได้ง่ายกว่า ระบบปฏิบัติการแบบเดิม ระบบการเดินและระบบทางกล : จากประสบการณ์การแข่งขันเข่าจะเป็นจุดที่รับน้ำหนักมากที่สุดระหว่างการเดิน และมีผลทำให้มอเตอร์เข่าชำรุดง่าย ดังนั้นจึงเปลี่ยนขนาดมอเตอร์ให้สามารถทนต่อแรงบิดได้มากขึ้นเพื่อการเดินที่มีเสถียรภาพ นอกจากนี้ยังออกแบบขาของหุ่นยนต์แบบใหม่เพื่อช่วยให้การลุกจากท่าล้มทำได้สะดวกยิ่งขึ้นโดยใช้พลังงานน้อยลง

Phoenix : หุ่นยนต์เดินสองขาขนาดเล็ก

P122
Phoenix series เป็นหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์รุ่นที่ 6 โดยส่วนโครงสร้างของหุ่นยนต์ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้มีจำนวนองศาอิสระ 19 โดยทำการลดองศาอิสระของช่วงแขนที่ไม่จำเป็นสำหรับการเคลื่อนออก และเพิ่มข้อต่อเอวเพื่อเพิ่มความสามารถในการทรงตัวและลุกขึ้นยืน ประกอบกับการเปลี่ยนขนาดมอเตอร์ข้อเท้าที่ใช้ในการรับภาระขณะเดินให้รับแรงบิดได้มากขึ้น และได้ทำการย้ายตำแหน่งการวางของระบบประมวลผลหลักมาติดตั้งที่กลางลำตัวเพื่อลดภาระของมอเตอร์ตลอดจนลดความเสียหายจากการกระแทกที่อาจเกิดขึ้นจากการล้มของหุ่นยนต์ จึงทำให้หุ่นยนต์มีความเร็วในการเดินเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น ~0.3 เมตรต่อวินาที ในส่วนของกล้องที่ใช้ในการจับภาพนั้นได้เปลี่ยนจากรุ่นเดิมที่วางตำแหน่งเลนส์เยื้องจากศูนย์กลางของลำตัวเป็นรุ่นที่วางบนศูนย์กลางลำตัวเพื่อเพิ่มความเร็วในการประมวลผลภาพ ในส่วนของโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์นั้นได้ปรับเปลี่ยนค่าคงที่บางส่วนตามขนาดของหุ่นยนต์ที่เปลี่ยนไป ปรับปรุงวิธีการมองหาบอลและฝ่ายตรงข้ามขณะเล่น และเปลี่ยนวิธีการเข้าบอลให้รวดเร็วและแม่นยำขึ้น

 

การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ชิงแชมป์ประเทศไทย (Thailand Humanoid Robot Soccer Championship)
จัดโดยสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย โดยการสนับสนุนจากบริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด

การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ นับเป็นการแข่งขันหุ่นยนต์ที่ท้าทายมากรายการหนึ่ง เนื่องจากผู้เข้าร่วมการแข่งขัน จะต้องพัฒนาหุ่นยนต์เหมือนมนุษย์ที่มีความสามารถในการเดิน 2 ขา และยังต้องมีทักษะในเกมการแข่งขันฟุตบอลอีกด้วย หุ่นยนต์จะต้องมีความเป็นอัตโนมัติ ทำงานได้ด้วยตัวเองโดยไม่มีคนบังคับ สามารถแยกแยะฝ่ายเดียวกันและฝ่ายตรงข้ามได้ ทำงาน ร่วมกันเป็นทีมกับหุ่นยนต์ในฝ่ายเดียวกัน โดยใช้หน่วยประมวลผลที่ตัวหุ่นยนต์เท่านั้น ไม่มีการ ใช้หน่วยประมวลผลจากภายนอก หุ่นยนต์ฮิวมานอยด์จะถูกพัฒนาทั้งทางด้านฮารด์แวร์และ ซอฟท์แวร์ภายใต้ข้อจำกัดในเรื่องของขนาดและน้ำหนักของอุปกรณ์ต่างๆที่หุ่นยนต์จะต้องแบกรับ

ในการแข่งขันหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ขนาดเล็กนั้น หุ่นยนต์จะต้องมีรูปร่างคล้ายมนุษย์โดยมีความสูง อยู่ระหว่าง 30-60 เซนติเมตร การพัฒนาหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์นั้นมีความยุ่งยากซับซ้อนมากกว่า การพัฒนาหุ่นยนต์ชนิดอื่นๆ เนื่องจากหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์จะมีมอเตอร์ตามข้อต่อต่างๆ เพื่อใช้ใน การหมุนเคลื่อนที่ประมาณ 20-22 ตัว หุ่นยนต์ฮิวมานอยด์นั้นค่อนข้างที่จะให้ความสำคัญกับ ระบบการเดินมาก เพราะการที่หุ่นยนต์มีขาสองขา ทำให้มีความจำเป็นที่หุ่นยนต์จะต้องมีความ สามารถในการรักษาการทรงตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้หุ่นยนต์มีเสถียรภาพไม่ว่าจะในขณะเคลื่อนที่ หรือเมื่ออยู่กับที่ก็ตาม

ส่วนระบบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในหุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ก็คือระบบการมองเห็น หุ่นยนต์ฮิวมานอยด์ จะต้องมีสามารถในการรับรู้ถึงตำแหน่งของลูกบอลในสนาม ประตู ตำแหน่งของตัวเอง และผู้ เล่นฝ่ายตรงข้าม จากการมองเห็นของหุ่นยนต์ผ่านทางกล้องที่ติดตั้งบริเวณบนหัวของหุ่นยนต์

หุ่นยนต์ฮิวมานอยด์มีขั้นตอนการทำงานพื้นฐานดังนี้ หุ่นยนต์จะทำการหันกล้องเพื่อกวาดหาสิ่ง ต่างๆในสนามก่อน ข้อมูลภาพที่ได้จากกล้องจะถูกส่งไปทำการประมวลผลภาพเพื่อหาสิ่งที่หุ่นยนต์ สนใจ ซึ่งในที่นี้คือลูกบอลในสนามและประตูฝ่ายตรงข้าม หลังจากนั้นระบบการประมวลผลหลัก ของหุ่นยนต์จะทำการคำนวณระยะทาง และสั่งงานมอเตอร์ซึ่งใช้ในการขับเคลื่อนหุ่นยนต์ทำงาน เพื่อก้าวเดินเข้าไปหาลูกบอล และเตะเข้าประตูฝ่ายตรงข้าม หรือกระทำการอื่นๆ ขึ้นอยู่การวาง แผนการเล่นของตัวหุ่นยนต์เอง เช่นการเลี้ยงลูกบอลเพื่อหลบผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามก่อน หรือส่งให้ผู้ เล่นฝ่ายเดียวกัน ซึ่งระบบอัจฉริยะการคิดต่างๆของหุ่นยนต์จะเป็นไปตามโปรแกรมที่ผู้พัฒนาได้ ออกแบบไว้

 

IMG 0277 DSC 4463 IMG138

 รางวัลชนะเลิศ 3 ปีซ้อน (2553-2555)

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

(Download PDF A4 Link1) (Download PDF A4 Link2) (Download PDF A4 Link3) (Download PDF A4 Link4)

 

 

 

Categories: ไม่ทราบหมวดหมู่