บทบาทของหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในยุค “Digital Economy” ตอนที่ 1 - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • English
    • Thai

บทบาทของหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในยุค “Digital Economy” ตอนที่ 1

6

บทความโดย ดร.อรพดี จูฉิม

สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

 

ในปัจจุบันหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robotics and Automation) ได้เข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตมนุษย์มากขึ้น ไม่จำกัดเพียงหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนเท่านั้น ยังมีการพัฒนาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนให้ดีขึ้น เช่น การอำนวยความสะดวกภายในบ้านและสำนักงาน ในรูปแบบหุ่นยนต์ทำความสะอาด หุ่นยนต์ประชาสัมพันธ์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีหุ่นยนต์ที่ใช้งานในด้านการแพทย์ การสำรวจ การกู้ภัย การรักษาความปลอดภัย ทางการทหาร ตลอดจนหุ่นยนต์เพื่อความบันเทิงในรูปแบบของหุ่นยนต์เล่นดนตรีหรือเครื่องดนตรีอัตโนมัติ หุ่นยนต์เพื่อการศึกษา

 

หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติแทนที่แรงงานมนุษย์ได้จริงหรือ???

สืบเนื่องจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมในประเทศไทย สถานประกอบการต่าง ๆ ได้เข้ามาตั้งฐานการผลิตเป็นจำนวนมาก มีนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นหลายแห่ง แต่ในปัจจุบันค่าแรงบ้านเราสูงขึ้นและสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้จำเป็นต้องจ้างแรงงานต่างชาติ หากแต่ในแง่ผลกระทบก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าจำนวนแรงงานต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบทางสังคมปัญหาอาชญากรรมเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้เกิด ปัญหาด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ ความไม่มีระเบียบวินัย จำนวนขยะที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในงานอุตสาหกรรมต้องการแรงงานเป็นอย่างมาก การจ้างแรงงานจำนวนมากเพื่อใช้ในงานอุตสาหกรรม ทำให้ต้นทุนการผลิตของแต่ละโรงงานอุตสาหกรรม เพิ่มจำนวนสูงขึ้น และงานอุตสาหกรรมบางงานไม่สามารถที่จะใช้แรงงานเข้าไปทำ การนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ทดแทนมนุษย์ในภาคอุตสาหกรรมมีข้อดีในเรื่องของประสิทธิภาพของงาน และสามารถลดต้นทุนได้

 

หุ่นยนต์…สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ กลายมาเป็นชีวิตประจำวัน

แนวคิดและเทคโนโลยีเกี่ยวกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติได้พัฒนาไปจากอดีตอย่างมาก เนื่องจากผู้บริโภคไม่ได้ต้องการเพียงสินค้าที่ตอบสนองความต้องการทางกายภาพอีกต่อไป ยุคนี้เป็นยุคสังคมดิจิตอลที่ผู้บริโภคต้องการมากกว่าบ้าน รถ หรือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ผู้บริโภคยังต้องการสิ่งที่สามารถเติมเต็มอารมณ์ สร้างประสบการณ์ และตอบสนองวิถีการดำรงชีวิตได้ มีชีวิตประจำวันที่พึ่งพาอุปกรณ์ไฮเทคที่คอยอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันได้มีการพัฒนารูปแบบของหุ่นยนต์ให้มีความสามารถมากขึ้น มีการติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ไว้ในตัวหุ่นยนต์ เช่น ระบบรู้จำเสียงและระบบตอบสนองเสียง ระบบการรับรู้แสง การสื่อสารข้อมูลแบบไร้สาย จีพีเอส ด้วยประสิทธิภาพและความสามารถที่หลากหลายยิ่งกว่าที่เคยมีมา หุ่นยนต์กำลังทำงานต่าง ๆ ที่เคยคิดว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้

ในตอนต่อไปผู้เขียนจะกล่าวถึงตัวอย่างของหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในยุคเศรษฐกิจแบบดิจิตอล โดยจะเริ่มจากหุ่นยนต์ทางด้านการแพทย์

 

ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาธุรกิจเทคโนโลยี
สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
โทร. 0-2470-9715-6
http://fibo.kmut.ac.th/
Facebook: FIBOKMUTT และ TEPKMUTT

 

Categories: News