บทบาทของหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในยุค “Digital Economy” ตอนที่ 2 - Institute of Field roBOtics (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • English
    • Thai

บทบาทของหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในยุค “Digital Economy” ตอนที่ 2

7

บทความโดย ดร.อรพดี จูฉิม

หลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยี สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

จากบทความตอนที่แล้วได้กล่าวถึง เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติว่าได้เข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของมนุษย์มากขึ้นในยุคเศรษฐกิจแบบดิจิตอล ในบทความนี้จะขอยกตัวอย่างหุ่นยนต์ทางด้านการแพทย์ เนื่องจากลักษณะโครงสร้างทางสังคมซึ่งในปัจจุบันประชากรโลกได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับประเทศไทยนั้นกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) การเพิ่มขึ้นของประชากรช้าลงแต่ผู้สูงอายุกลับเพิ่มเร็วขึ้น ทำให้มีจำนวนประชากรที่ต้องการการดูแลมากขึ้น ซึ่งยุคดิจิตอลทำให้กระแสสังคมมุ่งเน้นที่คุณภาพชีวิต คนเราไม่ยอมเจ็บ ยอมแก่ เพราะฉะนั้นกิจการหรือธุรกิจ บริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ จะกลายเป็นธุรกิจที่ทำเงินได้ดีในอนาคต โดยหุ่นยนต์ทางด้านการแพทย์จะเข้ามีบทบาทสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการรักษา การฟื้นฟู หรือการผ่าตัด

หุ่นยนต์แทนที่หมอได้จริงหรือ???

ในปัจจุบันหุ่นยนต์เป็นเพียงเครื่องมือที่จะมาช่วยในการรักษาพยาบาลให้เป็นไปได้อย่างสะดวก รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น นั่นก็คือ ช่วยให้การรักษาพยาบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น การตัดสินใจวินิจฉัยรักษาโรคยังคงเป็นหน้าที่ของแพทย์ที่จะต้องทำด้วยตนเอง ซึ่งโรงพยาบาลหลาย ๆ แห่งในประเทศไทยได้มีการนำเอาหุ่นยนต์มาช่วยในงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น หุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัด รุ่น da Vinci ของโรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลกรุงเทพ หรือ Robotic Gait Training “ LOKOMAT” ของโรงพยาบาล พญาไท เป็นหุ่นยนต์ฝึกเดินชนิด Exoskeleton มีระบบของสายพยุงเพื่อรับน้ำหนักและขาหุ่นยนต์ประคองขาของผู้ป่วยที่มีภาวะอ่อนแรงหรือสูญเสียการทรงตัวอันเป็นอุปสรรคต่อการเดิน อย่างไรก็ตาม หุ่นยนต์เหล่านี้นำเข้ามาจากต่างประเทศ มีราคาแพง ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสูง ซึ่งสถาบันการศึกษาและวิจัยหลายแห่งในประเทศได้เริ่มเล็งเห็นความสำคัญในการศึกษาวิจัย และพัฒนาหุ่นยนต์ทางด้านการแพทย์มากขึ้น

ฟื้นฟูการเคลื่อนไหวด้วยนวัตกรรมหุ่นยนต์

โรคอัมพาต อัมพฤกษ์ มักเกิดในผู้สูงอายุ เป็นโรคที่สมองขาดออกซิเจน ทำให้การทำงานของสมองส่วนต่าง ๆ ผิดปกติ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดสมองตีบ การอุดตันในหลอดเลือด หลอดเลือดสมองแตก และการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งอาการต่าง ๆ เหล่านี้นำไปสู่การขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรง เคลื่อนไหวไม่ได้ พูดไม่ได้ บางรายอาจเป็นถาวรหรือเป็นแค่ชั่วคราวที่เรียกว่า อัมพฤกษ์ ซึ่งการรักษาและฟื้นฟูอาการอัมพาตและอัมพฤกษ์นั้นจะต้องใช้เวลาและความทุ่มเทแรงกายและแรงใจของทั้งผู้ป่วยและนักกายภาพบำบัดเป็นอย่างมาก

“Sensible TAB” โต๊ะหุ่นยนต์ฟื้นฟูการเคลื่อนไหวแขน และ “TailGait” ระบบวิเคราะห์การเดินแบบโมดูล่าร์ เป็นสุดยอดนวัตกรรมที่เกิดจากความร่วมมือของ ดร.ปราการเกียรติ ยังคง อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robotics and Automation) สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ ผศ.นพ.ภาริส วงศ์แพทย์ กรรมการบริหาร และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ เพื่อสานฝันที่อยากจะมีเครื่องมือแพทย์ราคาไม่แพงผลิตขึ้นใช้เองในประเทศ

“Sensible TAB” โต๊ะหุ่นยนต์ฟื้นฟูการเคลื่อนไหวแขน ได้รับรางวัลชนะเลิศด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สนช. ประจำปี 2555 โดย Sensible TAB เป็นหุ่นยนต์ที่ใช้ในการฟื้นฟูสมรรถภาพการเคลื่อนไหวแขนของผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตครึ่งซีก สามารถตอบสนองสัญญาณการเคลื่อนไหวตามหลักการ Sensory Retaining ควบคู่กับการฝึกฝนการรับความรู้สึกแบบ Perfetti Method โดยนักกายภาพบำบัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพการเคลื่อนไหวแขนผู้ป่วย สามารถจำลองสภาพแวดล้อมเสมือนในการฝึกผู้ป่วยได้หลากหลาย และสามารถใช้งานกับผู้ป่วยได้เกือบทุกระดับความรุนแรง มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ โดยได้แรงบันดาลใจจากปัญหาของป่วยที่เป็นอัมพาตครึ่งซีก ซึ่งแขนข้างที่ไม่ดีจะไม่มีความรู้สึก เมื่อความรู้สึกไม่มี การจะฝึกการเคลื่อนไหวย่อมไม่ดีไปด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องฝึกการรับรู้ความรู้สึกก่อน แต่ก็ไม่มีอุปกรณ์หรือเครื่องมือไหนเลยที่สามารถฝึกการรับรู้ความรู้สึกได้ ดังนั้นทางทีมพัฒนาจึงเลือกที่จะคิดค้นหุ่นยนต์ฟื้นฟูการเคลื่อนไหวแขน และจากนำไปใช้กับผู้ป่วย ผลก็คือ ผู้ป่วยชอบ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคอัมพฤกษ์เรื้อรัง ซึ่งเป็นประเภทที่ยากต่อการฟื้นฟูสมรรถภาพ Sensible TAB ถือเป็นตัวอย่างของความสำเร็จของการประสานองค์ความรู้ทางการแพทย์และวิทยาการหุ่นยนต์ของไทย

สำหรับตอนต่อไปผู้เขียนจะกล่าวถึง “TailGait” ระบบวิเคราะห์การเดินแบบโมดูล่าร์

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Sensible TAB: http://www.tpa.or.th/publisher/pdfFileDownloadS/tn227b_p12-14.pdf

 

อ่านบทความ บทบาทของหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในยุค “Digital Economy” ตอนที่ 1

 

ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาธุรกิจเทคโนโลยี
สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
โทร. 0-2470-9715-6
http://fibo.kmut.ac.th/
Facebook: FIBOKMUTT และ TEPKMUTT

Categories: News